คลังปัดฝุ่นภาษีลาภลอยรอ

ปธ.ญาติวีรชนพฤษภา ’35   สั่งจับตา รมว.พลังงาน-กลุ่มทุนชิ่งหนีส่งกำไรค่าการกลั่น ชี้น้ำมันแพง ต้องรื้อโครงสร้างพลังงาน บิดเบี้ยวทั้งระบบ หลังเสียค่าใช้จ่ายทิพย์ ให้เสือนอนกิน บนความทุกข์ ปชช. ด้าน ก.คลังพร้อมเก็บภาษีลาภลอยหาก รบ.เรียกใช้ เผยยังมีเวลาพิจารณามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายภาษีลาภลอย (Windfall tax) ที่กระทรวงการคลังได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และหากรัฐบาลมีเหตุผลที่จะต้องดำเนินการเก็บภาษีในส่วนนี้ ก็พร้อมจะทำได้

"ร่างกฎหมายเดิมมีอยู่แล้ว กระทรวงการคลังเคยเสนอ แต่เรื่องนี้ก็ตกไป โดยหากตอนนี้รัฐบาลมีเหตุผลที่จะทำ ก็พร้อมจะหยิบมาดำเนินการได้ มองว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และน่าจะใช้ แต่ไม่ใช่ว่าจะนำมาเสนออีก ทั้งหมดอยู่ที่เหตุผลของรัฐบาล หากมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะดำเนินการ" นายกฤษฎากล่าว

ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่าสำหรับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน สิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค.2565 นั้น กระทรวงการคลังจะร่วมกับฝ่ายนโยบายพิจารณาว่าต้องขยายเวลาต่อไปเพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องการคลัง ในส่วนของภาพรวมการจัดเก็บรายได้ว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร ซึ่งจากผลการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-เม.ย.65) พบว่ายังเกินกว่าเป้าหมายราว 4.5 หมื่นล้านบาท โดยแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในส่วนที่เหลือของปีงบประมาณ 2565 ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ดังนั้นก็ต้องพิจารณาในส่วนนี้ว่าหากมีการลดภาษีดังกล่าวเพิ่มอีก จะส่งผลให้รายได้หายไปเท่าไหร่ โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ’35  เปิดเผยกรณีข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรม และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจแพงทั้งแผ่นดินในขณะนี้ว่า เวทีสภาที่ 3 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายพลังงาน และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แก้ไขสิ่งผิดในนโยบายพลังงานหลายด้าน คือ หนึ่ง ค่าการกลั่นน้ำมันที่สูงเกินควร เกิดจากมีบริษัทเอกชนใหญ่ที่ควบคุมโรงกลั่นส่วนใหญ่ในประเทศ ทำให้โรงกลั่นได้กำไรเกินควร บนความทุกข์ยากของประชาชน

สอง กรณีการอ้างอิงราคาตลาดโลกทั้งที่เป็นการผลิตในประเทศไทย น้ำมันถือเสมือนกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์ ก๊าซถือเสมือนผลิตที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย แก๊สโซฮอล์ถือเสมือนผลิตที่ประเทศบราซิล ทำให้เอกชนได้กำไรเกินควร เพราะบวกค่าใช้จ่ายทิพย์ที่ไม่ได้จ่ายจริง และสาม   ค่าการตลาดที่สูงเกินควร เกิดจากมีบริษัทผูกขาดเป็นเสือนอนกินอยู่ในกระบวนการขายส่งและขายปลีกน้ำมันและก๊าซหุงต้ม  ทำให้ประชาชนต้องควักกระเป๋าไปอุดหนุนแก่นายทุนเป็นประจำวันอย่างไม่เป็นธรรม

“ทั้งสามประเด็นข้างต้นคือส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างราคาพลังงานที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นธรรม สร้างภาระกับประชาชนมายาวนาน และที่ผ่านมารัฐบาลก็ทำเป็นหูทวนลม เป็นทองไม่รู้ร้อน จนประชาชนอดสงสัยไม่ได้ว่าคนในรัฐบาลได้ประโยชน์จากกลุ่มทุนพลังงานอย่างใดหรือไม่” นายอดุลย์กล่าว

นายอดุลย์กล่าวว่า กรณีนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้นำประเด็นที่สภาที่ 3 ชี้เป้าไปขยายความ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข ก็เป็นการดีที่หลายฝ่ายช่วยกันทักท้วงรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่สภาที่ 3 เห็นว่านายกรณ์กล้ายกเฉพาะประเด็นที่หนึ่งขึ้นเรียกร้องต่อรัฐบาลเพียงข้อเดียว แต่กลับไม่กล้าหยิบยกประเด็นที่สองและสามข้างต้นขึ้นเรียกร้องให้ครบถ้วน

“อยากให้จับตาดูกันต่อไปว่า รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึงกลุ่มทุนพลังงาน จะใช้ข้อมูลบิดเบือนกับข้อเรียกร้องเหล่านี้อย่างไร เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า การเจรจาโรงกลั่นเพื่อนำส่งกำไรจากค่าการกลั่นยังไม่ได้ข้อยุติ แถมยังแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจ เชิดชูกลุ่มทุนโรงกลั่นน้ำมันที่แสวงหากำไรบนความทุกข์ของประชาชน” นายอดุลย์กล่าว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบและยินดีกับความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับภาคเอกชนชั้นนำจากต่างประเทศ เพื่อร่วมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนชั้นนำต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดผู้นำเอกชนจากสวิตเซอร์แลนด์และเกาหลีใต้กระชับความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรในพื้นที่ EEC ด้านการแพทย์ และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสู่นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่ารัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานและความพร้อมไว้ให้กับ EEC ทั้งทางสถานที่และข้อกำหนด เพื่อรองรับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ความร่วมมือที่ผ่านมาเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดความสัมพันธ์ และเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการขยายช่องทางดึงดูดนักลงทุนชั้นนำจากต่างประเทศให้ร่วมลงทุนในพื้นที่ EEC มากขึ้น ซึ่งไทยยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือและการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้นในพื้นที่  เพื่อต่อยอดความรู้ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยและการพัฒนาความรู้ด้านนวัตกรรมร่วมกันพัฒนาคน พัฒนาเทคโนโลยี หวังวางรากฐานด้านสาธารณูปโภคและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในอนาคตอย่างยั่งยืน” นายธนกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง