อุ้มต่อค่าไฟรายได้น้อย คุยโรงกลั่นเคลียร์กรณ์

“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะถกพลังงาน สั่งคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด หามาตรการไม่ให้กระทบประชาชนเกินไป ปลื้ม "ฟิชท์ เรทติ้งส์"  คงอันดับไทย BBB+ "สุพัฒนพงษ์" เร่งเจรจา 6 โรงกลั่นหาข้อสรุปช่วยราคาน้ำมัน คาดชัดเจนสัปดาห์นี้ พร้อมหารืออดีต รมว.คลัง "กพช." เคาะเลื่อนปลดเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เห็นชอบแผนรับซื้อไฟฟ้าจากขยะปี 65

ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2565  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า เรามีปัญหาด้านพลังงานมากพอสมควร ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก จำเป็นต้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด แต่มีเรื่องหนึ่งที่น่ายินดีคือการจัดอันดับของสถาบันฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch) ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ ถือว่าเป็นมาตรฐานทางการเงินการคลังที่แข็งแกร่ง มีเสถียรภาพ จึงขอขอบคุณกรรมการทุกคน

ต่อมาเวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหลายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการบริหารงานด้านพลังงานหลายเรื่อง คงไม่ใช่เรื่องเฉพาะราคาน้ำมันแพงหรือไม่แพงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องพลังงานในภาพรวมทั้งหมด ที่ต้องปรับรูปแบบของการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์เพื่อใช้แหล่งพลังงานอื่นมาทดแทน เพราะค่าแก๊ส ค่าน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งรัฐบาลพยายามหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมเพื่อทดแทนแก้ปัญหาในอนาคตอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 1.จะต้องดูแลความมั่นคงเสถียรภาพพลังงานไม่ให้เกิดการขาดแคลน เพื่อให้การประกอบการธุรกิจเดินหน้าต่อไป 2.จะต้องดูแลราคาพลังงานไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนจนมากเกินไป โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนในวงกว้าง 3.จะดูแลช่วยเหลือครอบครัวหรือกลุ่มเปราะบางผ่านมาตรการใดบ้าง อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลทำในวันนี้แม้จะถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง แต่ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่ให้ไทยอยู่ในเกณฑ์ระดับสูง BBB+ เช่นเดียวกับการเกิดก่อนโควิดและเกิดปัญหาพลังงานในขณะนี้ แสดงว่าเราดำเนินการมาได้ดีพอสมควร เรายืนยันตรงนี้ และพยายามจะทำให้ดีที่สุดในทุกๆ เรื่อง

ด้านนายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการหารือกับโรงกลั่นทั้ง 6 ในประเทศ เพื่อหาอัตราที่เหมาะสม รวมถึงรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าการกลั่นว่าในน้ำมันแต่ละประเภทมีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อหาจุดสมดุลในการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งพยายามเร่งให้เกิดข้อสรุปภายในเดือนสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ ยอมรับว่าทุกฝ่ายมองถึงประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก และอยู่ในขั้นตอนหารือเพื่อสรุปข้อตกลงกัน แต่หากยังไม่สามารถสรุปได้จึงค่อยเปลี่ยนไปใช้วิธีทางกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง หรือข้อบังคับอื่นๆ ต่อไป ซึ่งได้เตรียมการไว้เบื้องต้นแล้ว

"ในสัปดาห์นี้เรามีการคุยกันอยู่แล้วถึงเรื่องตัวเลขค่าการกลั่นต่างๆ ทางกระทรวงพลังงานก็มีผลสรุปออกมาแล้วว่าค่าเฉลี่ยช่วง 6 เดือนอยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร ซึ่งกรณีที่มีอดีต รมว.การคลังยืนยันตัวเลขออกมาเช่นกันที่ 8.50 บาทต่อลิตรนั้น อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจแตกต่างกัน ซึ่งทางกระทรวงก็ได้ถามไปถึงสมาคมกลุ่มโรงกลั่นฯ ว่าเมื่อเห็นตัวเลขนั้นแล้ว ก็อยากให้ไปวิเคราะห์ดูว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นมาอย่างไร มีวิธีวิเคราะห์ที่ถูกต้องอย่างไร และนำมาชี้แจงร่วมกับอดีต รมว.การคลังด้วย จะได้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันกับประชาชน ไม่อย่างนั้นจะทำให้ความคาดหวังแตกต่างกัน ซึ่งอยากให้มีความชัดเจนภายในวันที่ 22 มิ.ย. ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ท่านอดีต รมว.การคลังมานั่งคุยกันเลย เพราะเชื่อว่าทุกคนพร้อมที่จะทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งทั้ง 6 โรงกลั่นก็พร้อมจะพิจารณา แต่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน" นายสุพัฒนพงษ์ระบุ

นายสุพัฒนพงษ์เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพช.ได้รับทราบสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง อีกทั้งปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ประชุม กพช.จึงได้มีมติเห็นชอบการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8-11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสถานการณ์ LNG มีราคาสูง ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้

ที่ประชุม กพช.ได้รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ช่วงปี 2563-ปัจจุบัน ซึ่งมอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้นตั้งแต่งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2564 จนถึงปัจจุบัน ที่เรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2563 และวันที่ 29 มี.ค.2565 และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ ครม.รับทราบผลการดำเนินงานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2563 และวันที่ 29 มี.ค.2565 ต่อไป

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กพช.มีมติเห็นชอบหลักการการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561- 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ.2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ในอัตรา 6.08 บาทต่อหน่วย (ไม่ร่วมอัตรา FiT Premium) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2569

โดยที่ประชุมมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT รวมถึงกำกับดูแลการคัดเลือกให้เป็นไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องการมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช.ยังมีมติเห็นชอบโครงการและแผนงานของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง โดยสอดคล้องกับแผนปฏิรูปพลังงาน ได้รับการยกเว้นเงื่อนไขในการได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามหลักการแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า สำหรับแผนงานและโครงการปี 2565 ซึ่งการยกเว้นเงื่อนไขดังกล่าวสำหรับโครงการและแผนงาน ปี 2565 เพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง และให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง