"บิ๊กตู่" ห่วง ปชช.ช่วงวันหยุดยาวเสี่ยงแพร่ระบาด ย้ำมาตรการระวังเข้มข้นสกัดโควิด พร้อมสั่งเร่งตรวจสอบแพ็กเกจรักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ ฮึ่มดำเนินการตามกฎหมายหากลักลอบมาจำหน่าย ด้าน สบส.ลนตามสอบ รพ.เอกชนหลังโฆษณาว่อน ขณะที่วัคซีนโควิดเด็กเล็กไม่คืบ อย.รอไฟเซอร์-โมเดอร์นา
เมื่อวันพุธ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ พบผู้ป่วยใหม่ (รักษาตัวในโรงพยาบาล) จำนวน 2,391 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,391 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,327,489 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 1,901 ราย หายป่วยสะสม 2,327,441 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 24,082 ราย เสียชีวิต 25 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 776 ราย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฝากความห่วงใยไปถึงประชาชน พุทธศาสนิกชน ที่ใช้เวลาช่วงวันหยุดยาวทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกับครอบครัว โดยเฉพาะการร่วมทำบุญแห่เทียนพรรษา ทำบุญถวายพระ และร่วมพิธีเวียนเทียน รวมกลุ่มทำบุญตามสถานที่ต่างๆ ให้ดูแลระมัดระวังสุขภาพ
"นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนเรื่องความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงของการเดินทางพักผ่อนทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มของผู้คน ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ภายหลังการเดินทางหรือร่วมกิจกรรม ขอให้สังเกตอาการตรวจเอง และตรวจ ATK เพื่อความมั่นใจ" นายธนกรกล่าว
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เนื่องในวันสำคัญทางศาสนา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนจำนวนมากมักเดินทางไปทำบุญ กรมอนามัยมีความห่วงใยความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน จึงขอให้ป้องกันตนเองขั้นสูงสุดด้วยหลัก UP-DMHTA ขณะที่ศาสนสถานที่มีการจัดทำโรงทานเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่มาร่วมงานบุญนั้น ควรมีการคุมเข้มด้านความสะอาด ปลอดภัย และป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ สถานที่เตรียมปรุง และจุดรับอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค รวมทั้งขอความร่วมมือวัด ศาสนสถานทุกแห่ง ทำความสะอาดบริเวณผิวสัมผัสร่วม 7 จุดเสี่ยง ได้แก่ สายฉีดชำระ ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ลูกบิดหรือกลอนประตู ที่รองนั่งโถส้วม พื้นห้องส้วม และที่เปิดก๊อก
วันเดียวกัน นายธนกรกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมีความกังวลและห่วงใยพี่น้องประชาชน จากกรณีที่มีกระแสการซื้อยารักษาอาการป่วยโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) มาทานเอง ซึ่งจะมีความอันตราย และการใช้ยาโดยไม่จำเป็นอาจทำให้มีการดื้อยา เนื่องจากการใช้ยาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด พร้อมมอบหมายกระทรวงสาธารณสุขเร่งสื่อสาร สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน
"นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจำหน่ายแพ็กเกจรักษาโรคโควิด-19 ด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ ทั้งในส่วนของมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ และที่มาของยารักษาโควิด-19 ที่นำมาจำหน่าย โดยห้ามนำยาภาครัฐมาจำหน่ายโดยเด็ดขาด การลักลอบนำยาของภาครัฐมาจำหน่าย มีความผิดตามกฎหมายด้วย" นายธนกรระบุ
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ว่ามีสถานพยาบาลเอกชนบางแห่ง มีการโฆษณาจำหน่ายแพ็กเกจประเมินอาการ และยารักษาโรคโควิด-19 กรม สบส.ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งในส่วนของการขออนุมัติโฆษณาก่อนที่จะเผยแพร่ มาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ และที่มาของยารักษาโรคโควิด-19 ที่นำมาจัดจำหน่าย ห้ามนำยาที่ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนมาจัดจำหน่ายโดยเด็ดขาด
"หากตรวจพบว่าสถานพยาบาลเอกชนมีการลักลอบนำยาของภาครัฐมาจำหน่าย ก็จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล และพระราชบัญญัติยา อีกทั้งตัวแพทย์ผู้ให้บริการก็อาจจะถูกดำเนินการในฐานการกระทำผิดจริยธรรมทางการแพทย์ หากผู้ป่วยอาการรุนแรง เข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีเหลืองหรือสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาตามนโยบาย UCEP Plus กับสถานพยาบาลใดก็ได้ ไม่มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจนกว่าผู้ป่วยจะหายจากโรคโควิด-19 เว้นแต่ว่าผู้ป่วยหรือญาติไม่ประสงค์ที่จะให้ไปรักษาในสถานพยาบาลที่กำหนด หรือประสงค์ไปรักษากับสถานพยาบาลอื่น ก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง" นพ.ธเรศกล่าว
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลังการปรับขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยโควิดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นมา ประชาชนที่ตรวจพบว่าเป็นโควิด-19 เช่นตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ไม่ต้องโทร.แจ้ง 1330 เพื่อเข้าระบบหรือรับยาเช่นในอดีต แต่สามารถโทร.สอบถามขั้นตอนดำเนินการ หรือกรณีมีผู้ป่วยหนักประสานหาเตียงเพื่อเข้าโรงพยาบาล สามารถโทร .สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 สำหรับประชาชนทั่วไป และกด 18 สำหรับกลุ่ม 608, ผู้ป่วยติดเตียงและผู้พิการ หรือที่ สายด่วน เอราวัณ 1669 กด 2 ได้
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง สามารถติดต่อที่เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข, คลินิกชุมชนอบอุ่น, หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล ตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่, สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ หรือร้านยาในโครงการ "เจอ แจก จบ" โดยสามารถตรวจดูรายชื่อร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการเจอ แจก จบ ได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197
"ส่วนผู้มีสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนที่มีอาการป่วยไม่รุนแรง รักษาแบบเจอ แจก จบ ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่ง คลินิกและร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในตามดุลพินิจของแพทย์ ก็เข้ารักษาในโรงพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน" น.ส.ไตรศุลีกล่าว
ขณะที่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ใช้ในกลุ่มเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ถึงน้อยกว่า 5 ปีว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ติดตามข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่าขณะนี้มีวัคซีนเพียง 2 บริษัท คือไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งตั้งแต่ที่วัคซีนดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนใช้ในสหรัฐอเมริกา ทาง อย.ก็ได้ส่งหนังสือไปเชิญให้บริษัทนำเอกสารมาขึ้นทะเบียนในประเทศไทยด้วย
"ขณะนี้ก็รอให้เอาเอกสารมายื่นเพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน ทั้งนี้ วัคซีนที่ใช้ในเด็กจะเป็นยาตัวเดิม แต่ทำให้เจือจางลง อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถใช้วัคซีนที่เรามีในมือได้ ต้องเป็นของใหม่ที่มีการผสมน้ำเกลือใหม่เท่านั้น เบื้องต้นไฟเซอร์ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ขวบ จะเป็นฝาสีชมพูแดง ใช้ขนาด 1 ใน 10 ของผู้ใหญ่ที่ใช้ 0.3 ซีซี โดยเด็กเล็กจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ในเวลาที่ห่างกัน ส่วนโมเดอร์นาก็จะเป็นสำหรับเด็ก 6 เดือนถึง 5 ขวบ ใช้ขนาด 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ โดยจะฉีดเพียง 2 เข็ม" นพ.สุรโชคกล่าว
รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า ล่าสุด กรมควบคุมโรคได้ทำการเปลี่ยนแปลงสัญญากับบริษัทไฟเซอร์ในการจัดซื้อวัคซีนสำหรับเด็กเล็กกลุ่มนี้แล้ว จำนวน 3 ล้านโดส และ อย.ได้แจ้งให้บริษัทไปขึ้นทะเบียน ขณะนี้ก็เหลือแค่เขามาขึ้นทะเบียน หากเอกสารที่นำไปยื่นกับ อย. เป็นโรงงานผลิตเดิม ยาตัวเดิม ก็ใช้เวลาพิจารณาไม่นานจะทราบผล อย่างตอนที่ไปยื่นขยายอายุในเด็กโต ก็ใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้
กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี
"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว
ชทพ.ย้ำห้ามแตะสถาบัน สว.ค้านหั่นเสียง‘สภาสูง’
ชาติไทยพัฒนายันแก้รัฐธรรมนูญห้ามแตะต้องหมวด 1 และ 2 เด็ดขาด “สว.” ย้ำไม่เอาแน่หากเสนอตัดเสียงสภาสูงออก
นายกฯสั่งดูแล คนไทยในสหรัฐ เหตุไฟป่า‘L.A.’
“แพทองธาร” บอกเช็กแล้วไม่มีคนไทยในสหรัฐบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากไฟป่า
คึกคักจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
หลายจังหวัดคึกคัก จัดงานวันเด็กแห่งชาติ เหล่าทัพจัดเต็มแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์
‘ภรรยาลิม’โอด ช่วงสามีถูกยิง! ไร้‘ผู้ช่วยเหลือ’
ผกก.สน.ชนะสงครามยันออกหมายจับมือยิง “ลิม กิมยา” แค่ 2 คน “เมียอดีต สส.ฝ่ายค้าน”