โพลหวั่นเยาวชนยุคกัญชาเสรี

ส.ว.นัดถกปัญหากัญชาเสรี  เชิญปลัด สธ.-อย.ร่วมวง ก่อนสรุปข้อห่วงใยส่ง กมธ.สภาผู้แทนฯ ปรับแก้ร่างกฎหมายกัญชา "ศุภชัย" เดือด จ่อดำเนินคดีเฟกนิวส์จ้องทำลายภูมิใจไทย นิด้าโพลชี้ ปชช.กังวลใช้กัญชาไม่เหมาะสมในเด็กและเยาวชน

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข คนที่หนึ่ง  วุฒิสภา เปิดเผยว่า วันที่ 22 มิ.ย. กมธ.การสาธารณสุขได้นัดหารือถึงเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ.…. และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง พ.ศ..… ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการและตั้ง กมธ.พิจารณาเนื้อหา ตามที่ กมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภามอบหมายให้ศึกษาล่วงหน้า ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวเป็นการทำงานเชิงรุกของ ส.ว. เพื่อศึกษาร่างกฎหมายที่สภารับหลักการให้เกิดความรอบคอบ ทั้งนี้ กมธ.ได้เชิญหลายฝ่ายร่วมประชุม อาทิ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ

"ปัญหาขณะนี้คือกัญชาที่ไม่ผิดกฎหมายต้องมีสารทีเอชซีไม่เกิน 0.2% แต่จุดอ่อนคือใครจะเป็นผู้ตรวจ ซึ่งต้นกัญชาทุกส่วนมีสารทีเอชซีไม่เกินปริมาณกำหนด ยกเว้นช่อดอก ดังนั้นต้องให้ช่อดอกกัญชายังเป็นส่วนที่ผิดกฎหมาย โดยหลังการประชุมวันที่ 22 มิ.ย. กมธ.จะรับฟังความเห็นของ ส.ว.ร่วมด้วย เพื่อให้เป็นความเห็นร่วมกัน" นพ.เฉลิมชัยระบุ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สังคมกังวล ส.ว.มีวิธีทำงานที่สามารถส่งข้อเสนอแนะไปยัง กมธ.ของสภาอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อขอให้พิจารณาข้อห่วงใยและปรับแก้ไขกฎหมาย การทำงานดังกล่าวไม่ถือเป็นการก้าวล่วง ไม่มีบทบังคับให้ ส.ส.ต้องพิจารณาทำตาม แต่เมื่อร่างกฎหมายหากผ่านวาระ 3 ของ ส.ส.แล้ว ต้องส่งต่อมายัง ส.ว. หากเนื้อหาสามารถปรับแก้ไขให้รอบคอบรอบด้าน จะสามารถผ่านไปได้รวดเร็ว แต่หากมีประเด็นที่ ส.ว.ปรับแก้ ต้องใช้เวลาอีกนาน

ทางด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ..... โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมภาพประกอบจากกลุ่มตีแตกการเมือง ซึ่งมีการโพสต์ข้อความโดย Willy Lopez โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงหลังจากที่มีการปลดล็อกกัญชา ทั้งนี้ นายศุภชัยระบุว่า การเมืองจ้องทำลาย พรรคภูมิใจไทย ดำเนินนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ด้านการรักษาสุขภาพ และทางด้านเศรษฐกิจ เราไม่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้เพื่อนันทนาการ ความบันเทิง กลับกัน เราได้ออกกฎเกณฑ์เพื่อห้ามใช้ในเด็กและเยาวชนผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) รวมไปจนถึงการห้ามสูบในที่สาธารณะ เรามีประกาศกรมอนามัยเรื่องการห้ามสร้างความเดือดร้อน รำคาญ ซึ่งมีบทลงโทษชัดเจน ทั้งจำ ทั้งปรับ

"ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มีความห่วงใยในเรื่องนี้ และมีการประสานให้หน่วยงานต่างๆ ออกกฎกรอบมาควบคุมการใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ให้เหลือแต่การใช้เพื่อเป็นประโยชน์เท่านั้น จะเห็นว่าล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีการออกประกาศห้ามนักศึกษาและบุคลากรใช้เพื่อการบันเทิง ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยกันตีกฎ วางกรอบ นี่คือความพยายามของท่านรัฐมนตรีในการควบคุมดูแลนโยบาย แต่กลับยังมีพวกจ้องบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิด ดังที่ผมยกตัวอย่างมาด้านล่าง ทั้งนี้ นี่คือกระบวนการทำลายทางการเมืองที่ชั่วช้าเลวทราม ซึ่งทางพรรคภูมิใจไทยจะหาทางดำเนินคดีอย่างรวดเร็วที่สุด #ไม่ปล่อยคนชั่วลอยนวล" นายศุภชัยระบุ

วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด” รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง ว่าเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภค สามารถทำได้ถูกกฎหมาย พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 34.81 ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ รองลงมา ร้อยละ 24.89 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะกัญชาเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ประชาชนยังไม่มีความรู้เรื่องกัญชามากพอ และภาครัฐไม่สามารถควบคุมการใช้กัญชาได้อย่างทั่วถึง, ร้อยละ 23.74 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะกัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์มากกว่าให้โทษ สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ และร้อยละ 16.56 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะอาจเกิดการเสพติดกัญชา ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ประชาชนอาจนำไปใช้ในทางที่ผิด

ด้านความกังวลของประชาชนต่อปัญหาการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสมในหมู่เด็กและเยาวชน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 42.44 ระบุว่ากังวลมาก รองลงมา ร้อยละ 29.62 ระบุว่าค่อนข้างกังวล, ร้อยละ 16.95 ระบุว่าไม่กังวลเลย และร้อยละ 10.99 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อรูปแบบการใช้กัญชาของคนไทยในอนาคต พบว่า ร้อยละ 34.05 ระบุว่าใช้ทางการแพทย์ รองลงมา ร้อยละ 31.15 ใช้เพื่อการสันทนาการ เช่น การสูบหรือเสพ ร้อยละ 22.21 ระบุว่าใช้ในการประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม และร้อยละ 12.59 ใช้เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาของประชาชน พบว่า ร้อยละ 67.02 ระบุว่าไม่เคยมีประสบการณ์ใดๆ เกี่ยวกับกัญชา ขณะที่ร้อยละ 32.98 ระบุว่าเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชา โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 60.65 เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาในเรื่องการใช้กัญชาเพื่อประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม รองลงมา ร้อยละ 30.56 การเสพหรือสูบกัญชา, ร้อยละ 21.06 การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค, ร้อยละ 6.94 การปลูกกัญชา, ร้อยละ 1.39 การแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชาในเชิงพาณิชย์ และร้อยละ 0.23 การค้ากัญชา

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจทั้งทางด้านการค้าและการผลิต อาจมีมูลค่าเบื้องต้นในไทยอยู่ในระดับหมื่นล้านบาท แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวอาจไม่คุ้มค่ากับความเสียหายทางด้านสุขภาพค่าใช้จ่ายทางด้านรักษาพยาบาล ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ที่จะตามมา

หากต้องการเปิดให้มีการเสพหรือบริโภค ต้องมีมาตรการ ดังนี้ 1.ต้องเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราสูง และนำเงินบางส่วนไปใช้ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน และเผยแพร่ให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ประโยชน์จากสารสกัดจากกัญชา 2.ต้องมีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อหรือเสพกัญชา อย่างต่ำต้องอายุ 25 ปีขึ้นไป 3.ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาใดๆ รวมทั้งโฆษณาแฝงในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดจากกัญชาที่มีผลเสียต่อสุขภาพ 4.การกำหนดให้มีคำเตือนถึงภัยและผลกระทบจากเสพสารสกัดจากกัญชา เผยแพร่ข้อมูลประโยชน์และโทษของกัญชา 5.การบังคับให้ผู้ประกอบการหรือผู้ขายต้องเปิดเผยส่วนผสมของกัญชาในอาหารหรือเครื่องดื่มอย่างชัดเจน 6.กำหนดพื้นที่และเวลาสำหรับเป็นเขตปลอดกัญชา 7.จำกัดการนำเข้าและส่งออกกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชา ยกเว้นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการผลิตยารักษาโรคเท่านั้น

ที่ จ.มหาสารคาม นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ได้มีการขึ้นป้ายแจ้งเตือนทุกหน่วยงานบริการสาธารณสุขทุกอำเภอ 13 แห่ง และโรงพยาบาล 13 แห่ง โดยมีข้อความว่า กัญชาใช้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม เพื่อใช้รักษาโรคอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่สูบเพื่อสันทนาการหรือความบันเทิง เพราะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและผิด พ.ร.บ.สาธารณสุข มีโทษทั้งจำทั้งปรับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง