เฮ!ราคาเบนซินลด3บาท ดัชนีผู้บริโภคมิ.ย.ฟื้นตัว

ผู้ใช้รถเฮ! ลดราคาน้ำมันเบนซินรวดเดียว 3 บาท ปลัดพลังงานชี้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก หอการค้าฯ ชี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ประหยัดเงินได้ 90 ล้านบาทต่อวัน เผยความเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย. ฟื้นตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดดัชนีครองชีพครัวเรือนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR), บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้ประกาศปรับลดราคาขายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ลงลิตรละ 3 บาท มีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 8 ก.ค. ขณะเดียวกันยังได้ปรับลดราคาขายในส่วนของน้ำมัน E85 ลงลิตรละ 1.80 บาท ส่วนดีเซลทุกชนิดยังคงราคาเดิมไว้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การปรับลดราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เพราะนักลงทุนมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบดีมานด์น้ำมัน ประกอบกับประเทศจีนล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายเมือง ทำให้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสลดต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลยังไม่ปรับลดราคา เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังอุดหนุน 5.56 บาท/ลิตร คิดเป็น 373 ล้านบาทต่อวัน อุดหนุนแอลพีจี 45 ล้านบาทต่อวัน ส่วนความคืบหน้าเรื่องการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องและการเจรจาโรงกลั่นเพื่อหาเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องของกองทุนนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ค.นี้

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า หากราคาน้ำมันโลกยังลดต่อเนื่อง ทางกองทุนอาจพิจารณาเก็บเงินจากผู้ใช้กลุ่มเบนซินเข้ากองทุนเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่อง จากปัจจุบันกองทุนติดลบกว่าแสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงอีกไม่มากนัก

ทางด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า มีการใช้น้ำมันเบนซินเฉลี่ยวันละ 30 ล้านลิตร การที่น้ำมันลง 3 บาท จะทำให้คนไทยประหยัดเงินได้ประมาณ 90 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งก็คือ 2,700 ล้านบาทต่อเดือน และ 17,000 ล้านบาทต่อ 6 เดือน ดังนั้นเงินจำนวนนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.15% เมื่อน้ำมันลง และมีการปรับราคาน้ำมันลงตาม ผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นดีขึ้น เพราะเงินในกระเป๋ามากขึ้น เป็นผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอย

นายธนวรรธน์เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) ในเดือน มิ.ย.2565 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 40.2 เป็น 41.6 ถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 6 เดือนจากระดับ 25.7 มาอยู่ที่ 27.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 46.9 มาอยู่ที่ระดับ 48.3

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 35.7, 39.2 และ 49.8 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน พ.ค.2565 ที่อยู่ในระดับ 34.3 37.8 และ 48.5 ตามลำดับ

 “ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เพราะผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติ มีการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น” นายธนวรรธน์ระบุ

ถึงแม้ความเชื่อมั่นจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับ 100 แสดงว่าความเชื่อมั่นในภาพรวมยังไม่ดีขึ้น เพราะผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การระบาดของโควิด-19 ยังมีต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ความกังวลสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า

อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าดัชนีฯ จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ และเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจริงหรือไม่ เบื้องต้นประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยคาดว่าปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 2.5-3.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือน มิ.ย.65 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยดัชนี KR-ECI ปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 30.8 และ 32.9 จาก 31.2 และ 34.0 ในเดือน พ.ค.65 แม้ว่าครัวเรือนจะมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะรายได้และการจ้างงาน หลังภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น สะท้อนจากระดับเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.65 ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี ยังคงกดดันดัชนีให้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องระดับรายได้และการจ้างงาน พบว่ามีครัวเรือนกว่า 41.7% ที่รายได้และการจ้างงานเริ่มกลับมาสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่อีกกว่า 35.3% มีรายได้ลดลงจากเดิม เนื่องจากยังมีชั่วโมงการทำงานที่ลดลง นอกจากนี้ได้มีการสอบถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายหมวดใดที่ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด ท่ามกลางระดับราคาสินค้าและพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายในหมวดพลังงาน สาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวันปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด (73%) บ่งชี้ว่าในภาพรวมกำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจำเป็นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อีกร้อยละ 25 มีค่าใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นมากที่สุด

โดยภาพรวม ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ารายได้ของครัวเรือนยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่ ขณะที่ค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ กลับเพิ่มขึ้นในระดับที่สูง ความไม่สอดคล้องกันระหว่างรายได้ที่เท่าเดิม/ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะยังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของภาคครัวเรือนในระยะต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง