มั่นใจเปิดประเทศเอาอยู่ สธ.รับฉีดวัคซีนดับ3ราย

“บิ๊กตู่” มั่นใจระบบสาธารณสุขเอาอยู่ หลังเปิดประเทศ 3 วัน พบมีผู้ติดเชื้อโควิด 6 คนเดินทางมา “ศบค.” เผยยอดป่วยใหม่เพิ่ม 7,982 ราย เสียชีวิต 68 ราย “สธ.” แจ้งไทยฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 77,831,474 โดส มีเสียชีวิตจากฉีดวัคซีนเกิดลิ่มเลือดอุดตัน-อาการแพ้ร่วมภาวะช็อก 3 ราย “ผู้ประกอบการร้านอาหาร” ฟ้องนายกฯ กับพวก ละเมิดออกคำสั่งปิดสถานที่สร้างความเสียหาย ศาลนัดชี้สองสถาน 3 ก.พ.65

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาพรวมการเปิดประเทศว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ติดตามผลการเปิดประเทศมาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะด้านสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งในเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มาจากการเดินทางเข้าประเทศ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 1-3 พ.ย. มีจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมด 7,124 คน จาก 3 ระบบคือ ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ, ผู้ที่เดินทางเข้าในระบบแซนด์บ็อกซ์ และคนที่เข้าระบบกักกันตัว ทั้งหมดนี้มีผู้ติดเชื้อรวม 6 คนเท่านั้น และได้รับการดูแล ซึ่งในเรื่องสาธารณสุขยืนยันไม่มีประเด็นไหนที่ต้องกังวล

“สำหรับปัญหาบางจุดในสนามบินที่เป็นช่วงเวลาที่มีผู้เดินทางเข้ามาเยอะ และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขมีจำนวนน้อยอยู่ ทาง สธ.ได้เร่งดำเนินการหาเจ้าหน้าที่มาเพิ่มเติมได้ครบถ้วน ซึ่งคาดว่าปัญหาเหล่านี้จะคลี่คลาย ส่วนอีกปัญหาพบสายการบินตรวจเอกสารตั้งแต่ต้นทางไม่ครบถ้วน เมื่อมาถึงไทยเลยเกิดปัญหา เรื่องดังกล่าวได้ประสานงานในการจัดระเบียบให้เข้มข้น โดยต้นทางที่จะรับผู้โดยสารขึ้นเครื่องต้องทำอย่างไรบ้าง” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเสนอ ครม.จัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ว่า เรื่องนี้ได้เสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปแล้ว ซึ่ง สศช.ขอดูเอกสารเพิ่มเติม จึงยังไม่รู้จะเข้า ครม.ทันหรือไม่ แต่ไม่เป็นไรเพราะยังมียาเหลืออยู่

ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,982 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,828 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,762 ราย, ค้นหาเชิงรุก 66 ราย, เรือนจำ 144 ราย, เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 8,029 ราย อยู่ระหว่างรักษา 97,470 ราย อาการหนัก 2,181 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 466 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 68 ราย เป็นชาย 38 ราย หญิง 30 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 52 ราย มีโรคเรื้อรัง 14 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 10 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,943,424 ราย หายป่วยสะสม 1,826,492 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 19,462 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 827 ราย, สงขลา 497 ราย, เชียงใหม่ 492 ราย, นครศรีธรรมราช 455 ราย, ปัตตานี 451 ราย, ยะลา 336 ราย, ชลบุรี 280 ราย, ขอนแก่น 248 ราย, ระยอง 248 ราย, สมุทรปราการ 215 ราย ทั้งนี้ ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 พ.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 817,382 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 77,831,474 โดส

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงข่าวประเด็น “สถานการณ์โรคโควิด-19 และอาการที่พบได้หลังฉีดวัคซีน” ว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 77,831,474 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 43,112,788 ราย คิดเป็น 59.8%, เข็มสอง 32,223,467 ราย คิดเป็น 44.7% และเข็มที่สาม 2,495,219 ราย คิดเป็น 3.5% ทั้งนี้ 10 จังหวัดที่ยังมีการฉีดวัคซีนสะสมน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ ซึ่งพิจารณาจากอัตราการรับวัคซีนเข็มที่ 1 ได้แก่ จ.นครพนม บึงกาฬ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ สกลนคร แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด อ่างทอง สุรินทร์ และชัยภูมิ

นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า จากข้อมูลวันที่ 24 ต.ค. ได้ฉีดสลับเข็มซิโนแวคเข็ม 1 และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ฉีดไปหลายล้านโดส แต่มีอาการที่ต้องรับเป็นผู้ป่วยใน 955 ราย แยกเป็นไข้ 31.62%, ปวดศีรษะ 23.04%, คลื่นไส้ 19.90%, อาเจียน 19.48% และเวียนศีรษะ 17.80 % มีรายงานผู้เสียชีวิต 205 ราย โดยคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 30 ราย, เหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 14 ราย, ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 7 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 154 ราย

ส่วนกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม รักษาเป็นผู้ป่วยใน 163 ราย เป็นไข้ 35.58%, ปวดศีรษะ 31.29%, คลื่นไส้ 23.31%, ปวดกล้ามเนื้อ 22.09%, อาเจียน 22.09% มีรายงานผู้เสียชีวิต 10 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 2 ราย อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 8 ราย

ในส่วนกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยไฟเซอร์ หลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม รักษาเป็นผู้ป่วยใน 48 ราย โดยเวียนศีรษะ 27.08 %, ไข้ 22.92%, ปวดศีรษะ 20.83%, คลื่นไส้ 20.83%, เจ็บแน่นหน้าอก 18.75% มีรายงานผู้เสียชีวิต 6 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วดังนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 1 ราย, ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 1 ราย, ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 1 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 3 ราย

“ภาพรวมผู้เสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่รับรายงาน 1,296 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญได้รับพิจารณาแล้ว 842 ราย ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 541 ราย เช่น เลือดออกในสมอง 37 ราย, ติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง 2 ราย, ปอดอักเสบรุนแรง 257 ราย ในจำนวนนี้เป็นโควิด 243 ราย, ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 4 ราย, โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 109 ราย, มะเร็งปอด 6 ราย, มะเร็งเต้านม 2 ราย, มะเร็งท่อน้ำดี 1 ราย, มะเร็งบริเวณคอหอยหลังช่องปาก 1 ราย ภาวะอื่นๆ เช่น เลือดออกในช่องท้อง 8 ราย รับประทานเห็ดพิษและตับวาย 2 ราย โรคอื่นๆ 55 ราย ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด 29 ราย คาดว่าน่าจะไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนให้รอผลชันสูตร และข้อมูลเพิ่มเติม 28 ราย” นพ.เฉวตสรรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผอ.กองควบคุมโรค กล่าวว่า เหตุการณ์ที่สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 3 ราย มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย และอาการแพ้รุนแรงร่วมกับภาวะช็อก 1 ราย เหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 66 ราย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 47 ราย, เลือดออกในสมอง 5 ราย, ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย, ระบบหายใจล้มเหลว 1 ราย, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 1 ราย, ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิต 1 ราย, รอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากผลชันสูตรศพ 9 ราย, ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 41 ราย และรอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากผลชันสูตร และข้อมูลเพิ่มเติม 191 ราย

วันเดียวกัน พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวถึงข้อกำหนดห้ามจำหน่ายสุราเกินเวลา 21.00 น. หลังมีการร้องเรียนมีร้านอาหารหลายร้านไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่า มีคนส่งข้อมูลมาให้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดหนึ่งเข้าไปตรวจสอบ ไม่ว่าจะใช้เชิงนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ตำรวจต้องดำเนินให้ถูกต้อง ก่อนหน้านี้ได้เรียกเจ้าของร้านอาหารมาประชุมชี้แจงแล้ว ถ้ายังผิดข้อกำหนดต่อไปต้องเข้าดำเนินการกวาดขัน อย่างไรก็ดี ตำรวจจะใช้วิธีจับกุมเป็นวิธีสุดท้าย

ที่ศาลแพ่ง กลุ่มผู้ประกอบกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม 3 ราย ได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1, กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2,กระทรวงสาธารณสุข จำเลยที่ 3, กระทรวงการคลัง จำเลยที่ 4 ความผิดละเมิด เรียกค่าเสียตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โดยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสาม ทุนทรัพย์รวม 6,116,685 บาท และขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ที่ส่งผลให้ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มต้องปิดการประกอบกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งศาลประทับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ พ.5195/2564 นัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์วันที่ 3 ก.พ.2565 เวลา 13.30 น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"

ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด

ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ

บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง

"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"