สธ.เคลียร์กทม.ร่วมสู้โควิด 4จังหวัดผู้ป่วยเริ่มล้นเตียง

สธ.เคลียร์ทาง-กทม.สู้วิกฤตโควิดอีกรอบ  “อนุทิน” ยืดอกพร้อมสางปัญหาระบบบริหาร อ้าแขนทำงานร่วมกัน ขีดเส้นไม่เล่นการเมืองเพราะคนเดือดร้อนคือ ปชช. ขณะที่ "ชัชชาติ" ยันไม่พบคลัสเตอร์จากดนตรีในสวน-กรุงเทพฯ กลางแปลง ด้าน สธ.เปิดตัวเลขวัคซีนช่วยชีวิตคนไทยแตะ 5 แสนราย เผยกลุ่ม 608 ยังอันตรายต่อเนื่อง ผู้ป่วยไตวายเสียชีวิตมากที่สุด เตือน 4 จังหวัดเริ่มตึงตัวผู้ป่วยเริ่มล้นเตียง

เมื่อวันจันทร์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ  ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,814 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,813 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,813 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 1  ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,361 ราย อยู่ระหว่างรักษา  22,735 ราย อาการหนัก 794 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ  369 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 17 ราย

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ  โดยเน้นลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิดวงกว้าง กำชับการจัดงาน กิจกรรม เน้นให้หน่วยงานต่างๆ ใช้การประสานความร่วมมือ เพื่อดูแลและรองรับสถานการณ์และให้ความสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้เศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนดำเนินต่อไปได้  

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) ถึงการเชิญกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับโควิด-19 ว่า ไม่ทราบเพราะเรื่องการปฏิบัติและบริหารจัดการสถานการณ์ต่างๆ เป็นเรื่องของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ  ส่วนหน้าที่ตนถ้ามีการนำเสนอเรื่องเพื่อขอให้เสนอเข้า ครม.หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณเพื่อขอมติ ครม. ตนก็เป็นฝ่ายสนับสนุน

นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้เรามีผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีการลงพื้นที่ไปสัมผัสเอง ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบบริหาร เช่น อาจจะมีการบอกว่าขอให้ทั้ง กทม.และกระทรวงสาธารณสุขมาร่วมมือกันเต็มที่ จะไม่มีการเชิญออก หรือขอให้กระทรวงสาธารณสุขอย่ามายุ่งเหมือนเมื่อก่อน เราก็พร้อมจะร่วมมือ เพราะผู้ว่าฯ มาจากประชาชน เราก็ต้องเคารพเสียงประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ใน  กทม.มีอะไรที่น่าเป็นกังวลหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า  กทม.มี 50 เขต แต่ไม่มีโรงพยาบาลอำเภอ มีเพียงโรงพยาบาลหลัก ที่ระบบสาธารณสุขเป็นเอกเทศ ขึ้นอยู่กับการบริหารของ กทม. และก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข เคยเข้าไปช่วยเหลือ บางครั้งถูกขอให้ออกมาก็มี แต่เราไม่ได้กังวล โกรธหรือไม่พอใจ เพราะเห็นเรื่องสุขภาพประชาชนสำคัญ แต่เมื่อถูกเชิญให้ออกมาก็ต้องออก เพราะไม่มีอำนาจไปดูเรื่องนโยบายหรือการปฏิบัติการ  โดยออกมาเป็นฝ่ายสนับสนุนแทน

 “แต่จะโยนให้ กทม.รับผิดชอบทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่นยังมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ต้องเบิกค่ารักษา เรื่องยาและวัคซีน ยังต้องผ่านการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดหายาและเวชภัณฑ์  ถ้าเราเล่นการเมืองโดยไม่ส่งยา ไม่สนใจกันก็ไม่ได้ ประชาชนจะเดือดร้อน" นายอนุทินระบุ

นายอนุทินระบุด้วยว่า เรื่องบริหารจัดการเราไปยุ่งไม่ได้ ซึ่งต่างกับต่างจังหวัดที่เรามีระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง เพราะมีโรงพยาบาลทุกอำเภอ ทุกจังหวัด และทุกตำบล  คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แต่ใน กทม.มีแค่โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลบางขุนเทียน  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ แต่ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัดที่อยู่ใน กทม. เช่น โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ที่คอยช่วยดูแลกันอยู่

วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือให้ "ลด ละ เลิก กิจกรรมกลางแจ้ง" ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร  รวมทั้งการตรวจ ATK ยังคงที่ แต่อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  ยืนยันว่าสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่ติดกันภายในครอบครัวและที่ทำงาน และยังไม่เห็นคลัสเตอร์จากกิจกรรมที่ กทม.จัด ทั้งกิจกรรมดนตรีในสวนและกรุงเทพฯ กลางแปลง

"จากนี้ กทม.จะเร่งการฉีดบูสเตอร์โดสให้ประชาชน  ทั้งนี้ต้องดูในจุดที่เป็นปัญหา ซึ่งดูแล้วเตียงรักษาเขียว  เหลือง แดง ยังไม่มีปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อมารับยาและกลับไปรักษาที่บ้าน ส่วนที่กังวลคือกลุ่มผู้ป่วย  608 กิจกรรมที่เสี่ยงมีหลายอัน ไม่ใช่แค่กิจกรรมกลางแจ้ง จึงต้องดูทั้งหมด เช่น ออฟฟิศ, ห้างสรรพสินค้า, ร้านอาหาร ต้องไปด้วยความระวัง แต่อย่าตระหนกเกิน หากกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมก็สามารถหารือร่วมกันได้ ไม่มีปัญหา ต้องดูตามข้อเท็จจริง" นายชัชชาติกล่าว

ต่อมานายชัชชาติเปิดเผยว่า ได้รับหนังสือเชิญจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ขอบคุณที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมหารือ แต่วันนี้ (18 ก.ค.) ได้มอบหมายให้ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานครเข้าร่วมประชุมแทน อยากเข้าร่วมการประชุมมาก แต่มีภารกิจในช่วงบ่าย  หากมีจังหวะอาจจะใช้ระบบ Zoom เข้าร่วมการประชุม และขอย้ำว่าสิ่งสำคัญคือการประสานความร่วมมือกัน

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ดูเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่  โดยช่วงหยุดยาวที่ผ่านมามีการเดินทางไปต่างจังหวัดกันมาก จึงต้องติดตามว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร

นพ.โอภาสกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา  เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ รวมกันถึง 98% โรคเรื้อรังที่พบมากที่สุด คือผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตจากโควิดต่อแสนประชากรสูงสุดช่วงระลอกเดลตา  และลดน้อยลงในช่วงโอมิครอน บ่งบอกว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา

นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะที่การฉีดวัคซีนในคนไทยมากกว่า 140 ล้านโดส ทำให้มีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง จึงลดอัตราเสียชีวิตได้ ส่วนอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ยังรองรับได้ มี 4 จังหวัดที่เริ่มตึงตัว คือ กทม., นนทบุรี,  สมุทรปราการ และปทุมธานี เนื่องจากคนไข้เพิ่มขึ้น และมีการคืนเตียงไปใช้ดูแลผู้ป่วยทั่วไป แต่สามารถขยายเตียงได้หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งเตรียมความพร้อมในจังหวัดต่างๆ ให้รองรับแล้ว และได้เชิญ กทม.มาหารือการจัดระบบการรักษาพยาบาลและการส่งต่อ เนื่องจากมีโรงพยาบาลหลายสังกัดในพื้นที่

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันไม่ดี กระทรวงสาธารณสุขจัดหาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดี LAAB มาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยจะเข้ามาล็อตแรกสัปดาห์หน้าประมาณ 7 พันชุด

 ด้าน รศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ผู้เชี่ยวชาญด้าน  Mathematic Modeling สำหรับโรคติดต่อ  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า มีงานวิจัยตีพิมพ์ของสถาบัน The MRC Centre for  Global Infectious Disease Analysis ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก ทำแบบจำลองประเมินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกใน 185  ประเทศรวมถึงประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.63 - 8 ธ.ค.64 หรือช่วงเวลา 1 ปี พบว่าวัคซีนโควิดช่วยรักษาชีวิตคนทั่วโลกได้ประมาณ 20 ล้านคน สำหรับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 - 3 ก.ค.65 วัคซีนช่วยรักษาชีวิตคนไทยไม่ให้เสียชีวิตประมาณ 490,000 คน  และลดจำนวนผู้ป่วยรุนแรง ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลได้จำนวนมาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แพทองโพย’ขาลง!

"นิด้าโพล-ดุสิตโพล" สะท้อนตรงกัน   "นายกฯ อิ๊งค์" ขาลง! คะแนนนิยมลด สวนทางผลงานรัฐบาลเพิ่ม

กกต.หายห่วง! ชูเลือกตั้งอบจ. รู้สึก ‘ปลอดภัย’

"แสวง" ปลุกเจ้าหน้าที่ กกต.! ยันไม่ได้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยหลังจากที่ได้ลงตรวจเยี่ยมการสมัครรับเลือกตั้งที่ปราจีนบุรี ไม่คิดว่าผู้สมัครนายก อบจ.คนไหนจะสร้างความรุนแรง

ประเดิม 10 วันอตร. ตาย 52

ประเดิม 10 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุ 322 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 318 คน ผู้เสียชีวิตแล้ว 52 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ขับรถเร็ว