เพื่อไทยประกาศวางตัว 15 ขุนพล "ชลน่าน-สุทิน" นำทีม แต่อภิปรายนายกฯ กับอีก 5 รัฐมนตรีเท่านั้น เผยซักฟอกรัฐบาลหวังโกยคะแนนเลือกตั้งครั้งต่อไป "เรืองไกร" กัดไม่ปล่อย ยังยืนยันญัตติเถื่อน ประธานญาติวีรชนฯ แนะ "บิ๊กป้อม" เลิกส่งชื่อ "บิ๊กตู่" เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพื่อส่งสัญญาณเลิกค้ำจุน "ระบอบประยุทธ์"
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ที่ยื่นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรถูกต้องหรือไม่นั้นว่า ถูกต้อง เพราะญัตตินี้มีฉบับเดียวไม่ได้มีสองฉบับ และที่สำคัญคือนายชวน ได้บรรจุญัตตินี้เป็นวาระเร่งด่วนแล้ว เหลือเพียงแค่จะนัดประชุมวิป 3 ฝ่ายว่าจะอภิปรายวันใดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าเป็นญัตติที่ถูกต้อง ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ลงชื่อครบทุกพรรคเพื่อยืนยันความถูกต้องของญัตติหมดแล้ว เซ็นชื่อไปอีกครั้งแล้ว โดยไม่มีใครเห็นแย้งกับญัตติที่ยื่นไป ฉะนั้นไม่ต้องสงสัย ญัตตินี้ถูกต้องแน่นอน
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่หากหลังจากนี้จะมีคนไปยื่นร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบว่าญัตติที่ยื่นชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 นายประเสริฐกล่าวว่า ไม่มีความกังวล เพราะเรื่องนี้ไม่ควรไปยื่น ป.ป.ช. มันเป็นเรื่องของแค่สภา เป็นเรื่องที่ประธานสภาฯ ต้องวินิจฉัย และเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ที่สภา
เมื่อถามถึงการเตรียมความพร้อมในการอภิปราย พรรค พท.เตรียมขุนพลไว้กี่คน นายประเสริฐกล่าวว่า ตอนนี้มี 15 คน แต่อาจจะมีเพิ่ม เพราะมีพี่น้องประชาชนส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ทางไปรษณีย์ ซึ่งตนรับเรื่องมา 3-4 ราย และต้องนำมาดูว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร ซึ่งอาจจะต้องมีคนอภิปรายเพิ่มประมาณ 2-3 คน ส่วนเบื้องต้นตนอยากได้เวลาอภิปรายจำนวน 5 วัน โดยเป็นช่วงวันที่ 18-22 ก.ค. และลงมติในวันที่ 23 ก.ค. เพราะมีเนื้อหาพอสมควร รับรองว่าไม่เอาแต่น้ำ เราเอาแต่เนื้อๆ เราพยายามจะบริหารเวลาให้กระชับที่สุดอยู่แล้วไม่ต้องห่วง
"ขณะนี้พรรคเพื่อไทยเตรียม ส.ส.สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรียบร้อย โดยใช้ ส.ส. 15 คน อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค, นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน โดยพรรคเพื่อไทย จะเจาะลึกอภิปรายนายกฯ และรัฐมนตรีอื่นอีก 5 คน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใครบ้าง ก็เชื่อว่าประชาชนที่ได้รับฟังการอภิปรายจะสามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้"
เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าจะการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นไปตามยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน ที่ฝ่ายค้านตั้งไว้ นายประเสริฐตอบว่า เรามีความมั่นใจว่าครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลสั่นสะเทือนได้ เพราะเมื่อดูจากข้อมูลแล้วมีหลายเรื่องหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุ่งตรงไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถยื่น ป.ป.ช.เพื่อเอาผิดต่อได้ โดยหลังจากอภิปรายจบก็จะมีการยื่นป.ป.ช.ต่อ
ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางหลังจากยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องตรวจสอบญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่าเถื่อนหรือไม่ และจะมีการยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือไม่ (ป.ป.ช.) ว่า จากที่ติดตามข่าว นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ ระบุว่านายชวนจะส่งหนังสือไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งการส่งหนังสือไปโดยให้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค เซ็นรับรองรายชื่อตามบัญชีแนบท้าย ต้องดูว่าหนังสือไปถึง ครม.อย่างไร และนายชวน บรรจุวาระอย่างไร หากไปรับรองรายชื่อเดิมให้เป็นรายชื่อของญัตติรัฐมนตรี (รมต.) 11 คน ตนจะร้องต่อ ป.ป.ช.ต่อ เพราะตนถือว่าไม่น่าจะทำได้
ยืนยันญัตติเถื่อน
นายเรืองไกรกล่าวว่า เจตนาเดิมของเขา เป็นญัตติที่ รมต.ที่ถูกอภิปรายมีจำนวน 10 คน ตามคำให้สัมภาษณ์ของนพ.ชลน่าน ซึ่งเมื่อมาเพิ่มเป็น 11 คน ก็ต้องเซ็นใหม่ตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้ไปรับรองว่าที่เซ็นของ 10 คนนำมาใช้สำหรับ 11 คนก็ได้ ซึ่งตนคิดว่าไม่ถูกต้อง และหลายคนเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ก็ต้องหาแนวทาง แต่หากดูตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่น่าจะเป็นญัตติที่ถูกต้อง เพราะเท่ากับญัตติ 11 คน แต่เดิมไม่มีคนเซ็นมา มีเฉพาะ นพ.ชลน่านเซ็นมา เพราะการเซ็นชื่อเสนอญัตติต้องอ่านและเซ็นชื่อว่าเห็นด้วย แต่นี่เป็นกรณีที่ให้เขาเซ็นลอย ซึ่งเมื่อนายชวนส่งหนังสือถึง ครม. เพื่อให้กำหนดวันอภิปรายกลับมายังสภา และต้องมีการบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน ตรงนี้จะเป็นเงื่อนไขที่ต้องให้ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบด้วย
ถามต่อว่า หากญัตติดังกล่าวไม่ถูกต้องจริง จะส่งผลอย่างไรบ้าง นายเรืองไกรกล่าวว่า หากไม่ถูกต้องก็จะเป็นญัตติที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ซึ่งต้องไปวินิจฉัยว่าการใช้ญัตติที่ไม่ชอบเข้าข่ายการจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ และเป็นความผิดตามมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ สำหรับคนที่เซ็นชื่อไปจะมีผลอะไรหรือไม่นั้น ฝ่ายค้านบางคนก็บอกว่าเขาเป็นผู้เสียหายไม่โต้แย้ง ซึ่งจะบอกว่าผู้ที่เข้าชื่อทั้ง 182 คนนั้นเป็นผู้เสียหายไม่ได้ เพราะคนที่เสียหายเป็นรัฐมนตรีที่ถูกเข้าชื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเขาต้องมาตอบญัตติที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีมุมที่ต้องมองเพื่อความเป็นธรรม
เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้สามารถยื่นใหม่ได้หรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า “นั่นเป็นสิ่งที่เรามีความเห็นไปว่าทำไมไม่ถอนทำให้ญัตติตกแล้วยื่นใหม่ ซึ่งมีข้อดีกว่าเยอะ แค่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ แก้วันที่เท่านั้นเอง ทำไมต้องไปดึงดันให้ต้องเป็นวันที่ 15 มิถุนายน ยื่นใหม่ แก้วันที่ใหม่ เข้าชื่อเข้ามาใหม่ ก็เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์แล้ว ของเดิมมันมีตำหนิ มันไม่บริสุทธิ์ ไม่รู้เพราะศักดิ์ศรีหรือเพราะอะไรผมก็ไม่เข้าใจ ของมันน่าจะแก้ไขให้มันง่ายขึ้น ไม่ต้องไปผิดแล้วผิดอีก หากไม่ถูกก็ต้องพร้อมให้เขาตรวจสอบ จะมาบอกว่าเรืองไกรหยุดได้แล้วมันไม่ถูกต้อง หากผมหยุดผมก็ทำตามคำร้องขอของฝ่ายค้านก็ไม่ใช่ เพราะเวลานี้ผมก็ไม่ได้ทำเพื่อเอาใจรัฐบาล เพราะผมไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ในฐานะแกนนำสภาที่ 3 กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศเวลานี้วิกฤตหนักมาก และยังคงมีแนวโน้มที่จะดำดิ่งลงไปอีก โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีฝีมือเพียงพอที่จะนำพาประชาชนพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้ พล.อ.ประยุทธ์มีแต่ข้ออ้างวาทกรรม วิกฤตซ้อนวิกฤต คือโควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย จึงทำให้ประเทศจมปลักอยู่กับปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่ความจริงประเทศมีวิกฤตซ้อนวิกฤตและซ้อนวิกฤต หรือวิกฤต 3 เด้ง ซึ่งวิกฤตที่ 3 และเป็นวิกฤตที่หนักที่สุดคือประเทศมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไร้ความรู้ความสามารถนั่นเอง
แนะ'บิ๊กป้อม'เลิกหนุน'บิ๊กตู่'
“เชื่อว่าประชาชนจะพร้อมสู้ไปด้วยกันเพื่อฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ แต่ไม่ใช่การสู้ไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ต่างหากที่ทำให้ประเทศต้องเจอวิกฤต 3 เด้ง จึงไม่สามารถหลอมรวมคนในชาติทุกภาคส่วนให้เป็นหนึ่งเดียวในการร่วมกันฝ่าฟันเพื่อให้ประเทศชาติพ้นวิกฤตได้”
นายอดุลย์กล่าวต่อว่า หากปล่อยให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำพาประเทศต่อไป ประเทศชาติจะเผชิญกับปัญหาสารพัดประชาชนจะเดือดร้อนแสนสาหัส จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เรียกประชุมพรรคพร้อมประกาศจุดยืนเลิกสนับสนุนการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้กลุ่มบุคคลต่างๆ ที่สยบยอม หรืออุ้มชู "ระบอบประยุทธ์" เลิกเป็นนั่งร้านสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไป หาก พล.อ.ประวิตรมีความกล้าหาญ และเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่อุ้มน้องรักขึ้นมาเป็นนายกฯ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว ก็เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหนทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้
ประธานญาติวีรชนฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเสนอของสภาที่ 3 คือ แก้ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรม เพราะการแก้ปัญหาน้ำมันแพงไม่ใช่แค่ค่าการกลั่น และให้จับตาดูว่า รมว.พลังงานและกลุ่มทุนจะตีกรรเชียงหนีเรื่องการส่งกำไรค่าการกลั่นอย่างไรนั้น ก็ปรากฏเป็นจริง คือทางกระทรวงพลังงานออกมาให้สัมภาษณ์ลักษณะซื้อเวลา อ้างว่ายังต้องเจรจากับทางกลุ่มโรงกลั่นต่อไปอีก และที่น่าเศร้าคือการออกมาแนะนำให้ประชาชนกลับไปใช้เตาอั้งโล่ อ้างว่าเพื่อการประหยัด นี่คือวิสัยทัศน์อันโง่เขลาขององคาพยพที่ค้ำระบอบประยุทธ์ ซึ่งหากปล่อยให้บริหารประเทศต่อไป คนไทยอาจต้องกลับไปเป็นมนุษย์ถ้ำอีกครั้ง
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวตอนหนึ่งในการวงเสวนา “8 ปีสวัสดิการสังคมไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์ กับอนาคตรัฐสวัสดิการ อนาคตประชาธิปไตยไทย” ว่าประชากร 1% สุดท้ายของประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,759 บาทต่อเดือน ประชากร 1% ตรงกลางมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 6,531 บาทต่อเดือน ส่วนประชากร 1% สุดท้าย มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 33,900 บาทต่อเดือน ไม่นับ 0.1% ส่วนบนสุดที่มีรายได้หลักล้านบาทต่อเดือน จึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศนี้ถึง 99% มีรายได้น้อยกว่า 33,900 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
และยิ่งน่าตกใจคือคนไทยที่จัดอันดับได้ว่าเป็นมหาเศรษฐี หรือคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 30,000 ล้านบาท มีถึง 28 คนจาก 2,668 คนทั่วโลก หรือคิดเป็น 10.5% เมื่อเทียบขนาดของเศรษฐกิจไทยที่คิดเป็นเพียง 0.6% ของเศรษฐกิจโลก หรือเพียง 5 แสนล้านดอลลาร์ จากขนาดของเศรษฐกิจทั้งโลกที่มีมูลค่าถึง 84 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก
เศรษฐกิจสีเงิน
หากความเหลื่อมล้ำยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เช่นนี้จะฉุดรั้งพลังความก้าวหน้าของประเทศไปจนหมดสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่มีอัตราส่วนประชากรอายุมากกว่า 60 ปีเกิน 20% โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการก้าวสู่สังคมสูงวัยเร็วที่สุด อนาคตของสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่คนหนุ่มสาวเต็มไปด้วยความกังวลในชีวิต ต้องดูแลคนสูงวัยมากขึ้น และหากไม่ปรับตัวตั้งแต่วันนี้ ประเทศไทยจะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันในอนาคตไปอย่างมหาศาล
นายธนาธรกล่าวว่า การจัดสรรรัฐสวัสดิการให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาสถานการณ์จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุให้เป็น 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งทั้งหมดต้องใช้งบประมาณเพิ่มประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งพวกเราทั้งอนาคตใหม่-ก้าวหน้า-ก้าวไกล มองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยไม่เป็นภาระทางการคลัง นั่นคือใช้การเพิ่มแบบขั้นบันได จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือนในปี 2567 เพิ่มไปเรื่อยๆ จนเป็นเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือนในปี 2570 โดยทำไปพร้อมกับการปฏิรูประบบการหารายได้และภาษีต่างๆ ของรัฐ เช่น การเปลี่ยนเกณฑ์ BOI การปฏิรูปกองทัพ ลดงบกระทรวงกลาโหม การปฏิรูปภาษีนิติบุคคล ฯลฯ ที่จะทำให้มีรายได้มากพอจัดสวัสดิการเบี้ยคนชราเป็น 3,000 บาทต่อเดือนได้ภายในปี 2570
นอกจากนี้ ในอนาคตจะต้องมีการสร้างงานให้คนรุ่นต่อไปมีรายได้ที่มั่นคงด้วยเศรษฐกิจสีเงิน ซึ่งจะเป็นการสร้างห่วงโซ่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบการดูแลผู้สูงอายุทั้งระบบ ซึ่งจะสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนหนุ่มสาว พร้อมกับการรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยไปได้พร้อมกันด้วย อย่างไรก็ตาม ทุกคนจำเป็นต้องตระหนักด้วยว่ารัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณล้วนแต่เป็นอำนาจของรัฐทั้งสิ้น
หากที่มาของอำนาจในรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชน การจัดสรรทรัพยากรก็จะไม่เป็นไปเพื่อประชาชน ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะสามารถผลักดันรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นได้ด้วยพลังของประชาชน และการกดดันต่อพรรคการเมืองให้ทำสัญญา ให้สัตยาบันกับประชาชนว่าจะผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้นในประเทศไทยให้ได้ในอนาคต
“ประเทศไทยจะมีรัฐสวัสดิการไม่ได้เลยถ้าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย จะเกิดรัฐสวัสดิการได้หรือไม่ขึ้นกับความแข็งขันของการรณรงค์โดยภาคประชาสังคม กดดันพรรคการเมืองให้นำรัฐสวัสดิการมาเป็นนโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งให้ได้ เมื่อเสียงประชาชนเป็นใหญ่ ภาคการเมืองอย่างพวกผมจะต้องฟัง นำไปสู่การทำสัญญาประชาคมและการปฏิบัติตามนโยบายที่หาเสียงไว้หลังเลือกตั้ง ดังนั้นอีก 10 เดือนข้างหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการ และอนาคตของประเทศไทย”นายธนาธรกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ