จับตา "กบน." ไฟเขียวขึ้นดีเซล 35 บาทหรือไม่ ภาคประชาชนชงรื้อสูตรราคาน้ำมัน "กรณ์" ชู 3 วิธีแก้วิกฤตพลังงาน “นฤมล” แนะขึ้นดอกเบี้ยทีละขั้นให้ทุกฝ่ายมีเวลาตั้งรับ หนุนรัฐออกแพ็กเกจดูแลหนี้ครัวเรือน-ธุรกิจรายย่อย กมธ.งบฯ ถกเครียดเจอหนี้เพียบ
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากที่ปัจจุบันยังตรึงไว้อยู่ที่อัตรา 0.50% ว่า อย่าฝืน เร่งเตรียมความพร้อม เตรียมตัวรับมือ ไตรมาส 3 นี้ หลายฝ่ายคาดว่า กนง.คงจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นโยบายการเงินการคลัง และนโยบายเศรษฐกิจจำเป็นต้องพิจารณาปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนได้มีระยะเวลาในการปรับตัว เพราะหากดำเนินนโยบายผิดพลาดย่อมส่งผลกระทบรุนแรง และรัฐควรเตรียมความพร้อมในการรับมือ
ทั้งนี้ แม้ว่าการประชุม กนง.ล่าสุดจะคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิมด้วยมติ 4 ต่อ 3 เสียงจึงทำให้หลายส่วนมองว่าระยะต่อไป กนง.คงจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก การไปฝืนหรืออั้นในมาตรการต่างๆ ไว้ อาจไม่ได้สะท้อนสถานการณ์อย่างที่ควรเป็น เมื่อฝืนต่อไปไม่ได้แล้วหากต้องขึ้นดอกเบี้ยกับสินค้าราคาที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นพร้อมกันโครมเดียว สังคมคงเกิดอาการช็อกอย่างแน่นอน
นางนฤมลระบุว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนที่อาจจะสูงเกินไปจากระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบการสู้รบของรัสเซียและยูเครนที่กระทบต่อระดับราคาน้ำมันและราคาสินค้า ดังนั้นจึงต้องการเสนอแนวทางให้ภาครัฐ ควรเร่งเตรียมนโยบายหรือแพ็กเกจบรรเทาภาระหนี้ที่กำลังเพิ่มขึ้น จากต้นทุนหลายอย่างที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดความรุนแรงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงทั้งในกลุ่มหนี้ครัวเรือน และหนี้ของผู้ประกอบการรายย่อย
“รัฐควรเร่งการสื่อสารให้ประชาชน และผู้ประกอบการได้เข้าใจสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และในอนาคต เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นแนวทางและเกิดความเชื่อมั่นในนโยบายที่ภาครัฐจะมีแผนขับเคลื่อนต่อไป” นางนฤมลระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 มิ.ย. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) หารือราคาดีเซลรายสัปดาห์ที่ทยอยขึ้น โดยหากอนุมัติขึ้นราคาจะไม่เกิน 1 บาท/ลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาแตะ 35 บาท/ลิตร ส่วนข้อเรียกร้องลดค่าการกลั่นน้ำมันนั้น นายสุพัฒนพงษ์สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาทั้งแง่กฎหมาย และขอความร่วมมือโรงกลั่นลดค่าการกลั่นเป็นการชั่วคราว เพื่อหวังราคาหน้าปั๊มลดต่ำที่สุด ในขณะที่เงินเฟ้อในไทยพุ่งต่อเนื่อง และกองทุนน้ำมันฯ ทำสถิติติดลบสูงสุดกว่า 8.7 หมื่นล้านบาท และสถาบันการเงินยังไม่อนุมัติปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง
ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก ประชุมร่วมกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อร่วมกันหาทางออกด้านราคาพลังงานแพง ปรับโครงสร้างการคำนวณให้เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน โดยหารือทั้งเรื่องราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และราคาน้ำมัน โดยทางนายกุลิศมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนฯ ไปพิจารณารายละเอียดทั้งหมด
ในส่วนของราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊ม ซึ่งในขณะนี้ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนักจากราคาที่ขึ้นถี่นั้น ทางกลุ่มเสนอภาครัฐให้พิจารณาขอความร่วมมือกับเอกชน ขอให้ผู้ค้าน้ำมันปรับหลักการคำนวณราคาขายปลีกหน้าปั๊มจากการอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ 2 วันย้อนหลัง เป็น 14 วันย้อนหลัง สำหรับราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ได้เสนอให้ขอความร่วมมือชั่วคราว จำกัดค่าการกลั่นเป็นไม่เกิน 1.50 บาท/ลิตร เป็นการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตเท่านั้น เพราะจะเห็นได้ว่าในช่วงไตรมาส 2/65 ค่าการกลั่นสูงถึง 5 บาทต่อลิตร จากที่ไตรมาส 1/65 ได้ราว 1.00-2.00 บาทต่อลิตร ซึ่งทางกลุ่มเข้าใจถึงสถานการณ์การขาดทุนของโรงกลั่นน้ำมัน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ที่ขาดทุนรวมกัน 3 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2564 เริ่มฟื้นตัวมีกำไร และปี 65 ก็มีกำไรสูงมาก ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ก็น่าจะมาแบ่งปันทุกข์และสุขกับประชาชนร่วมกัน
ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายอรรรวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค ร่วมกันแถลงถึงวิกฤตพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องว่า แม้ราคาต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียนด้วยกัน เพราะมีการใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาหน้าปั๊ม แต่วันนี้สถานะกองทุนน้ำมันติดลบ 86,000 ล้านบาท หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาทในสิ้นเดือนนี้ กองทุนน้ำมันจึงอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถกู้สถาบันการเงินได้อีก แม้ในอนาคตราคาน้ำมันโลกจะลดลง แต่ยังเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจำนวนมาก เพื่อชำระหนี้กองทุนที่ติดลบอยู่ จึงกลายเป็นภาระในอนาคตของประชาชน
"ตอนนี้คนไทยกำลังโดนปล้นจากค่ากลั่นน้ำมัน จากข้อมูลราคาค่ากลั่นน้ำมันในช่วงเวลาเดียวกันปี 2563 อยู่ที่ 0.88 บาทต่อลิตร, ปี 2564 อยู่ที่ 0.87 บาทต่อลิตร แต่ปี 2565 กระโดดมาอยู่ที่ 8.56 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากเดิม 10 เท่า เท่ากับค่ากลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า ไปเพิ่มตามราคาตลาดน้ำมันสิงคโปร์ ทั้งที่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น กลายเป็นภาระประชาชน ภาระกองทุนน้ำมัน แต่ทำไมรัฐปล่อยให้ฟันกำไรได้ขนาดนี้" นายกรณ์ระบุ
หัวหน้าพรรคกล้า เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้ 3 ข้อ คือ 1.ควรกำหนดเพดานค่าการกลั่น เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันการค้ากำไรเกินควร พร้อมกำหนดขึ้นต่ำไม่ให้ถึงกับขาดทุน 2.เสนอเก็บ “ภาษีลาภลอย” (Windfall Tax) เพราะส่วนต่างจากราคาการกลั่นน้ำมัน เป็นราคาลาภลอยให้กับบริษัท ทำให้ได้กำไรจากส่วนต่าง จึงควรเก็บภาษีลาภลอย เพื่อนำกำไรที่เกินมาช่วยเหลือประชาชน นำมาช่วยในกองทุนน้ำมันต่อไป และ 3.ต้องจริงจังกับมาตรการประหยัดการใช้พลังงาน
นายอรรถวิชช์กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศมีหนี้จำนวนมาก ทั้งที่ต้องปรับเพดานหนี้สาธารณะ ปรับเพดานหนี้กึ่งการคลัง กองทุนน้ำมันก็ติดลบ ขอกู้ต่อไม่ได้ เกิดภาวะที่เรียกว่าหนี้จุกอก ดังนั้นรัฐบาลต้องแก้ปัญหาแบบฉีกกรอบ ซึ่งการเก็บภาษีลาภลอยเป็นวิธีการที่แก้ปัญหาได้โดยตรง และมีการใช้ที่ประเทศอังกฤษ และย้ำว่าราคาสินค้าอื่นๆ ยังกำหนดราคาขายได้ ราคาน้ำมันยังกำหนดเพดานค่าการตลาดได้ ควรกำหนดเพดานค่ากลั่นน้ำมันสำหรับการใช้ในประเทศเช่นกัน แต่ถ้าค่ากลั่นน้ำมันที่ส่งออกไม่ต้องมีเพดานก็ได้ ซึ่งตอนนี้พรรคกล้ากำลังเตรียมร่างแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องตามข้อเสนอ โดยอาจจะรวมรวมรายชื่อประชาชนเสนอต่อสภา หรือร่างให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
วันเดียวกัน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เปิดเผยว่า กมธ.ได้พิจารณาในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจและกระทรวงการคลัง รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สิ่งที่พบเจอ ล้วนแต่น่าหนักใจ 1.“หนี้บนพรมพรึบ หนี้ใต้พรมเพียบ” นอกจากหนี้สาธารณะ 4.4 ล้านล้านบาท ที่ถูกสร้างใหม่ขึ้นใน 8 ปี ยังเจอกับหนี้ที่ไม่ถูกบันทึกเป็นหนี้สาธารณะจากมาตรการกึ่งการคลังอีกราว 1 ล้านล้านบาท ที่สำคัญแทบไม่มีข้อมูลเลยว่ารัฐบาลใช้อะไรไปบ้าง กมธ.พรรคเพื่อไทยได้เรียกขอเอกสารไปทั้งหมด ต้องติดตามกันดูต่อ
2.“ค่าดอกเบี้ยพุ่ง” : การใช้หนี้สาธารณะในส่วนของ สบน. ปีนี้เป็นดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงถึง 192,126 ล้านบาท เกือบ 3 เท่าของการชำระเงินต้น 3.“ประเมิน ศก. ฝันหวาน” หน่วยงานที่ชี้แจงเสนอภาพที่เต็มด้วยความหวัง ในขณะที่ฝั่ง กมธ. กลับเห็นภาพที่น่าเป็นห่วง ต้องเจอทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ผลจากการต่อสู้เงินเฟ้อของ FED ต้นทุนการผลิตพุ่ง รวมถึงผลกระทบหากไทยต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 4.“จัดเก็บพลาด” ปีงบฯ 65 กรมสรรพาสามิตเก็บภาษีพลาดเป้าทุกเดือนติดต่อกัน ต่ำกว่าเป้าถึง 26,501 ล้านบาท 5.“ธนาคารรัฐ วางบทบาทผิด” 6.“การคลังชนเพดาน การเงินโดนกดดัน” งบฉบับนี้ผ่านการเค้นทั้งการประมาณการรายได้ที่สูงเกินจริง จากการคาดการณ์ที่จีดีพีที่สูงเกินจริง ซ้ำยังตั้งขาดดุลเกือบเต็มเพดานเพื่อทำให้มีเงินมาใช้จ่าย จนเรียกได้ว่าการคลังชนเพดาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน