สุพัฒนพงษ์ขยี้ ‘โรงกลั่นน้ำมัน’ ให้คิดถึงสังคม!

“สุพจน์” ให้รอลุ้นประชุมใหญ่ 4 ก.ค. เชื่อจะมีมาตรการแก้ไขวิกฤตพลังงาน เผยประเมินแผนลากยาวตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี “วิษณุ” แจงให้อำนาจ สมช.เพื่อบูรณาการแก้ปัญหาเหมือนโควิด แต่ไม่ได้ขับเคลื่อน “สุพัฒนพงษ์” คาด ก.ค.รู้แน่เรื่องค่ากลั่น จิกเอกชนหากอยากยั่งยืนรวยคนเดียวไม่ได้

เมื่อวันศุกร์ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการกำหนดแผนระยะสั้น หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้เตรียมการรับมือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารว่า จะนำเสนอในที่ประชุม สมช.ในวันจันทร์ที่ 4 ก.ค. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ซึ่งจะเชิญหน่วยงานใน สมช.ทั้งหมด รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดมาหารือ ซึ่งที่ผ่านมา สมช.ได้เรียกหน่วยงานมาประชุม 2 ครั้ง และเชิญภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ และสมาคมธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน มาพูดคุย รับฟังปัญหาและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งอาจต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงเสาร์-อาทิตย์นี้ และนำข้อมูลมาเสนอต่อที่ประชุมในวันจันทร์ที่นายกฯ เป็นประธาน

พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า สิ่งที่เราจะเสนอคือการประเมินสถานการณ์ กำหนดแผนการเตรียมความพร้อมในอนาคต และการเตรียมความพร้อมแก้ปัญหาเร่งด่วนด้วยโดยเฉพาะปัญหาเรื่องพลังงาน ที่ไปกระทบกับเรื่องโลจิสติกส์หรือการขนส่งเป็นหลัก กระทบเรื่องเงินเฟ้อ และทำให้ราคาทุกอย่างสูงขึ้น ซึ่งแม้ สมช.จะไม่เชี่ยวชาญ แต่เราไม่ได้ทำงานคนเดียว สิ่งที่ทำเรื่องแรกก็คือพบกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจทุกกระทรวง เพื่อขอความเห็นและรับทราบปัญหา และเชิญหน่วยงานเหล่านั้นมาพูดคุย โดยในการประชุมจันทร์นี้ สมช.จะเสนอความคิดเห็นและแผนที่จะรองรับ ซึ่งอาจยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นแผนต่างๆ อยากให้รอฟังหลังการประชุมวันจันทร์

 “จะนำเสนอนายกฯ เพื่อรับทราบและเสนอแผน ซึ่งเราประเมินสถานการณ์แล้วว่าจะกระทบตามห้วงเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้าอย่างไร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะเตรียมการรองรับ เราเชื่อว่าภายใน 3 เดือนมีผลกระทบแน่ ซึ่งก็ต้องดูว่าจะมีมาตรการอะไรที่จะบรรจุอยู่ในห้วงเวลานี้บ้าง ดังนั้นเราต้องเร่งแก้ไข แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราคาสินค้ามีการแก้ปัญหากันทุกวันอยู่แล้ว และจะมีระยะ 6 เดือน รวมถึงในปี 2566 ตลอดทั้งปีด้วย” พล.อ.สุพจน์กล่าว

เมื่อถามถึงข้อถกเถียงเรื่องการดึงกำไรจากโรงกลั่นน้ำมัน ระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์ สมช.จะเป็นผู้ชี้ขาดเองหรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องใช้กลไกทางกฎหมาย ส่วนการเจรจาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนจะใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรหรือไม่ ขอให้ฟังหลังการประชุมในวันจันทร์ โดยในที่ประชุมจะมีคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานหลักพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

 ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ มาแก้ปัญาพลังงานว่า ไม่น่าจะเกี่ยวอะไร ส่วนที่ให้เลขาธิการ สมช.มาแก้ปัญหานั้น ไม่ได้ให้มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ให้มาวางโครงสร้างการทำงาน เพราะ สมช.ชำนาญการจัดตั้งองค์กร เหมือนที่ให้ มช.ทำเรื่องโควิด-19 เขาไม่ได้เป็นคนฉีดยา แต่รวบรวมคนมาดำเนินการ เพราะมีอำนาจ หน่วยงานอื่นไม่มีอำนาจเช่นนี้ เขาไม่ใช่คนขับเคลื่อน แต่ให้คนอื่นเป็นผู้ขับเคลื่อน จึงต้องวางโครงสร้างเพื่อบูรณาการใหม่ ตรงนี้ต้องใช้อำนาจของ สมช.ดำเนินการ

 ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการหารือกับโรงกลั่นนำกำไรจากค่าการกลั่นมาช่วยเหลือในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า เรื่องนี้ให้บริษัทโรงกลั่นเขาคุยกันเอง โดยมีคณะกรรมการจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ เข้าไปร่วมเจรจา และเชื่อว่ากลุ่มโรงกลั่นจะพิจารณาและกำหนดทิศทางไปในทิศทางที่ดี เห็นได้จากเวลานี้ยังมีการเจรจากันอยู่ มิเช่นนั้นคงเลิกประชุมไปแล้ว ส่วนจะได้คำตอบเมื่อใด คงต้องรอ คาดว่าภายในเดือน ก.ค.นี้ต้องเห็นผลอะไรออกมาบ้าง แต่ต้องยอมรับว่าการใช้มาตรการบังคับในตลาดเสรีเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่การใช้ความร่วมมือเป็นเรื่องที่ดีที่สุด แม้แต่ในอเมริกา ประธานาธิบดียังใช้การขอความร่วมมือไปถึงผู้ประกอบการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดทางโรงกลั่นยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องนี้ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า มีเรื่องของข้อกฎหมาย ที่เราจะรวบรวมเพื่อถามคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยต้องดูความสมัครใจของโรงกลั่นด้วย ขณะที่บางกลุ่มมีข้อเสนอว่าควรจะใช้กฎหมายบังคับ เนื่องจากมีเรื่องของการถือหุ้นในบริษัทมหาชน

 “บริษัทเหล่านี้ทำธุรกิจไม่ได้ทำเพื่อกำไรสูงสุดอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงสังคมและชุมชนด้วย เพราะปัจจัยเหล่านี้นำไปใช้อธิบายกับผู้ถือหุ้นได้ เรื่องใดที่อยู่ในระดับที่เหมาะควรทำได้อยู่แล้ว เพราะเป็นนโยบายของแต่ละบริษัทที่ประกาศเป็นบริษัทที่ยังยั่งยืนและมีธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นธรรมดาของบริษัทที่ดี การจะยั่งยืนอยู่ได้ ไม่ใช่ตัวเองจะร่ำรวยอยู่คนเดียว ต้องดูพวกบริโภคและคนรอบข้างไปด้วยกันได้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

เมื่อถามว่า มาตรการของรัฐบาลจะขอบริจาคแทนการออกกฎหมายกับโรงกลั่นใช่หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ไม่เคยขอใคร เขาจะบริจาคก็บริจาค เราไม่ได้เที่ยวไปขอใคร อยากให้เข้าใจ เดี๋ยวจะหาว่าไปบังคับ แต่ให้เขาพิจารณาเองว่าจะช่วยในรูปแบบไหน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมัน และผู้โดยสารรถสาธารณะต่างๆ โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย

ส่วน น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2566 กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ภายหลังการชี้แจงของกระทรวงพลังงานพบว่า ในสมัยรัฐบาล คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ออก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ซึ่งมาตรา 26 กำหนดให้กองทุนต้องมีเงินเพื่อใช้ในบริหารจัดการอยู่ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ส่วนที่เก็บได้เกินจากจำนวนที่กำหนดต้องนำส่งเข้าคลัง ซึ่งการจำกัดเพดานวงเงินกองทุนน้ำมันเช่นนี้กลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานะกองทุนไม่แข็งแรงพอ เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมัน จึงส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของคนไทยทุกคน

"สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคาน้ำมันในตลาดโลกเคยสูงถึง 136 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ด้วยความสามารถในการบริหารประเทศ สถานะทางการคลังแข็งแรง จึงสามารถลดภาษีสรรพสามิตและทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกที่ประชาชนต้องจ่ายถูกกว่าปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตอนนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่รัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ ทั้งหมดเกิดจากความบกพร่องล้มเหลว ขาดวิสัยทัศน์ ขาดความรอบคอบ ขาดความรู้ความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น" น.ส.จิราพรระบุ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง