‘สุชาติ’เดือด!ฉะ‘บิ๊กตู่’หนีกระทู้สด

กระทู้สดสภาเดือด! "บิ๊กตู่" มอบ "อาคม" ตอบแทน แต่ "รมว.คลัง" โยน "สันติ" ที่ก็แจ้งติดภารกิจ จนโดน "พิธา-พท." สับแหลก "สุชาติ" ขึ้นฉะนายกฯ ไร้ความรับผิดชอบ สอนมวยเป็นนักการเมืองอย่าสั่งเหมือนทหาร "ครูมานิตย์" จี้ปัญหาราคาน้ำมัน-เตาอั้งโล่ "สุพัฒนพงษ์" แจง รบ.ตรึงราคาพลังงาน พร้อมรักษาสมดุลการคลัง แนะ "เตาอั้งโล่" แค่สื่อสารผิดพลาด “เลขาฯ สมช.” แย้มเตรียมคลอดแผนรับมือวิกฤตพลังงาน-อาหารระยะเร่งด่วน 1 ก.ค.นี้ “ไทยออยล์”ระบุค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรสุทธิผู้ประกอบการ

ที่รัฐสภา วันที่ 23 มิ.ย. ตั้งแต่ช่วงเช้า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องวิกฤตราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและแก๊สหุงต้ม ถามนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน

นายครูมานิตย์กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลบริหารงานแบบยถากรรม จึงอยากถามว่าวันนี้รัฐบาลพยุงราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างไร เพราะจะกระทบไปยังการดำรงชีพด้านอื่นๆ ด้วย และอย่าบอกว่าถ้าน้ำมันแพงให้ไปใช้เตาอั้งโล่ ใช้ถ่าน ใช้ฟืนแทน นอกจากนี้อยากถามว่าในแต่ละปี ปตท.ได้กำไรจำนวนมาก ทำไมถึงไม่แบ่งกำไรส่วนนี้เป็นส่วนลดราคาน้ำมันให้ประชาชนบ้าง

 นายสุพัฒนพงษ์ชี้แจงว่า วันนี้สถานการณ์พลังงานเกิดวิกฤตมากกว่าในอดีต เพราะปริมาณความต้องการพลังงานมากขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันขาดหายไป เนื่องจากช่วงโควิดโรงกลั่นปิดตัวลงหลายโรงงาน เพราะความต้องการน้อยลง ฉะนั้นจึงทำให้กำลังการผลิตหาย ซึ่งประเทศไทยนำเข้าน้ำมันเกือบ 90% สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลพยายามประคับประคองสินค้า น้ำมันใดๆ ที่มีผลต่อการครองชีพ โดยการค่อยๆ ขยับขึ้นให้สมดุลกับการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางการเงินและการคลัง ถ้าไม่รักษาไว้ เราอุดหนุนจนราคาถูกเท่าที่จะถูกได้ เสมือนหนึ่งประชาชนไม่เดือดร้อนจากภาวะวิกฤตครั้งนี้ สถานภาพการเงินการคลังประเทศจะอ่อนแอ

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า วันนี้ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นน้ำมันที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพ เปรียบเทียบราคาระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน ที่ประเทศเวียดนาม ล่าสุดทราบว่าอยู่ที่ 46 บาทต่อลิตร ส่วนไทยอยู่ที่ 34 บาท นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตก็ยังลดภาษีน้ำมันให้อีก 5 บาท ซึ่งวันนี้เงินออกจากกองทุน เดือนละ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนประเด็นว่า ปตท.มีกำไรจำนวนมาก ขอเรียนว่ารัฐถือหุ้นใน ปตท. 62% และไม่ใช่กระทรวงพลังงาน แต่เป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง ซึ่งเมื่อได้เงินปันผลหรือกำไรแล้วก็นำเข้าคลัง ถือเป็นรายได้แผ่นดิน นำมาใช้เป็นงบประมาณต่อไป

“ประเด็นเตาอั้งโล่ อาจเป็นเรื่องการสื่อสาร สิ่งหนึ่งที่ต้องเรียนคือ ทางกระทรวงเราเห็นความสำคัญของประชาชนที่อาศัยตามชนบทยังใช้เตาถ่านประเภทนี้อยู่จำนวนมาก เขาก็นำมาเผยแพร่ซ้ำเพื่อให้เป็นประโยชน์ ไม่ได้หมายความว่าจะนำมาทดแทนการใช้แก๊สหุงต้ม” รมว.พลังงานกล่าว

จากนั้น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ได้ขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เมื่อถึงช่วงกระทู้ถามสดด้วยวาจากระทู้ที่ 3 ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล เรื่องเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน ซึ่งถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปรากฏว่าประธานในที่ประชุมแจ้งว่า นายกฯ ได้ทำหนังสือแจ้งว่าติดภารกิจสำคัญไม่สามารถมาตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาได้ โดยมอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง มาตอบกระทู้แทน แต่นายอาคมแจ้งว่าติดภารกิจ จึงมอบหมายให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง มาตอบกระทู้แทน แต่ก็ได้รับหนังสือแจ้งมาว่าติดภารกิจสำคัญเช่นกัน ทำให้ไม่สามารถมาตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาในครั้งนี้ได้

ฉะ'บิ๊กตู่'สั่งเหมือนทหาร

 นายพิธาจึงหารือประธานในที่ประชุมเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของรัฐสภาเกี่ยวกับกลไกการถามกระทู้ โดยระบุถึงข้อบังคับการประชุมข้อที่ 151 และ 156 ที่ระบุว่า นายกฯ และรัฐมนตรีจะต้องเข้าร่วมประชุมสภา ยกเว้นมีเหตุจำเป็น จึงขอสอบถามว่าในหนังสือที่นายกฯ และรัฐมนตรีแจ้งมาให้เหตุผลว่าอะไร เพราะเวลาของสภามีค่า ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องอธิบายสาเหตุที่ไม่สามารถมาได้ แค่ตอบว่าติดภารกิจสำคัญคงไม่ใช่คำตอบที่จะเอามาตอบประชาชน ซึ่งตนเป็น ส.ส. มา 4 ปี ยังไม่เคยเห็นนายกฯ มาตอบเรื่องของแพง ค่าแรงถูก ขอฝากประธานให้นายกฯ ทำตามข้อบังคับข้อที่ 151 และข้อที่ 156 ว่าจะมาตอบเมื่อไหร่ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้องเป็นความทุกข์ร้อนของประชาชน

 นายสุชาติชี้แจงว่า หนังสือที่ส่งมาแจ้งว่าติดภารกิจสำคัญ ตนเข้าใจดี เพราะตลอดเวลาได้เตือนรัฐบาลมาตลอดว่าวันพุธและวันพฤหัสบดี ควรเว้นจากการนัดหมายแล้วมาประชุมสภา ทั้งนี้ ในหนังสือไม่ได้แจ้งว่านายกฯ จะมาตอบเมื่อไหร่ เพียงแต่มอบหมายให้ รมว.การคลังและรมช.การคลังมาตอบ แต่ก็ได้รับแจ้งว่าขอเลื่อนตอบเนื่องติดภารกิจ

ต่อมานายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. ลุกขึ้นอภิปรายว่าประธานเคยท้วงติงแล้วหลายครั้ง ซึ่งการมอบหมายให้คนที่ไม่ว่างมาตอบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้จริงๆ ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ควรมอบให้คนที่สะดวก และพร้อมน่าจะดีกว่า เพราะเป็นเรื่องการตรวจสอบของสภาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สำคัญเราให้ความสำคัญในกลไกสภา อยากให้ ครม.ให้ความสำคัญด้วย

“กระทู้สดด้วยวาจามีเพียงสัปดาห์ละ 3 กระทู้ การที่ ครม.ไม่มาตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจา จึงเป็นการเสียสิทธิของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่จะตรวจสอบการทำงานของ ครม. เราเคยมีการยกเว้นข้อบังคับการประชุม ที่เมื่อเลื่อนการตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาในสัปดาห์ถัดไปเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ ก็ให้สอบถามกระทู้สดด้วยวาจาได้มากกว่า 3 กระทู้ ดังนั้นการประชุมสภาครั้งหน้าขอให้มีการถามกระทู้ถามสดด้วยวาจา 4 กระทู้ โดยเป็นของฝ่ายค้าน 3 กระทู้ ผมก็จะยินดี”นายจุลพันธ์ระบุ

นายสุชาติจึงแจ้งต่อที่ประชุมว่า ในกรณีกระทู้ถามสดด้วยวาจาวันนี้ นายกฯกับรัฐมนตรีไม่ได้มาตอบ ถ้าท่านยังติดใจจะถามต่อไปในสัปดาห์หน้าที่ประชุมคงไม่ขัดข้อง ส่วนกรณีของนายพิธาที่ท้วงติงมาถือว่ามีเหตุผล ตนก็เคยท้วงติงไปหลายครั้ง การมอบหมายครั้งที่ผ่านมาตนท้วงติงกับ รมว.มหาดไทย ว่าไม่ใช่สักแต่จะมอบ แต่ต้องถามผู้รับมอบว่าพร้อมหรือไม่ ตนอยากจะฝากข้อบังคับการประชุมข้อที่ 151 แม้ว่าสภาจะไม่สามารถบังคับรัฐบาลได้ แต่เป็นเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงอยากฝากรัฐมนตรีไปยังนายกฯ ให้เตือนท่านนายกฯ ในที่ประชุมครม. ว่าสภามีข้อบังคับการประชุมข้อที่ 151 ท่านควรมาตอบเอง ให้เกียรติสภาหน่อย ถ้าติดภารกิจควรต้องมอบหมายบุคคลที่มาตอบได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ได้หรือไม่ หรือใครที่มีความรู้ที่จะมาตอบได้ ก็ขอฝากตรงนี้ด้วย

“ขอกำชับว่าการมอบหมายอย่าสั่งเหมือนทหาร คือสั่งไปแล้วถือว่าจบกันแบบนั้นไม่ใช่ แต่ขอให้สั่งเหมือนนักการเมือง ต้องสอบถามกันหน่อยว่าว่างหรือไม่ ตอบได้หรือไม่ แบบนี้ไม่เรียกว่ามอบหมาย เพราะมอบหมายแล้วไม่มาตอบถือว่าไม่มีความรับผิดชอบ ขอฝากท่านนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ไปเรียนนายกฯ ด้วย” นายสุชาติกล่าว

แผนเร่งด่วนรับมือพลังงาน

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย กรณีผู้ให้บริการรถร่วม ขสมก.เตรียมลดจำนวนการให้บริการ รวมทั้งภาคขนส่ง รถทัวร์ 27 บริษัท 143 เส้นทางทั่วประเทศเตรียมลดเที่ยววิ่งลง 80% เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนราคาพลังงานได้ว่า นายกฯ ให้ชี้แจงว่าขณะนี้ยังไม่มีการลดจำนวน ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังเจรจา และมีแผนสำรองไว้แล้ว เพื่อเตรียมการแก้ปัญหาหากมีการกระทบกับประชาชน โดยให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมการไว้

“ในเรื่องของพลังงานนายกฯ ก็ได้สั่งการล่วงหน้ามาก่อนด้วยซ้ำในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาด้านพลังงาน และยังกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์มาโดยตลอด และติดตามอย่างใกล้ชิด ฉะนั้นคิดว่านายกฯได้ทำอย่างเต็มที่ การที่ใช้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหาในหลายๆ เรื่อง ขอชี้แจงว่านายกฯมองว่าในอนาคตหรือหลังจากนี้ไปสถานการณ์ของประเทศในเรื่องวิกฤตพลังงานต่างๆ แม้อยู่นอกประเทศก็ส่งผลกระทบมาที่เมืองไทย ดังนั้นการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ใช่เสร็จในเร็ววัน ในส่วนของ สมช. นายกฯ จึงได้สั่งการให้เป็นเจ้าภาพเตรียมข้อมูลต่างๆ ด้านความมั่นคง ทั้งอาหารและพลังงาน และมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” นายธนกรกล่าว

                    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขยับตัวสูงขึ้นว่า นายกฯ มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) พยายามดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคให้มากที่สุด

                    ขณะที่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาฯ สมช. กล่าวว่า หลังเกิดสถานการณ์โควิดและเหตุความรุนแรงระหว่างรัสเซีย- ยูเครน ส่งผลกระทบเศษฐกิจทั่วโลก ซึ่งก็เป็นหน้าที่ สมช. เพราะถือเป็นความมั่นคงทางด้านพลังงานและอาหาร เบื้องต้นเราได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเข้ามาหารือแล้ว และจะนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกันเพื่อประเมินสรุปเป็นแผลสำหรับอนาคตทั้งระยะเร่งด่วน ปานกลาง และระยะยาว โดยระยะเร่งด่วนเราจะดูภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัวและถดถอย มีผลกระทบกับประชาชนอย่างไร

“ปัจจัยที่เกี่ยวข้องแบ่งเป็นสองส่วนหลัก คือผู้บริโภคกับผู้ผลิต ซึ่งเราต้องร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย ระหว่างนี้เรากำลังพูดคุยเพื่อจัดระบบ ติดตามประเมินผล และทำข้อเสนอแนะให้รัฐบาล คาดว่าจะมีข้อสรุปออกมาวันที่ 1 ก.ค. หากไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง” พล.อ.สุพจน์กล่าว

ถามว่ารูปแบบการทำงานของ สมช.จะอยู่เหนือกระทรวงพลังงานหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ไม่เหนือ เป็นการทำงานคู่ขนาน เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำข้อมูลให้รัฐบาล แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายที่มี และอำนาจตามกระทรวงที่รับผิดชอบ

ด้านนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีค่าการกลั่นน้ำมันว่า ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรสุทธิของผู้ประกอบกิจการโรงกลั่น เนื่องจากค่าการกลั่นคำนวณจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ได้แก่ ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา เป็นต้น หักด้วยต้นทุนราคาน้ำมันดิบ โดยผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานในกระบวนการกลั่น ทำให้ผลรวมปริมาณผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้อยู่ในสัดส่วนประมาณ 97% ของปริมาณน้ำมันดิบเท่านั้น

นายวิรัตน์กล่าวว่า ค่าการกลั่นจึงไม่ใช่กำไรสุทธิของผู้ประกอบการโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายดำเนินการอื่นๆ รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นไม่ได้เป็นผู้กำหนด ค่าการกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจากค่าการกลั่นขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันดิบ และตลาดน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นระดับราคาน้ำมันแต่ละชนิดในแต่ละช่วงเวลา

“ไทยออยล์ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยวิธีการดำเนินการที่เหมาะสมภายใต้หลักของกฎหมายและการค้าเสรี เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นทุกรายต่างเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีหน้าที่ต้องดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นด้วย” นายวิรัตน์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี