“ชัชชาติ” เผยปมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวคืบหน้า ยกปัญหาหนี้ 3 ส่วนต้องชัดเจนก่อนเคาะค่าโดยสาร เล็งเปิดสัญญาให้ ปชช.รับรู้ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ด้าน “ชัยวุฒิ” เผยจัดระเบียบสายไฟ-สายสื่อสาร เริ่มพื้นที่เร่งด่วน 350 กม.กรุงเทพฯ ชั้นใน เดือนหน้าเห็นผล
เมื่อวันจันทร์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า คืบหน้าไปพอสมควรเพราะเราได้รู้ประเด็นแล้วว่าจุดไหนมีปัญหา และต้องลงในรายละเอียดระหว่างกรุงเทพธนาคมกับบริษัทเอกชน ที่จะต้องเจรจาว่าสามารถลดอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ส่วน กทม.เองก็ต้องดูเรื่องหนี้เป็นหลัก ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่าจะต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ได้ก่อน
นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามหนี้ของเรามี 3 ส่วน คือหนี้ระหว่าง กทม.กับรัฐ ตรงนี้ไม่ได้กังวลมาก เพราะถึงอย่างไรก็กระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา, หนี้เรื่องค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และหนี้เรื่องค่าเดินรถ โดยเฉพาะในส่วนสัญญาที่ 2 ซึ่งต้องดูว่าสัญญาขบวนการมันครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่ครบก็ต้องทำให้ครบเสียก่อนที่จะเริ่มจ่ายหนี้ เราก็ต้องเอาให้ชัดเจนเสียก่อน ทำอย่างตรงไปตรงมา และต้องไปดูเรื่องสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยายปี 2572-2585
"อย่างที่บอกว่าอยากเปิดเผยให้ประชาชนทราบ แต่ต้องเอาเรื่องกฎหมายให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากในสัญญาเขียนไว้ว่าห้ามเปิดเผยต่อสาธารณะ เว้นแต่กฎหมายบังคับ และบังเอิญว่าองค์กรผู้บริโภคขอมา แล้วจะเอาตรงนี้เป็นจุดที่จะบอกว่าสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ โดยจะอ้างอิงจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ถ้าข้อมูลใดที่ประชาชนขอมา ให้ได้ก็ต้องให้ เพราะประชาชนเป็นเจ้าของเงินที่เราต้องจ่ายเอกชนอยู่แล้ว เป็นเงินภาษีประชาชน และถ้าเปิดเผยได้จะสรุปให้เสร็จเลยว่าค่าใช้จ่ายการเดินรถเป็นเท่าไหร่" นายชัชชาติระบุ
นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า ซึ่งการเปิดเผยดังกล่าวคงไม่ต้องหารือกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเป็นสัญญาระหว่าง กทม.คือกรุงเทพธนาคม กับเอกชน เราก็ขอเอกสารในฐานะผู้ถือหุ้นของกรุงเทพธนาคม เราขอเอกสารในนามผู้ถือหุ้น การเซ็นสัญญาเกิดขึ้นระหว่างกรุงเทพธนาคมกับเอกชน ไม่ใช่ กทม.เป็นคนเซ็น
"แต่เราต้องรับผิดชอบ จึงต้องดูให้ละเอียดและได้สรุปตัวเลขและค่าใช้จ่ายไว้แล้ว เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นตัวเลขที่นำมาพิจารณาเรื่องค่าโดยสาร เราต้องเก็บค่าโดยสารให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่เรามีสัญญากับเอกชนไว้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายจึงมีความสำคัญ เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายจึงมีความสำคัญว่าเท่าไหร่ ดังนั้นเราจะบอกว่าค่าโดยสารจะ 20 บาท 30 บาท สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าเราจะต้องจ่ายเขาเท่าไหร่ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ
วันเดียวกัน ที่อาคารเอ็นที ทาวเวอร์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส กล่าวหลังการประชุมเรื่องกรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ หรือ Bangkok Smart City และการบริหารจัดการวางท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินว่า กระทรวงดีอีเอสทำงานร่วมกับ กสทช.และได้ตั้งงบที่ประมาณ 700 ล้านบาท จากเงินอุดหนุนของกองทุนยูโซที่ใช้สำหรับระยะทาง 800 กิโลเมตร (กม.) ภายในบริเวณ 16 เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน โดยจะเริ่มทำพื้นที่เร่งด่วนก่อน 350 กิโลเมตร
นายชัยวุฒิกล่าวต่อว่า เรื่องการจัดหางบประมาณในการดำเนินการทั่วกรุงเทพฯ ต้องใช้เงินประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่นำมาจากข้อมูลที่บริษัทเคทีได้ประเมินไว้ 19,000 ล้านบาท เบื้องต้นได้พูดคุยกันว่า กสทช.จะนำเรื่องเสนอต่อบอร์ด กสทช.ให้สนับสนุนงบมาช่วยครึ่งหนึ่ง อาจเป็นจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา หากดำเนินการภายใต้บริษัทเอ็นทีเป็นผู้จัดทำในงบ 10,000 ล้านบาท อาจเพียงพอสำหรับดำเนินงาน แต่ยังไม่ได้ระบุว่าถ้าเอ็นทีเป็นผู้จัดทำทั้งหมดจะใช้งบประมาณเท่าใด
นายชัยวุฒิกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้บริษัทเคทีได้ดำเนินการไปแล้วจะดำเนินการต่อหรือไม่ หลังจากทำท่อร้อยสายใต้ดินแล้วเสร็จ 7 กิโลเมตร แต่ยังไม่มีผู้ให้สัญญาณเครือข่ายใดสนใจมาเช่า จึงต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาหาทางออกร่วมกันต่อไป
“การจัดระเบียบสายไฟลอยฟ้าจะเร่งทำก่อน เพราะจะทำให้สายที่พาดผ่านมีระเบียบมากขึ้น ขณะเดียวกันการนำสายลงใต้ดินจะทำเป็นช่วงๆ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจัดระเบียบสายไฟฟ้าบนดินถึง 10 เท่า หากคำนวณง่ายๆ เช่น ค่าเช่าสายไฟฟ้าบนดิน 300 บาท หากลงใต้ดินค่าเช่าจะ 3,000 บาท เพราะท่อใต้ดินมีการลงทุนสูง ดังนั้นการจะทำทั่วกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ และอาจเป็นภาระต่อโอเปอเรเตอร์ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคด้วย” รมว.ดีอีเอสกล่าว
ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า จากการประชุมโดยมีหัวข้อร่วมพูดคุยหลักๆ 2 ประเด็น 1.ต้องจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรังก่อน แม้ยังไม่ต้องลงดินทันที แต่ก็สามารถนำสายที่ไม่ใช้ควรรื้อออกให้หมดก่อน ซึ่ง กสทช.มีแผนดำเนินการโดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือยูโซ (USO) เข้ามาอุดหนุน คาดว่าปี 2565 ตั้งเป้า 800 กิโลเมตร ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก และมีสายสื่อสารพาดผ่านหนาแน่น อย่างน้อยขั้นตอนแรกที่จัดระเบียบจะทำให้ความรกรุงรังน้อยลง และคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ตั้งแต่ต้นเดือนหน้าเป็นต้นไป
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเชื่อมสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” กับสวนลุมพินี ครั้งที่ 1/2565 โดยระบุว่า
ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ให้ทันในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งการประชุมวันนี้ได้มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เช่น การเชื่อมต่อกับสวนลุมพินี การปรับปรุงเส้นทางเดิน เส้นทางรถยนต์ การจัดหาที่จอดรถในที่ต่างๆ ซึ่งพื้นที่ที่เสร็จแล้วได้ส่งมอบต่อให้กรุงเทพฯ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน