ปลัด สธ.คาด "โควิด" ในไทยพ้นระบาดใหญ่ตามแผน 1 ก.ค. ยังติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ได้แต่อยู่ในการควบคุม ส่วนโรคประจำถิ่นรอให้ WHO ประกาศ ย้ำ BA.4/BA.5 ยังไม่ชัดเจนแพร่เร็ว-รุนแรง แต่ต้องฉีดเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มภูมิ เผยมีคนไทย 16 ล้านคนอยู่ต่างประเทศอาจฉีดแล้วแต่ไม่มีรายงาน ขณะที่นายกฯ ชื่นชมนักวิจัยไทยพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์รับมือโควิด-19 ลดการนำเข้า เสริมศักยภาพประเทศสู่ Medical Hub
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,735 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,734 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,734 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,138 ราย อยู่ระหว่างรักษา 22,895 ราย อาการหนัก 610 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 286 ราย
ทั้งนี้ เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 15 ราย เป็นชาย 6 ราย หญิง 9 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 14 ราย มีโรคเรื้อรัง 1 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,515,890 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,462,388 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,607 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 549,002,912 ราย เสียชีวิตสะสม 6,350,864 ราย
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการขับเคลื่อนโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นหลังวันที่ 1 ก.ค.ว่า เรื่องของโรคประจำถิ่นคงต้องรอให้องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้ประกาศ ส่วนประเทศไทยจะใช้ว่าเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) หัวใจสำคัญคือ การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว และโรคลดความรุนแรงลง ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และไม่ใช่ว่าหลังวันที่ 1 ก.ค.นี้จะไม่มีโรคแล้ว ก็จะมีเป็นคลื่นเล็กบ้างใหญ่บ้าง อาจเป็นคลัสเตอร์เล็ก ปานกลาง หรือใหญ่ แต่ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และมีระบบเฝ้าระวังและเตรียมการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ การฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ก็ต้องดำเนินการตลอด ซึ่งก็ดีขึ้นขณะนี้ฉีดสะสมเกือบ 140 ล้านโดสแล้ว ประชาชน 60 ล้านคนได้ฉีดเข็มแรกแล้ว
"บางทีเราก็หาคนฉีดไม่ค่อยได้ ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไร ซึ่งวันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่ามีคนไทย 16 ล้านคนอยู่นอกประเทศ บางทีอาจจะได้ฉีดอยู่ข้างนอกประเทศแล้ว อาจจะไม่ได้รายงาน เราก็พยายามทำตัวเลขให้ใกล้เคียงที่สุด นอกจากนี้กรมควบคุมโรคยังรายงานว่า สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กเล็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปถึง 5 ปี ซึ่งจะมีการหารือเวลาและรูปแบบการฉีดที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นสถานพยาบาล เพราะเด็กเล็กต้องมีการตรวจติดตามอยู่แล้ว โดยมีการเตรียมวัคซีนไว้แล้ว หากได้รับการอนุมัติจาก อย.ก็จะมีการฉีดในเด็กกลุ่มนี้เพิ่มเติมต่อไป" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ถามย้ำว่า วันที่ 1 ก.ค.จะประกาศเป็น Post-Pandemic ใช่หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิตอบว่า ก็คงเป็นไปตามแผน แต่อย่างที่บอกว่าไม่ใช่จะไม่มีโรค แต่จะมีการติดเป็นคลัสเตอร์บ้าง แต่ไม่มีคลัสเตอร์ใหญ่ๆ คนติดเป็นล้าน เกิดคลัสเตอร์แล้วลดลงไปเช่นนี้เป็นคลื่นเล็กๆ และโรคไม่รุนแรงอยู่ในการควบคุม คือความหมาย Post-Pandemic ของเรา ส่วนเรื่องสิทธิการรักษารัฐบาลก็ดูแล สิทธิกองทุนต่างๆ ก็ครอบคลุมอยู่แล้ว โดยจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ต่อไป
เมื่อถามถึงคนเริ่มกังวลถึงสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แต่ขณะนี้มีการอนุญาตให้ถอดหน้ากากตามความสมัครใจ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ไม่ได้เพิ่งเจอตอนนี้ สธ.โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการวางระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ โดยพบตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ก็ผ่านมา 3 เดือนแล้ว เคสก็เพิ่มขึ้นบ้าง ปัญหาที่เรากังวลว่าโรคจะแพร่เร็วจนเราควบคุมไม่ได้ใช่หรือไม่ และทำให้เกิดอาการหนักขึ้นจนมีคนป่วยหนักเข้า รพ.มากหรือไม่ ซึ่งเราเฝ้าระวังอยู่ ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีลักษณะนั้น
"บางคนคิดว่าฉีด 3 เข็มจะเพียงพอ แต่จริงๆ ถ้าถึงระยะเวลาที่แนะนำ คือ 4 เดือนควรมาฉีดซ้ำ เพราะวัคซีนเมื่อเราไปดูคนที่ป่วย BA.4/BA.5 ถ้าใช้วัคซีนบูสเตอร์อาการเจ็บป่วยน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ก็ชัดเจนว่าวัคซีนยังได้ผลป้องกันอาการหนักและเสียชีวิต" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ต้องรอไฟเซอร์และโมเดอร์นามาขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมเพื่อฉีดในกลุ่มอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการมายื่นขอขยายอายุการฉีดเพิ่มเติม แต่หากยื่นเรื่องเข้ามาแล้วก็สามารถพิจารณาได้ทันที โดยขนาดที่ใช้ในกลุ่มอายุ 6 เดือนขึ้นไปจะน้อยกว่าวัคซีนที่ใช้ในเด็กอายุ 5-11 ปี
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค และสร้างความมั่นคงในระบบสาธารณสุข พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ติดตามผลงานการคิดค้นของคนไทยอย่างใกล้ชิด และล่าสุดได้แสดงความชื่นชมต่อนักวิจัยที่ได้พัฒนาผลงานนวัตกรรมด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ การวินิจฉัยและการดูแลรักษา ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนในภาพรวมกว่า 3 พันล้านบาท
นางสาวรัชดากล่าวว่า ตัวอย่างผลงานมีดังนี้ 1.เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง (High Flow Nasal Cannula-HFNC) มีต้นทุนการผลิตเครื่องละประมาณ 50,000 บาท ในขณะที่หากนำเข้าราคาเครื่องละ 200,000-250,000 บาท จึงทำให้ประเทศลดการนำเข้าได้สูงถึง 150,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง ปัจจุบันมีการส่งมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 500 เครื่อง ช่วยลดการนำเข้าและลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐกว่า 75 ล้านบาท เป็นผลงานวิจัยโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และบริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด
2.ชุดตรวจโควิดด้วยวิธีแลมป์เปลี่ยนสี (RT-LAMP) นำไปติดตั้งใช้งานที่ด่านคัดกรองโรคที่สนามบินและโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งการตรวจคัดกรองแบบเร็วนี้ ให้ผลภายใน 1 ชั่งโมง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการคัดกรองโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป มีการส่งมอบให้หน่วยงานภาครัฐและจัดจำหน่ายไปแล้วกว่า 260,000 ชุด มูลค่าประมาณ 65 ล้านบาท เป็นผลงานวิจัยโดยบริษัท Startup “Zenostic” มหาวิทยาลัยมหิดล
3.ชุดตรวจ COVITECT-1 ด้วย Real-Time RT-PCR ผ่านมาตรฐานสากล มีการส่งมอบชุดตรวจให้ภาครัฐมากกว่า 500,000 ชุด และส่งมอบให้ประเทศสมาชิกในอาเซียนจำนวน 80,000 ชุด รวมถึงได้มีการจำหน่ายให้ห้องปฏิบัติการและโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยในปี 2564 มียอดขายประมาณ 190 ล้านบาท เป็นผลงานวิจัยโดยความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
4.หลอดเก็บเลือดอินโนเมด ปัจจุบันหลอดเก็บเลือดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีปริมาณการใช้งานสูง ผลิตภัณฑ์นี้พัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าและสามารถส่งออกต่อไปได้ โดยได้รับการออกแบบการใช้งานทดแทนการใช้หลอดเก็บเลือดจาก 2 หลอด เหมาะกับผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องเจาะเลือดบ่อยๆ และผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านการรับรองที่ได้มาตรฐานอย่าง ISO 13485 แล้ว หากมีการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ผลิตขึ้นเองนี้จะช่วยลดการนำเข้าหลอดเก็บเลือดในแต่ละปี คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 2,700 ล้านบาท ผลงานวิจัยโดย ผศ.ดร.วันวิสาข์ ตรีบุพชาติสกุล มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัท วี เมด แล็บ เซ็นเตอร์ จำกัด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน