สธ.สั่งรับมือโควิดระลอกใหม่

นายกฯ ยันสถานการณ์โควิด-19 ในไทยควบคุมได้ขออย่ากังวล สธ.ส่งหนังสือถึงทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ เผยอาจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น "ระลอกเล็กๆ"  ขณะที่ "อนุทิน" พร้อมรับคำเตือนทุกฝ่าย “หมอประสิทธิ์” จี้ ศคบ.เคาะมาตรการสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด ผู้ว่าฯกทม.จ่อทบทวนถอดแมสก์

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  ยืนยันสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ แม้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงในบางพื้นที่ ขอประชาชนอย่าได้กังวล เน้นปฏิบัติตามมาตรการของทางสาธารณสุข ป้องกันระวังตนเองเมื่อต้องใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงและเข้ารับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นในประชาชนทุกกลุ่มอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมั่นใจระบบสาธารณสุข มีความพร้อมดูแลผู้ป่วย ยืนยันว่ารัฐบาลและ ศบค.พร้อมสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเกิดการแพร่ระบาดในอนาคตขึ้น   

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดวันที่ 5 ก.ค. พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1,917 ราย จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,914 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 3 ราย ผู้เสียชีวิต 18 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัว 24,435 ราย และมียอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,282 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.65 จำนวน 2,310,582 ราย ผู้ที่หายป่วยสะสมจำนวน 2,310,352 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 705 ราย

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ได้นำ ครม.ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ โดย สธ.ได้จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่มาให้บริการที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล รวมถึงเปิดให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชนเข้ารับวัคซีน พร้อมกันนี้ยังได้นำวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาให้บริการด้วย

ภายหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีได้มีการสั่งการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลในการรับมือสถานการณ์โควิดระลอกใหม่แล้วหรือไม่ ว่าเขาเตรียมอยู่แล้ว ให้ถามกระทรวงสาธารณสุข       

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีแพทย์ชนบทเตือนให้เตรียมพร้อมรับโควิดระลอกใหม่ว่า ก็รับฟังคำเตือนทุกอย่าง การที่เรารับฟังคำเตือนจากทุกฝ่าย รวมถึงคำเตือนจากคณะแพทยศาสตร์ ก็รับฟังทุกอย่าง ซึ่งอะไรที่ปฏิบัติได้ก็ปฏิบัติ

เมื่อถามว่า ในส่วนของ กทม.ระบุว่าอาจจะต้องกลับมาสวมหน้ากากอนามัยอีกหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า "ผมเพิ่งหายมา"

รมว.สาธารณสุขกล่าวถึงสถานการณ์โควิดกำลังระบาดมากขึ้นว่า เป็นการระบาดในบริบทโอมิครอน ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ติดง่าย เชื้อไม่แรง และเราเปิดประเทศแล้ว มีโอกาสของการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ เรื่องของอาการหนักและจำนวนผู้เสียชีวิต ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้อยู่ เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว

เมื่อถามว่า สายพันธุ์ใหม่ BA.4-BA.5 ที่ระบาดในกรุงเทพมหานครขณะนี้ จะรับมืออย่างไรเป็นพิเศษ นายอนุทินกล่าวว่า ได้เตรียมเรื่องของเวชภัณฑ์ สถานพยาบาลให้พร้อม แต่ถ้าได้รับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป อาการก็จะไม่รุนแรง แล้วก็จะไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนและกลุ่มที่มีโรคต้องระวังมากหน่อย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการกักตัวของผู้ป่วยโควิด-19 ว่า เดิมกำหนดให้มีการกักตัว 7+3 วัน คือกักตัว 7 วัน สังเกตอาการอีก 3 วัน แต่ล่าสุดคณะกรรมการวิชาการได้ลดเหลือ 5+5 ซึ่งจะรอนำเข้าที่ประชุม ศบค.วันศุกร์ที่ 8 ก.ค.นี้ ส่วนนายอนุทินที่ติดเชื้อโควิด ก่อนหน้านี้ถือว่าเกิน 10 วันแล้ว โดยการนับจะนับตั้งแต่วันที่มีอาการ เพราะการแพร่เชื้อจะมีการแพร่เชื้อ 2 วันก่อนมีอาการ และ 3 วันหลังมีอาการ จึงต้องนับจากวันที่เริ่มมีอาการ กรณีของนายอนุทินจึงไม่น่าจะมีอะไร และช่วงที่ออกงานเมื่อวานนี้ก็ยืนห่างจากคนอื่น

เมื่อถามว่า ที่เคยบอกว่าวันที่ 1 ก.ค.จะให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ยังคงเป็นไปตามนั้นหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า รอที่ประชุม ศบค.ว่าจะมีมติออกมาอย่างไร เพราะต้องมีการพิจารณาทั้งมาตรการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข สังคม และกฎหมาย เราทราบดีว่าสถานการณ์การติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ที่เรากำลังตามดูขณะนี้คือภาวะการรองรับด้านการรักษาผู้ป่วยหนักมากขึ้นหรือไม่ เตียงรองรับพอหรือไม่ แต่ภาพรวมของประเทศผู้ป่วยหนักไม่ได้มากขึ้น แต่เป็นสัดส่วนจำนวนเคสที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ส่วนใหญ่ตอนนี้ติดเชื้อก็รักษาตัวอยู่บ้าน กินยาก็หายเองได้ ดังนั้นเตียงตามโรงพยาบาลยังเพียงพอ เหลือแต่ที่ กทม.เท่านั้น เนื่องจากกทม.มีระบบที่ซับซ้อน

เมื่อถามถึงกรณีที่ปลัด สธ.ทำหนังสือแจ้งเตือนไปถึงทั่วประเทศ นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะปลัด สธ. แต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ทำเหมือนกัน เป็นการเตือนหน่วยราชการให้ระมัดระวัง เข้มงวด เตรียมพร้อม ทั้งนี้ ถือเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมตามปกติ แต่เตรียมพร้อมดีกว่าไม่เตรียมพร้อม พวกเราก็ต้องเตรียมพร้อมด้วย

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิดของประเทศไทยเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจากนี้เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) เหมือนอย่างโรคอื่นๆ ซึ่งหมายความว่ายังสามารถพบการติดเชื้อได้ แต่ความรุนแรงของโรคลดลง การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะไม่มากเกินระบบสาธารณสุขที่มีจะรองรับได้ โดยจากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงมีการเปิดประเทศ ทำให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น อาจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ (Small Wave) ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ใช่การระบาดใหญ่ โดย สธ.มีการเตรียมความพร้อมรองรับตามแนวทาง 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ ยาและเวชภัณฑ์พอ

"โดยกำชับและแจ้งไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้บุคลากรทางการแพทย์ระมัดระวังป้องกันตนเองในการให้บริการ เตรียมความพร้อมยา เวชภัณฑ์ สำรองเตียง ความพร้อมระบบส่งต่อ และเร่งเดินหน้าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการคงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล จะช่วยลดการติดเชื้อและหยุดระลอกเล็กๆ เหล่านี้ลงได้" นพ.เกียรติภูมิกล่าว และว่า ขณะนี้ยังคงแจ้งเตือนภัยโควิดในระดับ 2 ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน

ขณะที่เพจชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความระบุว่า ส่งสัญญานเตือน เตรียมพร้อมรับโควิด-19 ระลอกใหม่ ปลัด สธ.มีหนังสือสั่งการ ด่วนที่สุด ถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ให้หน่วยบริการสุขภาพในสังกัด เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การระบาดของไทยขณะนี้ไม่ได้แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลกที่พบการระบาดของ BA.4-BA.5 ไปแล้วกว่า 110 ประเทศ และการรายงานตัวเลขติดเชื้อที่แท้จริงก็ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากหลายประเทศเลิกตรวจหาเชื้อไปแล้ว วันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยน อยากให้ผู้ใหญ่ในประเทศส่งสัญญาณ เพราะขณะนี้มีการติดเชื้อเพิ่ม จึงเสนอให้รัฐบาลต้องกลับมากระชับมาตรการป้องกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการออกข้อบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ เป็นมาตรการที่ สธ.คงจะต้องเสนอศบค.พิจารณา อย่ารอจนเตียงไม่พอ จะไม่ทันต่อสถานการณ์ แม้สถานการณ์เวลานี้อาจจะไม่รุนแรงเหมือนสายพันธุ์เดลตา เพราะคนฉีดวัคซีนไปค่อนข้างมาก ตัวเชื้อไม่ได้รุนแรง แต่เชื้อตัวนี้แพร่ระบาดเร็วมาก หากแพร่เร็วจนเพิ่มจำนวนมากก็เสี่ยงที่เกิดการกลายพันธุ์ได้ ส่วนยอดผู้ป่วยโควิดใน รพ.ศิริราช ยอมรับว่าเพิ่มขึ้นจริง โดยเฉพาะผู้ป่วยไอซียูที่เพิ่มขึ้น

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบตัวเลขผู้ติดเชื้อ ซึ่งต้องรอมาตรการจาก สธ.อีกครั้ง เบื้องต้นได้รับรายงานว่าบางโรงพยาบาลมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว

ส่วนกรณีจะกระทบกับประกาศถอดหน้ากากอนามัยของ กทม.ที่เพิ่งประกาศไปหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า คงจะต้องทบทวนหมดทุกอย่างตามข้อเท็จจริง ต้องมีขั้นตอนที่ปรับตัวไป ทั้งยังต้องพิจารณาความรุนแรงว่าระบาดมากหรือน้อยอย่างไร เพราะเป็นปัจจัยต่อเนื่องกัน เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ จึงจะเป็นมาตรการตามข้อเท็จจริง หากรุนแรงก็ต้องทบทวนใหม่ สำหรับประเด็นคลัสเตอร์ในโรงเรียนหลังเปิดเทอม เมื่อช่วงเช้าได้ไปหารือมากับโรงเรียนย่านสวนลุมพินี อาจจะมียอดผู้ติดเชื้อนิดหน่อย คงต้องจับตามอง

"ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสอดคล้องที่มีการเปิดสถานประกอบการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ มีการถอดหน้ากากอนามัย แต่ต้องเฝ้าระวังเหมือนกัน ซึ่งได้มอบหมายให้ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. สรุปปัญหาและออกมาตรการเฝ้าระวังต่อไป" นายชัชชาติกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"

‘เนวิน’รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดมิวสิคัลเทิดพระเกียรติ

“เนวิน” รวมใจชาวบุรีรัมย์ จัดเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา แสดง แสง สี เสียง มิวสิคัล “ลมหายใจของแผ่นดิน” โดยบุรีรัมย์ออร์เคสตรา แสดงความจงรักภักดี 28-30 ก.ค.2567 สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์