สั่งสธ.รับมือสายพันธุ์ย่อย โควิดยังระบาดเมืองใหญ่

นายกฯ ผวาโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยระบาดยุโรปลามไทย สั่งรับมือหลังยกเลิก "Thailand Pass" ต่างชาติ สธ.ชี้โควิดยังแพร่ในเมืองใหญ่ ห่วงคนฉีดวัคซีนน้อย วอนกระตุ้นเข็ม 3 ป้องกลุ่ม 608 ดับ

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,387 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,379 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,379 ราย, จากเรือนจำและที่ต้องขัง 4 ราย, จากต่างประเทศ 4 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,683 ราย อยู่ระหว่างรักษา 21,152 ราย อาการหนัก 608 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 290 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 8 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 18 ราย มีโรคเรื้อรัง 1 ราย ขณะที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,504,929 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,453,252 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,525 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 545,773,729 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,343,571 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าสังเกตสถานการณ์โควิด-19 ในยุโรป โดยขอให้วางแผนรับมือล่วงหน้าในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาหลังไทยจะมีประกาศยกเว้นการลงทะเบียน Thailand Pass ของคนต่างชาติ หลังจากมีการพบไวรัสโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้นในยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ เช่น โปรตุเกส อังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี

โดยจากฐานข้อมูล (รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม) โควิดโลก “GISAID” ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 จำนวน 23 ราย  BA.5 จำนวน 26 ราย และ BA.2.12.1 จำนวน 18 ราย ซึ่งยังเป็นจำนวนที่ไม่น่ากังวล อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ โดยสถานการณ์โควิด-19 ในไทยอยู่ในระดับทรงตัว และมีแนวโน้มดีขึ้น เชื่อมั่นว่าถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ปฏิบัติตามมาตรการของทางสาธารณสุข เพื่อสร้างให้ไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งสำหรับคนไทยและชาวต่างประเทศที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยด้วย

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังมีการผ่อนคลายให้เปิดสถานบันเทิงและลดระดับการแจ้งเตือนภัยเป็นระดับ 2 ทั่วประเทศ สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้รุนแรงมากขึ้น  แนวโน้มผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยอาการหนักลดลงและเริ่มทรงตัว ขณะนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑลและจังหวัดใหญ่ทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอำเภอเมือง สาเหตุจากการสัมผัสใกล้ชิด ส่วนใหญ่มีไข้เล็กน้อย ไอ เจ็บคอคล้ายไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ในระดับ 20 รายต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเกณฑ์

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน  ลดโอกาสการติดเชื้อและช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนสะสม 139.3 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรก 81.8%, เข็มสอง 76.2% และเข็มกระตุ้นตั้งแต่เข็ม 3 ขึ้นไป 42.3% เฉพาะกลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นครอบคลุม 54.7% พื้นที่ที่มีความครอบคลุมสูงสุด คือ กทม. 67.5% รองลงมาคือเขตสุขภาพที่ 4 (64.2%) และเขตสุขภาพที่ 6 (62.1%) ส่วนพื้นที่ที่มีความครอบคลุมน้อย คือ เขตสุขภาพที่ 12 (32.5%), เขตสุขภาพที่ 11 (40.2%) และเขตสุขภาพที่ 8 (41.93%) ซึ่งภาพรวมถือว่ายังห่างจากเป้าหมายที่กำหนดให้มีความครอบคลุมของเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% เพื่อให้เปิดประเทศอย่างปลอดภัย สอดรับกับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น

"ขณะนี้ประชาชนมารับวัคซีนโควิด-19 น้อยลง เฉลี่ยประมาณหลักหมื่นรายต่อวัน เนื่องจากส่วนหนึ่งยังมีความกลัววัคซีน อีกส่วนเห็นว่าผู้ติดเชื้อลดลงและอาการไม่รุนแรง จึงคิดว่าได้วัคซีน 2 เข็มก็เพียงพอแล้ว ซึ่งที่น่าห่วงคือผู้เสียชีวิตจากโควิดขณะนี้ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น จึงต้องรณรงค์ให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากขึ้น โดยขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่กลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการรับเข็มกระตุ้น และเร่งนำวัคซีนไปหาประชาชน โดยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และสาธารณสุข เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดการเสียชีวิต" ปลัด สธ.ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง