‘จุรินทร์’มาที่โหล่ ‘พรรคลูกเติ้ง’กัด! ปชป.จ่อยกเครื่อง

แกนนำประชาธิปัตย์กล่อมลูกพรรคอย่าแหกโผ "เทอดพงษ์" แนะ กก.บห.แก้ปัญหาภายในให้จบก่อนศึกเลือกตั้งใหญ่ สุดท้ายเจ้าเก่าแหกมติ แถมเจอพรรคร่วมรัฐบาลเล่นงานจน "จุรินทร์" จมบ๊วย "ราเมศ" ยืนยันพรรคไม่พอใจ "วราวุธ" แจงถือเป็นเอกสิทธิ์ในการลงคะแนนของ ส.ส.

เมื่อวันเสาร์ เวลา 08.30 น. ที่รัฐสภา ก่อนที่จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลทั้ง 11 คน ได้มีการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. ทำหน้าที่ประธานการประชุม มี ส.ส.รวมถึงรัฐมนตรีและแกนนำร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค ได้ย้ำกับ ส.ส.พรรคว่า ขอให้ยึดมติเดิมของพรรคในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าพรรคมีมติให้ ส.ส.ของพรรคต้องโหวตไปในทิศทางเดียวกับมติวิปรัฐบาล จึงขอความร่วมมือจาก ส.ส.ทุกคนให้ยึดมตินี้ เพราะเอกภาพทำลายง่าย แต่มันสร้างยาก ก็ขอให้ทุกคนโหวตให้กับรัฐมนตรีทั้ง 11 คน

ขณะที่นายจุรินทร์กล่าวสำทับว่า เราต้องยึดคำมั่น เพราะเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และทำงานด้วยกัน ก็ต้องยึดมติดังกล่าว เพราะเป็นองคาพยพเดียวกัน

จากนั้นนายองอาจได้เปิดโอกาสให้ส.ส.ได้พูด โดยนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยกมือแสดงความเห็น โดยกล่าวขอบคุณรัฐมนตรีของพรรคทุกคนที่ชี้แจงข้อกล่าวหาได้ชัดเจน แต่การลงมติในที่ประชุมสภา ถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. แม้ตนจะเคารพมติพรรค แต่ก็ขอใช้เอกสิทธิ์นี้ตามรัฐธรรมนูญ และต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีของพรรคบางคนที่ให้ผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือโทรศัพท์มาขอให้ตนลงมติให้ สิ่งที่ตนทำได้คือรับฟังการอภิปราย และยืนยันจะขอใช้เอกสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตนเอง ทั้งนี้พร้อมจะรับผิดชอบในทุกเรื่อง ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด และจะไม่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเสียหาย

ขณะที่นายไชยยศ จิรเมธากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค กล่าวเสริมว่า ตนก็ขอให้เอกสิทธิ์การเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เพราะรัฐมนตรีบางคนก็บริหารจัดการไม่ได้ดีเท่าที่ควร

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า การอภิปรายครั้งนี้ถูกจับจ้องมองเป็นประเด็นรองจากนายกฯ ถ้าผลโหวตออกมาแล้วยังมีปัญหา ก็จะกระทบถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าโดยตรงจากพรรค จึงขอให้ทุกคนยึดมั่นตามมติพรรค

ด้านนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า จากข่าวที่ปรากฏในสื่อ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารจัดการภายในพรรค ดังนั้นกรรมการบริหารพรรคควรจะไปทบทวนหาสาเหตุปัญหาการบริหารจัดการภายในพรรคอย่างจริงจัง และต้องแก้ไขโดยเร็วเพื่อจบปัญหานี้ ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้น เพราะช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจสื่อควรจะให้น้ำหนักกับในสภา แต่ทำไมถึงมีข่าวปัญหาพรรคเราไม่แพ้กัน   ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้ ส.ส.ทุกคนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คิดถึงพรรคเป็นหลัก

ต่อมานายเฉลิมชัยให้สัมภาษณ์ภายหลังลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงกรณี นายจุรินทร์ได้คะแนนเสียงโหวตไว้วางใจน้อยที่สุด ที่ถูกมองว่าอาจนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรีว่า ยังไม่ได้พูดคุยกับนายจุรินทร์หลังการลงมติ แต่คิดว่าอยากให้ดูที่คะแนนไม่ไว้วางใจเป็นหลัก เห็นว่ารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทั้งหมดได้รับคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเป็นจำนวนที่ไม่ต่างกัน และเท่าที่ตรวจสอบคร่าวๆ เห็นว่าเสียงของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็ไปในทิศทางเดียวกัน อาจจะมีเพียงไม่กี่คนที่ต่างไป

เมื่อถามว่า กรณีที่คะแนนนายจุรินทร์ ออกมาน้อย จะถือเป็นเกมเขย่าที่นำไปสู่การเปลี่ยนหัวหน้าพรรคหรือไม่   เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะถ้าเป็นเกมเขย่าพรรคก็คงต้องแตก แต่ตอนนี้ยังเหมือนเดิม และขอให้ไปดูคะแนนของ ส.ส.พรรค จะเห็นได้ว่า ส.ส.ประชาธิปัตย์ไม่ได้ออกเสียงไปในทางที่แตกกันเลย

ซักว่า นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ลงมติไม่ไว้วางใจนายจุรินทร์ นายเฉลิมชัยตอบว่า กรณีนี้เป็นข้อยกเว้น เว้นไว้คนหนึ่ง ต้องมีกันบ้างในกลุ่มคนจำนวนมาก

ถามต่อว่า การที่ ส.ส.พรรคอื่นที่ร่วมรัฐบาลลงมติไม่ไว้วางใจหัวหน้าประชาธิปัตย์ เพราะต้องการเขย่าโควตารัฐมนตรีใช่หรือไม่ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า ไม่ใช่ ขอย้ำว่าให้ไปดูที่หลายปัจจัย ยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลเสียงไม่แตก และยังเหนียวแน่น แต่ต้องไปดูรายละเอียดของแต่ละพรรคอีกครั้ง

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในส่วนของผลคะแนนนายจุรินทร์ที่ออกมา มีข้อสังเกตอันสำคัญคือ มี 3 เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคชาติไทยพัฒนาที่งดออกเสียง จึงเป็นเหตุให้คะแนนออกมาเช่นนั้น ก็ต้องยอมรับว่าพรรคติดใจและไม่พอใจในส่วนนี้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดในวันข้างหน้า ส่วนของพรรคเล็กก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ทราบเหตุผล แต่เชื่อว่าทุกคนทราบดีถึงที่มาที่ไปของคะแนน

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่มี 3 ส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนา ได้แก่ นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด, นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ส.ส.จังหวัดนครปฐม, นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลงมติงดออกเสียงให้นายจุรินทร์ จนทำให้ได้คะแนนเสียงน้อยที่สุดว่า ตนเพิ่งทราบผลคะแนนภายหลังการโหวต สอบถามทราบเหตุผลว่าเป็นเรื่องของการทำงานที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ถือเป็นเอกสิทธิ์ในการลงคะแนนของ ส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนาเปิดโอกาสให้ทุกคนต่อการแสดงความคิดเห็นด้านประชาธิปไตย ส่วนจะมี การดำเนินการอย่างไรต่อไป คงต้องหารือในพรรคก่อน

ทั้งนี้ นายอนุรักษ์เผยเหตุผลว่า ไม่มีปัญหาอะไรกัน เป็นความเห็นส่วนตัวเฉย ๆ เป็นเรื่องงานนิดหน่อย ไม่ใช่ปัญหาในพื้นที่

ส่วนนายจุลพันธ์ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเพราะคำชี้แจงของนายจุรินทร์ กรณีการจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) นั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากตนเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการ อคส. ทราบถึงข้อมูลเชิงลึกของเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมานายจุรินทร์ไม่พยายามแก้ไขปัญหา ส่วนที่แก้ตัวว่าเป็นแค่บุรุษไปรษณีย์ และไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งบอร์ด อคส.นั้นไม่จริง ทั้งนี้ เดิมตนจะลงมติไม่ไว้วางใจ แต่เพื่อรักษามารยาท จึงเลือกงดออกเสียง

“เรื่องนี้ผมได้แจ้งให้ทางพรรคทราบแล้วถึงเหตุผลและการลงมติ อย่างไรก็ดีในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคุณจุรินทร์รอบที่แล้ว ผมตั้งใจจะลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ทางพรรคได้ขอไว้ แต่พอถึงรอบนี้เมื่อการชี้แจงของคุณจุรินทร์รับฟังไม่ได้ และไม่ตรงกับข้อมูลวงในที่ผมรับทราบ จึงต้องแสดงออกด้วยการงดลงมติ ส่วนเรื่องนี้เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล” นายจุลพันธ์กล่าว

เมื่อถามถึงการงดออกเสียงของ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาอีก 2 คน นายจุลพันธ์กล่าวว่า ส่วนของนายอนุรักษ์ทราบว่าเป็นเรื่องการนำเข้ารถดับเพลิงที่ประเทศญี่ปุ่นบริจาค แต่นายจุรินทร์ไม่อนุมัติ ขณะที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม พรรคชาติไทยพัฒนานั้นตนไม่ทราบ

นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะนายทะเบียนพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) กล่าวกรณี ส.ส.ของพรรค 4 คนลงมติไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ สวนทางกับแนวทางพรรคว่า เรื่องดังกล่าวมีสมาชิกสอบถามเข้ามาที่พรรคแล้ว โดยขั้นตอนจากนี้จะประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และจะเรียก ส.ส.ทั้งหมดมาชี้แจง ก่อนพิจารณาบทลงโทษต่อไป ซึ่งจะมีตั้งแต่การภาคทัณฑ์ ไปจนถึงโทษสูงสุดคือขับออกจากพรรค แต่ทั้งหมดต้องพูดคุยและพิจารณาข้อมูลก่อน โดยเบื้องต้นพอมีข้อมูลในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ขอให้ความเห็นในขณะนี้ เนื่องจากจะรับฟังคำชี้แจงจากสมาชิกก่อน.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท