"ชวน" บรรยาย “90 ปี รัฐสภาไทย” ชี้ ปชต.ล้มลุกคลุกคลาน แต่ที่อยู่ได้ส่วนหนึ่งมาจากสถาบัน ระบุคนไทยรับไม่ได้เปลี่ยนเป็นระบอบอื่น กรีดยุค "ทักษิณ" สร้างวิกฤตชายแดนใต้ มี รมต.ติดคุกมากที่สุด อย่าให้ 100 ปีข้างหน้ามาทำลายสถิติ "2 อดีต ปธ.รัฐสภา" ผิดหวัง รัฐสภาไทยยังไม่ถึงเป้าหมายทำงานเพื่อปชช. “อภิสิทธิ์” ฉะนายกฯ หนีตอบกระทู้ ถามบริหารเวลา 1-2 ชั่วโมงยังไม่ได้จะบริหารประเทศได้อย่างไร
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน รัฐสภาจัดเสวนาวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภา โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บรรยายพิเศษเรื่อง “90 ปี รัฐสภาไทย การเดินทางและความหวัง” ความตอนหนึ่งว่า กระบวนการประชาธิปไตยไม่ได้ราบรื่น ล้มลุกคลุกคลาน มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะบางสมัยระบบนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง บางสมัยมาจากการแต่งตั้ง
นายชวนกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เราคิดว่าดีในที่สุดก็มีปัญหา เพราะการเมืองเข้าไปแทรกแซง ดังนั้น บางเรื่องจึงไม่ได้เกี่ยวกับตัวกฎหมาย อย่ามองเป็นเรื่องข้อบกพร่องรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่สำคัญคือพฤติกรรมของคนใช้รัฐธรรมนูญ หลายครั้งที่เกิดวิกฤตมาจากพฤติกรรมของตัวบุคคล ตัวอย่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดวิกฤตจนถึงทุกวันนี้ คือการที่ผู้บริหารใช้วิธีการบริหารด้วยการเลือกปฏิบัติ และใช้วิธีการนอกหลักนิติธรรม ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือปัญหาภาคใต้ที่ยังเกิดปัญหาจนทุกวันนี้ เกิดจากความผิดพลาดของบุคคลที่มาจากระบบการเลือกตั้ง แต่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตยในการบริหาร ไปใช้หลักนอกนิติธรรม นั่นคือนโยบายวันที่ 8 เมษายน 2544 คือวันที่เริ่มนโยบายเกิดวิกฤตในภาคใต้ เป็นนโยบายเก็บฆ่าทิ้ง เป็นเหตุการณ์วิกฤตใน 90 ปีที่เราไม่เคยสูญเสียขนาดนี้ ทำให้ทุกวันนี้รัฐบาลต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาทในการแก้ปัญหา ซึ่งปัญหายังไม่จบ
“วิกฤตรุนแรงที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงประเทศมีไม่มาก นอกจากเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องอื่นเราก็สามารถแก้ปัญหากันได้ ความมั่นคงในระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงมาจนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมีความผูกพันกับสถาบัน และรับไม่ได้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบอื่น” นายชวนกล่าว
นายชวนกล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองน่าเป็นห่วง อดีตความรุนแรงมีอยู่บ้าง แต่ไม่มีการซื้อเสียง อย่างดีคือเลี้ยงเหล้า แต่ตอนนี้ไม่มีใครพูดเรื่องเลี้ยงเหล้าแล้ว เป็นเรื่องธุรกิจการเมือง คำว่าเสียงสามร้อย ห้าร้อย แปดร้อย สมัยก่อนไม่มี นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง ซึ่งต้องเอาทุนคืน เป็นที่มาของการทุจริตโกงกิน ช่วงที่เกิดวิกฤตต่อตำแหน่งรัฐมนตรี นักการเมือง มากที่สุดคือช่วงตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา
"ไม่มียุคใดที่มีรัฐมนตรีติดคุกมากเท่าช่วงนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความเชื่อเรื่องการหาผลประโยชน์ และความไม่เชื่อเรื่องหลักนิติธรรม การปกครองด้วยหลักคุณธรรม ถือเป็นบทเรียนสำคัญมาก เราต้องไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้มาทำลายสถิติ 100 ปีข้างหน้าอย่ามาทำลายสถิติคนติดคุก นี่คือวิกฤตของบ้านเมืองอันเกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต" นายชวนกล่าว
ต่อมามีการเสวนา หัวข้อ “90 ปี รัฐสภา การเดินทางและความหวัง” โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภาและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและอดีตประธานสภา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาร่วมเสวนา
โดยนายวันมูหะมัดนอร์กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนเข้ามาในรัฐสภาตั้งแต่ปี 2522 โดยได้เป็นประธานรัฐสภาในปี 2539 ทำงานเกี่ยวเนื่องกับรัฐสภามาปีนี้ก็ 43 ปีแล้ว แต่คิดว่าเรายังเดินทางไม่ถึงเป้าหมายและไม่ถึงความฝัน นอกจากนี้ยังรู้สึกผิดหวังลึกๆ ในบทบาทของรัฐสภา ที่ควรจะเป็นสภาของประชาชนและเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ต้องเป็นสภาที่ได้เลือกผู้บริหารประเทศอย่างแท้จริง และทำเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้
"ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานของรัฐสภาคือ เราถูกเตะตัดขาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะมีขุนศึกบวกนายทุน และอำนาจนิยมที่ชอบในอำนาจ ซึ่งวันนี้เราก็ยังไม่พ้นวังวนนี้ จนเราได้รัฐบาลที่มาจากการก่อเหตุนี้ ที่ต้องมาคอยดูแลขุนศึกและนายทุน จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน เราจึงต้องสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยให้ประชาชน และสร้างความรู้สึกนึกคิดว่า การปฏิวัติเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะประชาธิปไตยที่กินได้ไม่ได้เกิดจากรัฐประหาร" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
ด้านนายโภคินกล่าวว่า 90 ปี รัฐสภา คือ 90 ปีประชาชนบนเส้นทางประชาธิปไตย ตนผิดหวังพอสมควร เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 40 นั้นตกผลึกที่สุด อีกทั้งตอนนี้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ระบุว่าคนไทยจะพ้นกับดักความยากจน แต่ตอนนี้หนี้ครัวเรือนมีกว่า 90% และยังคงมีหนี้ภาครัฐอีก แต่เชื่อว่าประเทศเรายังมีโอกาส อีก 10 ปีจะครบ100 ปีรัฐสภา เราจะมีมาตรการทางกฎหมายป้องกันการทำรัฐประหารอย่างไร ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร พวกเราที่มาจากประชาชนมีจำนวนน้อยมากที่จะลุกขึ้นสู้กับรัฐประหาร ด้วยการไปฟ้องศาลว่าการยึดอำนาจนั้นผิดกฎหมาย เพราะช่วงแรกพวกยึดอำนาจไม่กล้านิรโทษกรรมตนเอง แต่ปัจจุบันมีการยืนยันออกกฎหมายในรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมให้ตนเอง อยากให้ผู้ที่มาจากประชาชนทุกคนลุกขึ้นสู้กดดันศาล อย่าให้คนทำลายประชาธิปไตยกลับมาสร้างประชาธิปไตยใหม่ เพื่อให้เส้นทางรัฐสภามีความสง่างาม
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การรัฐประหารไม่ควรจะเป็นคำตอบให้กับเรื่องใดๆ ขณะนี้เรายังไม่มีวัฒนธรรมเหมือนกับประเทศประชาธิปไตย ที่มีระบบรัฐสภาที่ทำให้ฝ่ายบริหารเคารพฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดวิวาทะนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา ตำหนินายกฯ ไม่มาตอบกระทู้ นายกฯ บอกว่าแรงไปหรือไม่ ขอบอกว่ารองประธานสภาพูดเบาเกินไป และอยากให้นายกฯ ตระหนัก ถ้าไปดูประเทศที่ใช้การปกครองระบบรัฐสภา ผู้นำประเทศต้องถืองานสภาโดยเฉพาะตอบกระทู้เป็นอันดับหนึ่ง ไม่มีข้ออ้างที่จะมาตอบกระทู้ไม่ได้ เพราะทราบอยู่แล้วว่ากระทู้ถามสดเกิดขึ้นวันไหน เวลาใด ถ้าบริหารจัดการเวลา 1-2 ชั่วโมงไม่ได้ จะบริหารประเทศอย่างไร การมาตอบกระทู้ไม่ใช่เป็นเรื่องเทคนิคเหมือนที่นายกฯ กล่าวไว้ แต่การมาตอบเพื่อให้เจ้าของประเทศรับทราบถึงหลักคิดบริหารประเทศ
“นักการเมืองความรับผิดชอบทางการเมืองสูงกว่ากฎหมาย ถ้าปล่อยให้เกิดเรื่องอื้อฉาว ไม่มีความรับผิดชอบ เราจะไม่พ้นภาพลักษณ์แย่ของนักการเมือง ความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่งไม่ได้แปลว่าผิด แต่เป็นการรักษากระบวนการทางการเมืองให้เดินต่อได้และรักษาศรัทธา แต่ของเรามีแต่บอกว่าให้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย หลงทางกระทั่งให้ศาลวินิจฉัยจริยธรรม ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ว่า นายอภิสิทธิ์เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ย่อมเข้าใจดีว่าภารกิจของท่านนายกฯ ในแต่ละวันนั้นมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อใดที่ท่านนายกฯ ไม่ติดภารกิจ ท่านก็พร้อมไปชี้แจงต่อสภาอยู่แล้ว ที่ผ่านมาฝ่ายค้านก็ตั้งใจที่จะถามเพียงท่านนายกฯ คนเดียว ซึ่งหากท่านนายกฯ ต้องมาตอบทุกกระทู้ และตอบทุกเรื่องแทนรัฐมนตรีทุกคนนั้น แล้วท่านจะเอาเวลาไปบริหารประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างไร จึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและรับทราบข้อเท็จจริงในนโยบายเหล่านั้นเป็นอย่างดีให้มาตอบกระทู้แทน
“นายอภิสิทธิ์ในสมัยที่เป็นนายกฯ เคยมีการนำเสนอข่าวว่า สภามีการตั้งกระทู้ถามสดกว่า 160 กระทู้ โดยถามไปยังคุณอภิสิทธิ์ถึง 113 กระทู้ ขณะที่คุณอภิสิทธิ์มาตอบประมาณ 53 กระทู้ ดังนั้นท่านก็น่าจะทราบเหตุผลดีว่าท่านนายกฯ ไม่สามารถมาตอบทุกกระทู้ได้เพราะอะไร หากคุณอภิสิทธิ์ซึ่งเคยถูกโจมตีเป็นข่าวครึกโครมว่าอาจจะหนีเกณฑ์ทหารนั้น แต่ยังสามารถบริหารประเทศได้ ท่านนายกฯ ที่เป็นชายชาติทหาร เด็ดขาดกับการทุจริตคอร์รัปชัน ก็ย่อมสามารถบริหารประเทศได้เช่นกัน” นายธนกรกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ