สภารับหลักการ "พ.ร.บ.คู่ชีวิต-สมรสเท่าเทียม" ทั้ง 4 ฉบับ “ครูธัญ” หลั่งน้ำตากลางสภา ชี้ชัยชนะของประชาชน ขณะที่กฤษฎีกาเบรกแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หวั่นส่งผลกระทบ ปมบางเรื่องยังถือเป็นเรื่องสายโลหิต เช็กชื่อซีกรัฐบาลข้ามห้วย โดดช่วยก้าวไกลฝ่าดงหนาม
เมื่อวันพุธ เมื่อเวลา 10.46 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่....) พ.ศ.... หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ ซึ่งเป็นฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ 2.ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ..... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ 3.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ..... เสนอโดย ครม. และ 4.ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ..... ที่เสนอโดยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.และคณะเสนอ
ก่อนเข้าสู่การพิจารณา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ขอให้นำร่างทั้งหมดที่ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้เสนอมาพิจารณาพร้อมกัน เพราะมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน แต่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วย เพราะมีหลักการแตกต่างกัน และยังไม่มีมติจากที่ประชุมสภาฯ ให้พิจารณาร่วมกัน กระทั่งนายชวนได้ขอมติจากที่ประชุม ที่สุดเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้นำร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับมาพิจารณารวมกันตามที่นายชินวรณ์เสนอ และให้ลงมติรับหลักการหรือไม่รับหลักการแยกแต่ละฉบับ
จากนั้น เวลา 11.45 น. นายธัญวัจน์ ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมว่า การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคัดค้านร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยเสนอให้ออกกฎหมายแยกเฉพาะแทนการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ดูแล้วย้อนแย้ง เพราะในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ ครม.เสนอ ก็นำบทบัญญัติบางมาตราในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้ การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาอ้างอิงงานวิจัยโดยใช้ความเชื่อทางศาสนามาเชื่อมโยงร่าง พ.ร.บ.นี้คือการเลือกปฏิบัติกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ ทั่วโลกต่อสู้เรื่องความเสมอภาคทางเพศ แต่ประเทศไทยกลับกดความเสมอภาคทางเพศไม่ให้เกิดขึ้น อย่าให้ประชาชนสิ้นหวังกลไกระบบรัฐสภา ครม.ที่ยกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตอาจคิดเป็นชัยชนะตัวเอง แต่เป็นความพ่ายแพ้ของ LGBT เพราะสิ่งที่ยัดเยียดให้คือ ความไม่เสมอภาค
นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของพรรคประชาธิปัตย์ มีหลักคิดแตกต่างจากฉบับ ครม. เพราะกระทรวงยุติธรรมมองว่าคู่สมรสต้องเป็นชายหญิงเท่านั้น การแต่งงานของเพศอื่นถูกมองเป็นเพียงคู่ชีวิต จึงถูกกลุ่ม LGBTQ+ ต่อต้าน เพราะมองเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่กฎหมายพรรคประชาธิปัตย์เปิดให้คนทุกเพศ ไม่ใช่เฉพาะเพศเดียวกัน
ทั้งนี้ หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เราไม่ได้คิดถึงเรื่องการแบ่งคนออกมาเป็น 2 ประเภท แต่ขึ้นมาเพื่อรองรับสิทธิ และยกระดับสิทธิของกลุ่มคน เพราะเราเห็นว่ามีเพศชายไปจดทะเบียนสมรส แต่ถูกปฏิเสธ ถือเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกทำให้มีวันนี้ขึ้น
ด้านนางณัฐนันทน์ อัศวเลิศศักดิ์ กรรมการร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า เราได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตมาตั้งแต่ปี 2553 และในปี 2565 ก็มีร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเข้ามา เมื่อทางสำนักงานได้รับฟังความเห็นทั้งหมดแล้ว จึงส่งไปยัง ครม. ว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อาจจะยังส่งผลกระทบ เพราะเรายังไม่ได้ศึกษารายละเอียด
“ฉะนั้นในชั้นนั้นเรามี พ.ร.บ.คู่ชีวิตอยู่แล้วที่จะเป็นหลักการยกระดับการสมรสเพศเดียวกันขึ้นมา ส่วนเรื่องบางอย่างที่ยกขึ้นมาไม่ได้ เช่น การเป็นบิดามารดาและบุตร ที่ถือเป็นเรื่องของสายโลหิต จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้ ในชั้นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน จึงขอเสนอกฎหมายคู่ชีวิตไปก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ ค่อยๆ ดำเนินการตามมา ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ต้องใช้เวลาในการพัฒนาการกฎหมายเรื่องนี้ 10 กว่าปี” นางณัฐนันทน์ระบุ
โดยนายธัญวัจน์กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ในอดีตตั้งแต่เด็ก ตนเองไม่ได้รับการยอมรับในความเป็นกะเทย วันนี้จึงต้องมาเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ดังนั้นขอให้ที่ประชุมรับไปเลย 4 ร่าง นี่คือชัยชนะของประชาชน ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง เราต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง พวกเขารอกฎหมายนี้อยู่
จากนั้นเวลา 16.20 น. ที่ประชุมลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่....) พ.ศ..... หรือร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยนายธัญวัจน์ พรรคก้าวไกล กับคณะ โดยเห็นด้วย 210 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง
ส่วน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ..... ที่ ครม. เสนอ ที่ประชุมรับหลักการ โดยเห็นด้วย 229 เสียง ไม่เห็นด้วย 166 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง,ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ..... ครม. เป็นผู้เสนอ ที่ประชุมรับหลักการ โดยเห็นด้วย 230 เสียง ไม่เห็นด้วย 169 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ..... ที่เสนอโดยนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. และคณะ ที่ประชุมรับหลักการ โดยเห็นด้วย 251 เสียง ไม่เห็นด้วย 123 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมรับหลักการทั้ง 4 ร่าง และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 25 คน แบ่งตามสัดส่วน ครม. 5 คน และพรรคการเมือง 20 คน แปรญัตติภายใน 15 วัน ทั้งนี้ ให้ยึดร่างกฎหมายที่ ครม.เสนอทั้ง 2 ฉบับเป็นหลักในการพิจารณา
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกหนึ่งชัยชนะของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และแสดงให้เห็นถึงความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลในการควบคุมองค์ประชุม รวมถึงแสดงให้เห็นถึงกระบวนการของพรรคร่วมรัฐบาล จะเห็นว่ากระบวนการนั้นเต็มไปด้วยขวากหนามและใช้กลยุทธ์ไม่เป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เสียงส่วนใหญ่ที่ลงมติรับหลักการเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังมีเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนเทมาให้ด้วย ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ 6 เสียง อาทิ น.ส.วทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ, น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี, ร.อ.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส.ชลบุรี ส่วนพรรคภูมิใจไทย 2 เสียง ได้แก่ นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ส.ส.มหาสารคาม, นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ 13 เสียง อาทิ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, น.ส.กันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา รวมถึงพรรคเศรษฐกิจไทย 13 เสียง อาทิ น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร, นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร นอกจากนี้ยังมี ส.ส.พรรคเล็กร่วมลงมติรับหลักการด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อิ๊งค์หาเสียงฟุ้งพท.มาคนจนรวยแน่
"หัวหน้าอิ๊งค์” ลุยนครพนม ช่วย “อนุชิต” ผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียง
รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14
เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง
‘จ่าเอ็ม’เครียด อุบ‘ผู้มีบุญคุณ’ ตร.หิ้วฝากขัง!
ตำรวจเค้นสอบ “จ่าเอ็ม” ตลอดคืน ยังให้การไม่เป็นประโยชน์คดียิงอดีต
จับตา!เคาะ‘กาสิโน’ คลังชงเข้าครม.ไฟเขียว/นักวิชาการชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน
จับตา “คลัง” เล็งชงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้า ครม.จันทร์นี้หรือไม่ หลัง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย