"เวิลด์แบงก์" เคาะจีดีพีไทยปีนี้โต 2.9% อานิสงส์บริโภคภาคเอกชน-ท่องเที่ยวฟื้นตัว ลุ้นต่างชาติทะลัก 6 ล้านคน มองเงินเฟ้อทะยานแค่ชั่วคราว สิ้นปีพุ่งแตะ 5.2% ห่วงครัวเรือนยากจนหนักสุด แนะนโยบายการคลังปรับตัว เน้นช่วยเหลือตรงจุด ลุยเพิ่มรายได้ เชื่อปีหน้าดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากแรงกระตุ้นเกี่ยวกับการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังจากมีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยประมาณ 6 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของจำนวนนักท่องเที่ยวในครึ่งปีแรก และเพิ่มเป็น 15 ล้านคนในปี 2566 ก่อนจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคนในปี 2567 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 4/2565 ทำให้คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2565 จะขยายตัวที่ 2.9% และปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 4.3% ส่วนปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.9%
สำหรับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงของโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาระบาดอีกระลอก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว โดยเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 12% ต่อจีดีพี ดังนั้นประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมด้วยการลงทุนด้านระบบสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันสถานะด้านสาธารณสุขของไทยจะแข็งแกร่งแล้ว แต่ก็ยังมีบางจุดที่ต้องพัฒนา โดยเฉพาะจำนวนแพทย์ต่อจำนวนประชากร ซึ่งหากพัฒนาตรงนี้ได้ก็จะรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยในเดือน พ.ค. อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.1% ทะลุกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% ไปแล้ว และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 13 ปี ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาสินค้า แต่เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ายังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มพลังงานและอาหาร ไม่ได้ปรับขึ้นในทุกหมวดสินค้า ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจึงไม่ได้เป็นแบบยั่งยืน จะค่อยๆ ลดระดับลงมาอยู่ที่ 2.2% ในปี 2566 จากปีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 5.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.3% ตามคาดการณ์ราคาน้ำมันในประเทศที่จะยังคงสูงขึ้นจนถึงปี 2567 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบกับครัวเรือนยากจนเป็นหลัก ทำให้มีค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารและน้ำมันเยอะขึ้น โดยมีการประเมินว่าหากมีการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและน้ำมัน 10% จะส่งผลให้ครัวเรือนมีความยากจนมากขึ้น 1.5 เท่า
“เงินเฟ้อคือความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทย แต่ยังอยู่ในระดับที่ยังรับมือได้ เนื่องจากว่าไทยมีเครื่องมือทางการคลังเพียงพอที่จะรับมือ แต่ที่ผ่านมาวิธีรับมือกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นของไทย คือ การควบคุมราคาสินค้า ซึ่งมีผลระดับหนึ่ง แต่มองว่าไม่ใช่มาตรการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และไม่ได้ยั่งยืน เพราะไม่ได้มีการจัดสรรมาตรการให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับประโยชน์ จึงควรพิจารณาเครื่องมืออื่นควบคู่ไปด้วย” นายเกียรติพงศ์ระบุ
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสเวิลด์แบงก์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ยังมีความท้าทายจากนโยบายภาคการคลังที่ต้องติดตาม หลังจากช่วงโควิด-19 ไทยได้ออกมาตรการเยียวยาจำนวนมาก ผ่านการออกกฎหมายกู้เงินพิเศษเพื่อประคองเศรษฐกิจ ถือว่าไทยทำได้เร็วและทำได้ดี แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว จำเป็นต้องปรับนโยบายจากการเยียวยาสู่การฟื้นฟู ทำให้การใช้จ่ายภาคการคลังลดลง ส่งผลให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลังเยอะขึ้น ซึ่งการกู้เงินในช่วงที่ผ่านมาทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 10% จากระดับ 49% มาเป็น 61% ขณะเดียวกันมองว่าการกู้ยืมใหม่ของรัฐบาลน่าจะหมดไปเพราะเข้าสู่การฟื้นตัว โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยจะพุ่งสู่จุดสูงสุดที่ 62.5% ต่อจีดีพีในปีงบประมาณ 2566
ทั้งนี้ เห็นว่านโยบายภาคการคลังควรมีการปรับตัว มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มรายได้ทางการคลังให้มากขึ้นเพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลัง การปรับนโยบายที่เน้นช่วยเหลือครัวเรือนที่ได้ผลกระทบอย่างแท้จริง เน้นนโยบายที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบางให้ได้รับความคุ้มครองทางสังคม จะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางการคลังมากขึ้น และเพิ่มพื้นที่ในการลงทุนของภาครัฐ ส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
สำหรับระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่สูงขึ้น ขณะที่มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้กู้ที่รัฐบาลดำเนินการอาจบดบังสินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งมีแนวโน้มจะเปิดเผยออกมาหลังสิ้นสุดมาตรการในปี 2565 ทำให้มีความเสี่ยงที่หนี้ครัวเรือนจะสูงกว่าระดับ 90% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564
อย่างไรก็ดี มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สามารถเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในเร็วๆ นี้ แต่ควรเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยหากมีการปรับขึ้นในทุกรอบของการประชุม กนง. ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะสามารถกลับสู่อัตราใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยปกติได้ในปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยค่อนข้างฟื้นตัวได้ดีขึ้น
“เป้าหมายสำคัญของนโยบายการเงิน คือการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นหากจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ต้องดูว่าทำอย่างไรไม่ให้กระทบกระเทือนกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงควรมีการปรับในอัตราที่ค่อยเป็นค่อยไป ให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยภาพเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1/2565 ส่วนไตรมาส 2/2565 อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครนเยอะ แต่ภาพรวมก็ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง” นายเกียรติพงศ์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ยอมนิกร พรบ.ประชามติ ไม่ใช่กม.การเงิน
“ชูศักดิ์” ลั่นเพื่อไทยเอาแน่ ค้าความปิดปากเอาคืน “ธีรยุทธ” แต่ไม่รู้เมื่อไหร่
ไฟเขียวไร่ละ1พัน10ไร่ ตรึงค่าไฟฟ้าราคาน้ำมัน
ชาวนาเฮ! นบข.ไฟเขียวช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จ่อชงเข้า ครม.สัญจรเชียงใหม่ 29 พ.ย.นี้
อวยทักษิณชนะนายกอบจ.
"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา
กรมที่ดินท้ารฟท.พิสูจน์เขากระโดง
กรมที่ดินยืนยัน ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง ยึดตาม กก.สอบสวน มาตรา 61
ตร.เชียงรายรวบ‘สามารถ’ ‘เมีย-ลูก’หมอบุญนอนคุก
"ผบ.ตร." นั่งไม่ติดตั้ง "พล.ต.อ.ธนา" คุมสอบสวนคดี "หมอบุญ"
ม็อบเสื้อเหลืองคืนชีพ ‘สนธิ’นัดบุกทำเนียบฯ2ธค. ‘อ้วน’หวั่นซํ้ารอยปิดเมือง
"ภูมิธรรม" ไม่กังวล "สนธิ" ปลุกม็อบลงถนน เป็นสิทธิตาม รธน.