ขึ้นแก๊สหุงต้มโลละบาท เคาะชุดเยียวยา3เดือน

“กบง.” เคาะขึ้นก๊าซหุงต้มแอลพีจี 1 บาท ดันราคาถัง 15 กก. แตะ 378 บาท เริ่ม 1 ก.ค.นี้ มุ่งลดภาระกองทุนฯ พร้อมไฟเขียวมาตรการบรรเทาผลกระทบ 3 เดือน ช่วยประชาชนฝ่าวิกฤตพลังงาน

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่าที่ประชุมมีมติอนุมัติปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน ในอัตรา 1 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากราคาเดิมของเดือน มิ.ย.2565 ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กก. เป็น 378 บาทต่อถัง 15 กก.  เริ่มวันที่ 1 ก.ค. ถึงเดือน ก.ย.65 เดือนละ 1 บาท ต่อ กก.

โดยในการปรับขึ้นราคาค่าก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งถือเป็นการช่วยลดภาระสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่ยังอุดหนุนอยู่ทุกเดือน ประมาณเดือนละ 1,500-1,600 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันบัญชีแอลพีจีติดลบถึง 36,515 ล้านบาท ทั้งนี้ ถือเป็นการใช้โมเดลเดียวกับการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มช่วงเดือนเม.ย.-30 มิ.ย.65

ทั้งนี้ ปัจจุบันต้นทุนจริงของราคาก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ประมาณ 450 บาทต่อถัง 15 กก. ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กก. เพราะขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง ใน 3 เดือนคือ เดิมตรึงราคา 318 บาทต่อถัง 15 กก. เดือนเม.ย. 65 ขึ้นเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กก. เดือน พ.ค.65 ที่ราคา 348 บาทต่อถัง 15 กก. และเดือน มิ.ย.65 ราคา 363 บาทต่อถัง 15 กก. หากขึ้น ก.ค.65 จะเป็น 378 บาทต่อถัง 15 กก. เดือน ส.ค.65 เป็น 393 บาท และเดือน ก.ย. 65 เป็น 408 บาท

ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุม กบง.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน จากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยเห็นชอบทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ทยอยปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น แอลพีจี 3 ครั้ง ไปที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยปรับขึ้นเดือนละ 0.9346 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีกแอลพีจีอยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 65

โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีต่อไป และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ประสาน ปตท. ขอความร่วมมือขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซแอลพีจี ให้กับร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ ปตท. ดำเนินการอยู่ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 ถึงวันที่ 30 ก.ย.65

​นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 3 เดือน ในช่วงเดือน ก.ค.65 ถึงเดือน ก.ย.65 โดยมอบหมายให้ ธพ.จัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน สำหรับผู้ใช้สิทธิ 4,000,000 ราย รวมเงินงบประมาณ 220,000,000 บาท

นายกุลิศกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาก๊าซแอลพีจีที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยให้กระทรวงพลังงานขอความอนุเคราะห์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) คงราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และคงราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี โครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.-15 ก.ย.65

​ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 ถึงวันที่ 30 ก.ย.65 โดยกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสมของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร, น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร

อีกทั้งยังขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร โดยที่ประชุมมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นำเสนอคณะกรรมการ กบน. ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วแต่ละชนิดไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร และมอบหมายให้ ธพ.ออกประกาศ ธพ. เรื่องกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่..) พ.ศ. 2565 ให้สอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบ

วันเดียวกัน นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า มาตรการลดค่าครองชีพเหลือเพียงให้แต่ละหน่วยงานกลับไปพิจารณาเงินช่วยเหลือของแต่ละหน่วยงาน ให้สอดคล้องกับวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่เหลืออยู่ 75,000 ล้านบาท เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า โดยยังเน้นช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก และประชาชนรายย่อย เช่น มาตรการบรรเทาผลกระทบให้กับครัวเรือนใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ยังคงช่วยเหลือต่อไป ยอมรับทุกมาตรการที่เตรียมออกมานั้น หวังช่วยเหลือ ตอบโจทย์แก้ปัญหาต้นทุนราคาสินค้าแพง เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงปัญหาเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้าแพง กระทรวงพลังงานจึงพยายามตรึงราคาน้ำมันให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะต้นทุนราคาสินค้าขณะนี้สูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ ทั้งราคาพลังงาน ค่าขนส่ง สินค้าอุปโภค บริโภค 18 สินค้าหลัก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง