ศบค.รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ 2.2 พันราย เสียชีวิต 16 ราย สธ.แจงโอมิครอน BA.4-BA.5 ยังไม่มีข้อมูลความรุนแรง ย้ำวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน นายกฯ ชื่นชมคนไทยส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญและเห็นประโยชน์การสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยด้วยความสมัครใจ
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,236 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,235 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,235 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,892 ราย อยู่ระหว่างรักษา 22,786 ราย อาการหนัก 602 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 281 ราย
เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 16 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 5 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ราย มีโรคเรื้อรัง 1 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,511,777 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,458,416 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,575 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 548,226,324 ราย เสียชีวิตสะสม 6,349,418 ราย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อความทางสื่อโซเชียลว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตา 5 เท่า และมีอัตราเสียชีวิตสูง ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่มีหลักฐานและแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลต่อข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แม้องค์การอนามัยโลกจะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวัง (VOC lineages under monitoring: VOC-LUM) เนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่ามีความรุนแรงมากขึ้น
อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยว่าสถานการณ์ของทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ องค์การอนามัยโลกให้ความเห็นว่าต้องเฝ้าระวัง BA.5 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อย ยารักษาตอบสนองน้อยลง แต่ยังสรุปไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม ขณะที่ฐานข้อมูลโลก GISAID พบ BA.5 สะสม 31,577 ตัวอย่างใน 62 ประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% ส่วน BA.4 พบสะสม 14,655 ตัวอย่าง แนวโน้มลดลงจาก 16% เหลือ 9%
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับประเทศไทย มีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังพบ BA.4 และ BA.5 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงกว่าผู้ติดเชื้อในประเทศ และจะมีการศึกษาในผู้ป่วยอาการหนักว่ามีความสัมพันธ์กับ 2 สายพันธุ์นี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงนี้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ขอให้ยังคงมาตรการป้องกันตนเองที่เหมาะสม เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อทุกสายพันธุ์ นอกจากนี้ การที่ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ยังเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความจำเป็น เพราะจะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อและป้องกันอาการรุนแรงได้
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมคนไทยส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญและเห็นประโยชน์การสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยด้วยความสมัครใจ เพื่อประโยชน์ด้านสุขอนามัยของตนเองและผู้อื่น แม้จะมีการผ่อนคลายข้อกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 46 แล้ว ซึ่งหลักปฏิบัติตนแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ยังสามารถใช้ได้ทุกสถานที่ ทุกวัน เพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้ รัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ ด้วยความรอบคอบ รัดกุม เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ไปพร้อมๆ กับให้ประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เมื่อเวลา 22.16 น. วันที่ 24 มิ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อรับผู้เดินทางจากทั่วโลก การดำเนินการตามแผน และมาตรการจัดการด้านสาธารณสุขทั้งหลายนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-Pandemic ที่จะประกาศให้เป็นโรคติดต่อทั่วไป ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ โดยขอให้ประชาชนพิจารณาประโยชน์ในการสวมหน้ากากอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นประโยชน์ด้านสุขอนามัยในการป้องกันการแพร่เชื้อและการรับเชื้อทั้งเชื้อโรคโควิดและโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รวมทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงอื่นที่อาจมีผลกระทบที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (กรมอนามัย) จึงมีข้อแนะนำให้ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสถานที่หรือในพื้นที่แออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้หรืออากาศระบายถ่ายเทไม่ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อ กรณีเป็นผู้เข้าข่ายเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงหรือความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต (กลุ่ม 608) หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ กรณีเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่โรค
ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ โดยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการไว้
สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการได้ โดยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายกฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการไว้
สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ร้านทำเล็บ และร้านสัก สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย สถานที่ออกกำลังกาย ยิมหรือฟิตเนส สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
โรงมหรสพ โรงละคร การแสดงพื้นบ้าน หรือสถานที่ที่มีลักษณะเดียวกัน สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอบไอน้ำ อบสมุนไพร สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา ให้ดำเนินการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.256
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก