ไทยติดเชื้อ 2.6 พันราย ดับ 14 ราย ศบค.รับยอดปอดติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์รับได้ ไม่ปรับมาตรการสู้สายพันธุ์ใหม่ "สธ.-สปสช." ประสานเสียงปัด 1 ก.ค. ลอยแพผู้ป่วยโควิด ยันรักษาฟรีตามสิทธิ ป่วยสีแดงเข้า รพ.ได้ แจงแค่ปรับระบบหลังบ้าน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,695 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,695 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,690 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,779 ราย อยู่ระหว่างรักษา 23,931 ราย อาการหนัก 684 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 292 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 14 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 7 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,522,915 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,468,336 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,648 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีการติดเชื้อมากขึ้น แต่ตัวเลขที่ ศบค. ให้ความสำคัญคือ ผู้ติดเชื้อปอดอักเสบที่วันนี้สูงถึง 684 ราย ซึ่งสูงจาก 2 สัปดาห์ก่อน และมีทิศทางสูงขึ้น แต่ยังถือว่ายังอยู่ในคาดการณ์ตามมาตรการผ่อนคลายการถอดหน้ากากตามความสมัครใจ และการเปิดสถานบันเทิง 31 จังหวัด อย่างไรก็ตาม อัตราครองเตียงและศักยภาพบุคลากรยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ โดยการครองเตียงในระดับ 2 และ 3 ส่วนใหญ่อยู่ที่ 9.9% มีเพียงบางจังหวัดใหญ่ๆ เช่น จ.สมุทรปราการ ที่อัตราการครองเตียงเกิน 20% แต่ไม่ถึง 25%
สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้ 14 ราย เป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด มีถึง 6 ราย ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว จึงขอให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข้ามารับ ทั้งนี้ หากดูการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น พบว่าผู้มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 46.5% ยังไม่ถึงเป้าหมาย 60% ที่วางไว้ และถ้าดูภาพรวมของทั้งประเทศ ประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 42.6% จึงขอให้ประชาชนเข้ามารับวัคซีนกันมากขึ้น เพราะขณะนี้มีเพียง 4 จังหวัดที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกินเป้าหมาย 60% ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต นอกจากนี้ ในส่วนของการถอดหน้ากาก ศบค.ชุดเล็กได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอด ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงยังขอให้ใส่หน้ากากตลอดเวลา และขอให้ประชาชนฟังมาตรการในแต่ละพื้นที่ที่อาจแตกต่างจากคำสั่งในส่วนกลางได้
เมื่อถามว่า เชื้อกลายพันธุ์ BA.4- BA.5 ที่มีการพบในปัจจุบัน มีความน่ากังวลหรือไม่ พญ.อภิสมัยกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่ที่พบเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ในประเทศไทยยังพบจำนวนน้อย สายพันธุ์หลักยังคงเป็นโอมิครอนอยู่ และข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกยังไม่พบว่าเชื้อดังกล่าวจะรุนแรงเท่าเดลตา แต่ยังเร็วไปที่จะสรุป ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการปรับมาตรการอะไรเพื่อรองรับเชื้อดังกล่าว หากมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 8 ก.ค.
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จากกรณีราชกิจจานุเบกษาประกาศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น พ.ศ.2565 โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป โดยมีเนื้อหาสำคัญ ยกเลิกประกาศ สปสช. เรื่อง กำหนดกรณีที่มีเหตุสมควรและอัตราค่าใช้จ่ายที่หน่วยบริการมีสิทธิได้รับ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 ลงวันที่ 2 มี.ค.2564 และให้ยกเลิกประกาศ สปสช. เรื่อง กำหนดกรณีที่มีเหตุสมควรและอัตราค่าใช้จ่ายที่หน่วยบริการมีสิทธิได้รับ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2564 ลงวันที่ 30 ก.ค.2564 ส่งผลให้กระบวนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จากยูเซปพลัส เป็นการรักษาตามสิทธินั้น
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า การประกาศให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลับมารักษาตามสิทธิเดิม สิ่งที่จะยกเลิกคือการรักษาในระบบยูเซปพลัส ที่ให้ประชาชนสามารถรับการรักษาและคัดครองใน รพ.รัฐและเอกชน ให้กลับเข้ารับการรักษาตามสิทธิเดิมของตน ซึ่งการรักษายังฟรีเหมือนเดิม ส่วนกรณีเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิดในระดับวิกฤตสามารถดูแลในระบบยูเซปปกติ ซึ่งมี 1669 เป็นผู้ประเมิน นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกระบบการรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) และ Hospital แต่ยังคงเหลือบริการสายด่วน 1330 ไว้ให้คำปรึกษาแก่ประชาน รวมถึงประสานหาเตียง ทั้งนี้ รัฐบาล ศบค.และ สธ.จะทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงว่า ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมตามนโยบายรัฐบาลเพื่อรองรับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่นเช่นกัน โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 สปสช.จะลอยแพผู้ป่วยโควิด ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ป่วยยังคงได้รับการรักษาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม
โดยหลังจากนี้หากประชาชนมีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโควิด สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปเป๋าตัง หรือใช้บัตรประชาชนไปรับ เพื่อตรวจยืนยันได้ทันที หากผลเป็นบวกว่าติดเชื้อ กลุ่มที่มีอาการไม่มากหรือกลุ่มสีเขียวเข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเจอแจกจบส่วนกรณีกลุ่ม 608 หรือมีอาการรุนแรง จะถูกพิจารณาให้พบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช.ดูแลค่าใช้จ่ายครอบคลุมทั้งหมดเช่นกัน
หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์สีเหลือง-แดง ใช้สิทธิยูเซปพลัสเข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในส่วนของสายด่วน สปสช.1330 หลังจากวันที่ 1 ก.ค.2565 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องโทร.แจ้งแล้ว แต่หากมีข้อสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไร โทร.มาสอบถามขั้นตอนได้ หรือหากมีอาการแย่ลงจะต้องทำอย่างไรต่อ หรือประสานหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลโทรมาได้เช่นกัน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่า สปสช.ไม่ได้ลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันประชาชนไม่มีผลกระทบอะไร ทุกอย่างเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายใน (หลังบ้าน) เพียงแต่ต่อไปรัฐบาลไม่ต้องใช้งบกลางจัดการซื้อยาเวชภัณฑ์ แต่งบบริหารจัดการส่วนนี้ แต่ทางโรงพยาบาล (รพ.) จะดำเนินการเอง ภายใต้งบประมาณที่ได้รับจาก สปสช. ซึ่งมีเพียงพอ หากเจ็บป่วยอาการรุนแรงวิกฤตสีแดง ยังสามารถเข้ารับการรักษาที่ รพ.ได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะอยู่รอบตัวเราไปอีก 1-2 ปี โดยรูปแบบการติดเชื้อจะมี 2 ลักษณะ การติดเชื้อ Small Wave แพร่โรคอย่างอย่างเร็ว มีคนติดเชื้อจำนวนมาก แต่การระบาดไม่นานจบเร็ว 2 การติดเชื้อแบบ Slow Wave การติดเชื้อแบบช้าๆ พบคนติดเชื้อไม่มาก แต่กว่าจะยุติการติดเชื้อได้ต้องใช้เวลานาน ส่วนการเฝ้าระวังโรค สธ. จะดูยอดการรักษาในกลุ่มปอดอักเสบเป็นหลัก ซึ่งคาดการณ์ว่าตัวเลขการติดเชื้อจะอยู่ที่ 1-2 หมื่นต่อวัน แต่มั่นใจว่าถึงจะมีการติดเชื้อมาก แต่ไม่สั่นคลอนต่อระบบสาธารณสุข
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขมีการเตรียมความพร้อมสามารถรองรับได้ ทั้งเตียง แพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก รักษาสุขภาพให้แข็งแรง และปฏิบัติตามมาตรการ 2U คือ U ที่ 1 Universal Prevention คือ การป้องกันการติดโรค การเว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หากพบมีอาการน่าสงสัยควรตรวจหาเชื้อ และ U ที่ 2 Universal Vaccination คือ ขอความร่วมมือให้มารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 เป็นพื้นฐาน และฉีดเข็มกระตุ้นต่อไปทุก 4 เดือน เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ