เอกชนร่วมเจ้าภาพเอเปก ดัชนีเชื่อมั่น3เดือนซบเซา

นายกฯ ยินดีที่ภาคเอกชนไทยเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC CEO Summit 2022 ปลายปีนี้ ตอกย้ำบทบาทภาคเอกชนในฐานะกลไกสำคัญขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของภูมิภาค "FETCO" คาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าซบเซา เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน มองการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวช่วยพยุง ห่วงนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ที่อาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณที่ภาคเอกชนไทยมีความตื่นตัว และประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC CEO Summit 2022 ปลายปีนี้ นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการแสดงบทบาทในฐานะกลไกขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของภูมิภาค และแสดงศักยภาพของภาคธุรกิจไทยสู่เวทีโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปกประเทศไทยได้ประกาศความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ APEC CEO Summit 2022 ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ณ ทรูไอคอนสยาม ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ภายใต้แนวคิด “Embrace Engage Enable” ซึ่งมุ่งหวังการฟื้นฟูความร่วมมือของเศรษฐกิจ สังคม ประชาชนในภูมิภาค รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางด้านการค้าการลงทุน ตลอดจนการแบ่งปันนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างการเติบโตร่วมกัน โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำทางธุรกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแบบพบปะกันครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ที่ผ่านมาต้องจัดประชุม แบบผ่านออนไลน์

จากข้อมูลของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปกประเทศไทยพบว่า ภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการเติบโตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งภาคการส่งออก ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ต่างมีความเข้มแข็ง รวมทั้งจุดแข็งสำคัญคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทางการเงิน (Tourism and financial services industries) ตลอดจนจุดเด่นทางด้านอาหาร ซึ่งทำให้สามารถผลักดันไปสู่การเป็นผู้นำด้านความมั่นคงของอาหารในเวทีโลก ทั้งนี้ การประชุมจะมีบุคคลสำคัญจากภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกหลายคนจะร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ยังช่วยสร้างความมั่นใจของภาคเอกชน ในฐานะกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของภูมิภาคและของโลกอีกด้วย

 “นายกรัฐมนตรียินดี และชื่นชมภาคเอกชนไทยที่มีความพร้อมความตื่นตัวในการเป็นเจ้าภาพ APEC CEO Summit 2022 ซึ่งจะเป็นการพบปะของ CEO และผู้บริหารระดับสูงในแต่ละภาคธุรกิจที่จะเดินทางมาไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับความท้าทายระดับภูมิภาค โดยนอกจากจะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความประทับใจให้แก่ผู้บริหารระดับสูง ผู้นำธุรกิจ ผู้นำทางความคิด และผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกที่มาร่วมกล่าวปาฐกถาในวันงานแล้ว การประชุมยังจะเป็นเวทีสำหรับการค้า และการลงทุนไทยที่สำคัญในการสร้างผลประโยชน์ให้ภาคธุรกิจของประเทศไทยไปสู่ระดับภูมิภาค จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนไทยและคนไทยทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการจัดการประชุมจะสำเร็จลุล่วง เพราะเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชนไทย” นายธนกรกล่าว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือน มิถุนายน 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 64.57 ปรับตัวลดลง 23.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในเกณฑ์ซบเซา เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยนักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือเงินทุนไหลเข้า และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ที่อาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย รองลงมาคือ ภาวะเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และความกังวลต่อสถานการณ์ COVID-19 Omicron สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5

สำหรับผลสำรวจ ณ เดือนมิถุนายน 2565 รายกลุ่มนักลงทุนพบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 33.9% อยู่ที่ระดับ 69.57 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 25.9% อยู่ที่ระดับ 55.56 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับขึ้น 5.9% อยู่ที่ระดับ 87.50 และความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 4.8% มาอยู่ที่ระดับ 57.14 โดยช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบอยู่ระหว่าง 1,557.61-1,660.01 จากความกังวลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลก และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอยมากขึ้น หลังประธาน FED และประธาน ECB ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ ทำให้ในเดือนมิถุนายน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 29,990 ล้านบาท เป็นการขายสุทธิในเดือนแรกหลังจากซื้อสุทธิมาตลอดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564

ทั้งนี้ ตลาดไทยยังได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ภาครัฐประกาศมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและมาตรการหนุนภาคท่องเที่ยว ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,568.33 จุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวลดลง 5.7% จากเดือนก่อนหน้า

 "ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ แนวทางการรับมือของ FED ต่อสถานการณ์เงินเฟ้อหลังอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงานในยุโรป รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. สถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจากราคาพลังงานในตลาดโลกและราคาวัตถุดิบในประเทศ และสถานการณ์การระบาด COVID-19 Omicron สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5" นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงแนวทาง 3 ข้อ ที่จะนำพาประเทศไทยออกจากวิกฤตเศรษฐกิจว่า วันนี้โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยคือเราจะต้องก้าวพ้นวิกฤตให้สำเร็จ และสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาให้ทันโลก ซึ่งหากเรายังคิดอยู่ในกรอบเดิมๆ บริหารจัดการแบบเดิมๆ เช่นในสภาวะปกติ ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแนวคิด ปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง ก็เชื่อได้ว่าจะได้ผลแบบเดิมๆ ไม่สามารถหวังจะตอบโจทย์ความท้าทายที่เรากำลังเผชิญได้ตรงจุดและทันเวลา 

 การขับเคลื่อนเชิงรุกด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงระหว่างกันทั้งระบบจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนร่วมกัน ทำให้ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจชั้นแนวหน้า ไม่ตกไปอยู่ขอบเวที โดยความท้าทายสำคัญขณะนี้คือการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศว่า ประเทศไทยจะก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ด้วยความสำเร็จความเข้มแข็งไม่แพ้ประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 นอกจากนี้ ต้องทำให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนเกิดความมั่นใจว่า ประเทศไทยมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่เหมาะสม สามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่มีอยู่ได้เต็มที่ รวมทั้งเป็นที่ประจักษ์ว่า ประเทศไทยจะมีผู้บริหารจัดการนโยบายและรับผิดชอบขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดขึ้นและบรรลุผลได้อย่างแท้จริง และหากเราต้องการหลุดพ้นจากวิกฤตไปด้วยกัน เราต้องร่วมกันสร้างและสนับสนุนธรรมาภิบาลให้เป็นพื้นฐานที่มั่นคงในทุกมิติ ไม่เพียงด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงด้านการเมืองและสังคมอีกด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง