รับลูก‘ชัชชาติ’ เช็กหม้อแปลง ดูแลสายเคเบิล

ผู้ว่าฯ กทม.ถกร่วม "กฟน.-กปน.-บช.น." พร้อมขยาย "ทราฟฟี่ ฟองดูว์" รับเรื่องร้องเรียนได้ทันที ช่วยแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น ชี้ กฟน.ต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนหลังเหตุหม้อแปลงระเบิด ด้านผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน.  แนะ ปชช. เมื่อเจอเหตุน้ำมันไหล-เสียงดังรบกวนจากหม้อแปลงให้แจ้งสายด่วน 1130  "รมว.ดีอีเอส" เร่งนำสายสื่อสารลงใต้ดิน รับงบ 2 หมื่นล้านถือว่าสูงมาก อาจให้ กสทช.เข้ามาช่วย  

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังหารือความร่วมมือด้านต่างๆ กับตัวแทนการประปานครหลวง (กปน.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ว่าวันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีทาง กปน., กฟน. และตำรวจที่ดูแลสายด่วน 191 โดยต่อเนื่องมาจากแพลตฟอร์มทราฟฟี่ ฟองดูว์ ที่ กทม.นำมาใช้

 “ช่วงแรกทราฟฟี่ ฟองดูว์ จะประสานงานกันภายในหน่วยงานสังกัด กทม. สำนัก และสำนักงานเขต ทำให้ช่วยแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น แต่จากนี้ ถึงเวลาที่จะเลื่อนไปอยู่นอก กทม.แล้ว เพราะการให้บริการของ กทม.มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้เลยมีการเชิญหน่วยงานเบื้องต้นที่มีความเกี่ยวข้องมากๆ เข้ามาดูเรื่องร้องเรียนได้ทันที และเราก็ได้ให้คนพัฒนาระบบให้หน่วยงานเหล่านี้มีรหัสเข้ามาดูเรื่องของตัวเองได้เลย” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการดูแลปัญหานั้น กทม.จะรับเรื่องเข้ามา และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะมีการแบ่งเขตการดูแลที่ต่างกันออกไป จะมีการตั้งผู้ประสานงานในแต่ละหน่วย เพราะบางเรื่องเทคโนโลยีอาจจะแก้ไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกันเฉพาะเรื่อง เช่น กปน. อยากทำจุดน้ำดื่มให้ประชาชน ซึ่งตรงนี้เมื่อก่อนเราเคยมีอยู่ 400 จุด แต่รื้อทิ้งหมดแล้ว จากนี้จะตั้งคณะทำงานมาหารือร่วมกัน โดยให้นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.เป็นผู้ดูแล

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า อีกเรื่องคือ เรื่องของสายสื่อสาร ที่ข้างบนมีเยอะแล้ว แต่ใต้ดินมีเยอะกว่าอีก โดยจะมีการไปคุยเรื่องสายสื่อสาร ลดจำนวนสายและเอาลงดิน ส่วน กฟน.มีเรื่องหม้อแปลงซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ประเด็นสำคัญคือการสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าหม้อแปลงต่างๆ ยังอยู่ในมาตรฐานที่ใช้ได้ ทั้งนี้ กทม.พร้อมจะร่วมมือกับ กฟน.อย่างเต็มที่ โดยพยายามจะกำหนดจุดและรายงานว่ามีปัญหาที่จุดไหน แต่ปัจจัยที่สำคัญคือ สายสื่อสาร ที่มีชนวนทำให้ไฟลุกลามไปได้ กทม.จะช่วยตัดสายสื่อสาร และส่วนไหนที่เอาลงดินได้ก็จะเอาลงดิน

ด้านนายเดชา วิริยะเจริญกิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า รูปแบบการจ่ายไฟมี 2 ส่วน คือระบบเน็ตเวิร์ก ที่หม้อแปลงอยู่ในเมืองประมาณ 400 ลูก ปกติจะบำรุงรักษาปีละ 1 ครั้ง แต่จากนี้จะเพิ่มความถี่เป็น 6 เดือนครั้ง ขณะเดียวกันจะมีการระดมพลไปตรวจสอบทั้งหมด ขอความร่วมมือประชาชน หากพบเห็นหม้อแปลงมีน้ำมันไหล หรือได้ยินเสียงดัง รบกวนแจ้งเข้ามาที่ กฟน.ด้วยเพราะสายอาจจะขาดและเป็นอันตรายต่อประชาชน โดยประชาชนสามารถโทรศัพท์เข้ามาที่สายด่วนเบอร์ 1130

เมื่อถามถึงกรณีการเยียวยาผู้ประสบภัยจากกรณีไฟไหม้สำเพ็ง นายเดชากล่าวว่า กฟน.ยืนยันว่ามีการเยียวยาเบื้องต้น ส่วนการชดเชยต้องรอผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์สาเหตุโดยละเอียดก่อน และ กฟน.พร้อมเยียวยาอย่างเต็มที่

นายชัชชาติกล่าวเสริมว่า ส่วนการเยียวยานั้นเป็นไปตามข้อกฎหมาย ถ้าเป็นความผิดของหน่วยงาน ตนเชื่อว่าหน่วยงานจะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งกทม.ต้องให้ฝ่ายโยธาไปตรวจสอบทรัพย์สินของทาง กทม.ด้วย ถ้าหากพบว่าเสียหาย ก็จะมีการเรียกร้องไปยัง กฟน.ด้วยเช่นกัน

เมื่อถามว่า ประเด็นเรื่องการใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้านในการนำสายสื่อสารลงดิน นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นตัวเลขที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) เคยทำไว้ ซึ่งจำนวนนี้มองว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก บางครั้งเรื่องเร่งด่วนอาจไม่ใช่การนำสายไฟลงดิน แต่คือการตัดสายตาย เพราะสายส่วนมากเป็นสายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งการตัดสายตายก็จะช่วยลดภาระ และอาจไม่ได้ใช้เงินมากด้วย อาศัยความร่วมมือ แต่ตามหลักที่ผ่านมาเราตัดเองไม่ได้ เพราะถ้าตัดแล้วเกิดความเสียหายอาจจะโดนฟ้อง ก่อนจะนำสายลงดินทำให้สายเหลือน้อยก่อน ส่วนที่ก่อนหน้าที่มีนโยบายให้แต่ละเขตพื้นที่ตัดสายตายทิ้ง 20 กิโลเมตรนั้น จะเริ่มนำร่องในเส้นทางสำเพ็งต่อเนื่องเยาวราช

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที บริเวณปากซอยถนนสุขุมวิท 36   ว่า การจัดระเบียบสายสื่อสารเป็นนโยบายที่นายกฯ ผลักดันมาตลอด และเนื่องจากมีผู้ให้บริการสื่อสารหลายรายทำให้สายเหล่านี้มีเยอะ จึงจำเป็นต้องจัดระเบียบ และค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งมาจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.)  ซึ่งในปีนี้จะมีประมาณ 39 จุดที่ดำเนินการ รวมเส้นทางกว่า 100 กม. ซึ่งการลงพื้นที่ของตนเป็นการเร่งรัดดำเนินการและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าเราดำเนินการอยู่ หากใครเห็นจุดใดที่มีปัญหาสามารถแจ้งได้มาที่ กสทช. หรือดีอีเอส

"ถ้าดำเนินการทั้งหมดต้องใช้เวลาหลายปี จึงต้องค่อยๆ ทำ เพราะเป็นเรื่องงบประมาณและกำลังคน แต่จะเร่งให้เร็วที่สุด นอกจากนี้สิ่งที่เราทำอยู่คือการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินในถนนสายหลัก เช่น ถ.สุขุมวิท หรือในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว ก็จะทำไปเรื่อยๆ ซึ่งมีการประเมิน ถ้าจะทำทั้งกรุงเทพฯ ต้องใช้งบประมาณ ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงถ้าลงทุนและเก็บค่าใช้จ่ายจากเอกชนเจ้าของสายสื่อสารจะเป็นภาระที่จ่ายไม่ไหว ทำให้โครงการดำเนินการเท่าที่ควร ซึ่งผมจะลงไปแก้ปัญหาตรงนี้ อาจจะให้กสทช.เข้ามาช่วย และที่ผ่านมา กสทช. ได้ให้งบประมาณจัดระเบียบสายสื่อสารมาบางส่วน และต้องทำงานร่วมกับกทม. เพราะต้องใช้พื้นที่ทางเท้าของกทม.ด้วย โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด" นายชัยวุฒิกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง