เคาะขึ้นFTทุบสถิติค่าไฟ4.72บาท

ทุบสถิติ! ค่าไฟ 4.72 บาทต่อหน่วย กกพ. เคาะขึ้นค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค. 68.66 สตางค์ แจงใช้อัตราต่ำสุดจาก 3 แนวทางประชาพิจารณ์ กฟผ. ยอมแบกหนี้ไปก่อน 1.09 แสนล้าน

 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงผลการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.65) ว่า บอร์ด กกพ.มีมติขึ้นค่าเอฟทีใหม่ อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เป็นอัตราการปรับขึ้นต่ำสุด จาก 3 แนวทางที่ได้เปิดรับฟังความเห็นกับประชาชนไปก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายงวดใหม่อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4 บาท ถือเป็นอัตราค่าไฟที่สูงสุดตั้งแต่เรียกเก็บมา โดยครั้งนี้ไม่ต้องเปิดประชาพิจารณ์อีกรอบ จากปกติจะเปิดประชาพิจารณ์อีกครั้ง เนื่องจากได้เปิดประชาพิจารณ์ไปแล้ว 3 แนวทางสิ้นสุดวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา 

  สำหรับแนวทางนี้ จะยังไม่ชำระหนี้คืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าสิ้นเดือน ส.ค.65 จะขึ้นมาอยู่ที่ 109,672 ล้านบาท จากเดิมถึงสิ้น เม.ย.65 กฟผ.มีภาระหนี้ที่แบกรับค่าไฟแทนประชาชน 83,010 ล้านบาท ซึ่ง กฟผ.ได้ทำหนังสือมายัง กกพ. เพื่อเสนอความเห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพื่อลดผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้า โดย กฟผ.จะแบกรับแทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน 109,672 ล้านบาท โดยจะนำไปบริหารจัดการเรียกเก็บภายในปี 66 ต่อไป รายละเอียดทั้งหมดนี้จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ส.ค. นี้ 

 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสำนักงาน กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นประกอบด้วย 3 แนวทาง โดยแนวทางที่ 1 ค่าเอฟทีอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับจำนวนเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตรา 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีรวมเป็น 139.13 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 5.17 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ.ได้ส่วนหนึ่ง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนอีก 56,581 ล้านบาท โดยจะคืนเงิน กฟผ.ครบ 83,010 ล้านบาทภายใน 1 ปี 

  แนวทางที่ 2 ค่าเอฟทีอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตราน้อยลงที่ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีรวมเป็น 116.28 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.95  บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ.ได้ช้าลง โดย กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี และสุดท้ายแนวทางที่ 3 เป็นแนวทางที่ผู้ใช้ไฟได้รับผลกระทบน้อยที่สุดคือ ค่าเอฟทีอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย โดยยังไม่คืนหนี้ กฟผ. 83,010 ล้านบาท ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย 

"ทั้งนี้ อัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวเป็นการคิดตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง และยังไม่มีแนวทางช่วยเหลือประชาชนด้านค่าไฟฟ้าจากรัฐบาลในรอบนี้ เพราะหากภาครัฐต้องการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชนจริง ก็จำเป็นต้องเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินเอง เพราะ กกพ.ไม่มีงบประมาณสำหรับช่วยเหลือได้" แหล่งข่าว ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง