คิกออฟเปิดสมัยประชุมสภาแล้ว เริ่ม 1 พ.ย.นี้ ฝ่ายค้านปั่นกระแส อยู่ในโหมดอันตรายมาก หลังศึกงัดข้อบิ๊กตู่-ธรรมนัสยังไม่จบ อาจทำองค์ประชุมล่ม-ร่าง กม.สะดุด ฮือฮาผลโพลสวนดุสิต "พิธา-ก้าวไกล" มาอันดับหนึ่งคนหนุนนั่งนายกฯ ประชาชนเห็นด้วยถึงเวลาเลือกตั้งใหม่ ลูกหาบโทนี่โชว์งานถนัดป้องอุ๊งอิ๊ง ไล่ทุบไชยันต์
ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวกรณีที่นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย กรณีข้อสอบเอนทรานซ์รั่วเมื่อปี 2547 ว่าขอให้นายไชยันต์เคารพการตัดสินใจของ น.ส.แพทองธาร ซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งที่เข้ามาอยู่ในการเมืองในระบอบประชาธิปไตย น.ส.แพทองธารเสนอตัวเข้ามาเป็นประธานที่ปรึกษาของคณะกรรมการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย มีเจตนาอยากช่วยเหลือ เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการทำงานให้กับพรรคเพื่อไทยเพื่อนำเสนอนโยบายที่ดีๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ นายไชยันต์เคยฉีกบัตรเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 นายไชยันต์เป็นอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์ให้กับนักศึกษา กลับมีพฤติกรรมในการฉีกบัตรเลือกตั้ง ที่สุดท้ายก็นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พฤติกรรมของนายไชยันต์ที่ไปฉีกบัตรเลือกตั้ง และเป็นอาจารย์สอนคณะรัฐศาสตร์ เหมาะสมหรือไม่ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี การที่อาจารย์ไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นเหมาะสมหรือไม่ ขอให้หยุดออกมาโจมตี น.ส.แพทองธารได้แล้ว
นายยุทธพงศ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์การเมืองตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.หลังมีการเปิดสมัยประชุมสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมสภาวันที่ 3-5 พ.ย. โดยประธานสภาฯ มีดำริสมัยประชุมนี้จะพยายามให้มีการออกกฎหมายให้ได้มากที่สุด ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นัดประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย วันที่ 2 พ.ย. เวลา 15.00 น. เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีความเป็นห่วงเรื่ององค์ประชุมสภาจะครบหรือไม่ จึงต้องหารือกันว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยต้องเข้าประชุมให้มากที่สุดเพื่อให้องค์ประชุมครบ
"สมัยประชุมนี้อันตรายมาก ในพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล มีความขัดแย้งกัน ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าเสถียรภาพรัฐบาลอาจจะไม่มั่นคง แม้จะยังไม่มีกฎหมายการเงินเข้าสภาในช่วงนี้ก็ตาม แต่กฎหมายต่างๆ ก็ต้องใช้องค์ประชุมของ ส.ส. อาจจะเป็นเหตุให้สภาล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบเกิดขึ้นในสมัยประชุมนี้ได้ ขณะเดียวกันในสมัยประชุมนี้ยังมีกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาด้วย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้ง ส.ส.และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ดังนั้น ต้องจับตาดู เพราะสมัยประชุมนี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องขององค์ประชุม เมื่อสมัยประชุมที่แล้วก่อนปิดสมัยประชุมสภาก็ล่ม" ส.ส.เพื่อไทยกล่าว
ขณะที่ท่าทีจากฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แจ้งว่า ขณะนี้แกนนำพรรคอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานภายในของพรรคให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเดินหน้าทางการเมืองและเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งในอนาคต ตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. ได้นำเสนอพิมพ์เขียวโครงสร้างพรรคใหม่ต่อที่ประชุมกรรมการบริหาร (กก.บห.) เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา
โดยรูปแบบโครงสร้างใหม่ของพรรค พปชร. จะใช้โมเดลแบ่งโซนทั่วประเทศออกเป็น 10 ภาค มีหัวหน้าภาค ซึ่งผ่านการเลือกกันเองของ ส.ส. มารับผิดชอบแต่ละพื้นที่ เนื่องจากมองว่าหากให้คนระดับรัฐมนตรีหรือผู้ที่มีศักยภาพ มีฐานเสียงในพื้นที่นั้นๆ รับผิดชอบ จะสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรค ลดการบริหารงานแบบรวมศูนย์ กระจายอำนาจให้แกนนำทุกกลุ่มมีบทบาทขับเคลื่อนพรรค ไม่ก้าวก่ายข้ามโซนกันไปกันมา นอกจากนั้น การที่ให้ทุกกลุ่มมีบทบาทในแต่ละภาค จะเป็นตัวกระตุ้นให้หัวหน้าภาคแต่ละคนต้องแข่งกันสร้างผลงานในการเลือกตั้งให้ออกมาดีที่สุด โดยหลังจากนี้พรรค พปชร. อาจมีการเพิ่มสัดส่วนรองหัวหน้าพรรคมาดูแลทั้ง 10 โซนทั่วประเทศ จากเดิมที่มีอยู่เพียง 4 คนเท่านั้น
“หากปรับโครงสร้างสำเร็จ จะเป็นเหตุผลสำคัญให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมร่วมงานการเมืองกับ พปชร.ต่อไป ไม่ตัดสินใจไปตั้งพรรคใหม่ เนื่องจากแกนนำพรรครวมถึงบรรดารัฐมนตรีในซีกที่สนับสนุนนายกฯ จะมีบทบาทดูแลพื้นที่และ ส.ส. ขณะที่ในส่วนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค จะยังคงได้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค อยู่ในตำแหน่งตามเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพียงแต่บทบาทจากนี้จะชัดเจนมากขึ้น ไม่ต้องรับผิดชอบภารกิจครอบจักรวาลเหมือนที่ผ่านมา”
ขณะที่นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และรองเลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรค พปชร.โดยมีข่าวเพิ่มรองหัวหน้าพรรคจาก 4 เป็น 5 คนว่า ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังคงเหมือนเดิม และยังไม่เคยเห็นหรือได้ยินการพูดถึงเรื่องดังกล่าว ส่วนเรื่องการพิจารณาตำแหน่งหัวหน้าภาคทั้ง 10 ภาคใหม่อีกครั้งนั้น การให้แต่ละภาคจัดการเลือกหัวหน้าภาคกันเอง เพื่อความปรองดอง ภาคของตนได้นัดประชุมกันในวันอังคารที่ 2 ต.ค.นี้ ส่วนจะเสนอใครเป็นหัวหน้าภาคนั้น จะไปคุยกันในที่ประชุม
เมื่อถามว่าการให้แต่ละภาคจัดการเลือกหัวหน้าภาคเอง ไม่ใช่การลดบทบาท ร.อ.ธรรมนัสใช่หรือไม่ นายไผ่กล่าวว่า หัวหน้าภาคมีอยู่แล้ว ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพียงแต่เปลี่ยนคน ซึ่งอาจจะเป็นคนเดิมก็ได้ ถามต่อว่าเสียงโหวตในสภารอบนี้จะไม่มีความขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่ นายไผ่กล่าวว่า ไม่มีแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ กฎหมายกี่ฉบับก็ผ่านหมด
เช่นเดียวกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับเสียงโหวตในสภาว่า สำหรับพรรค พปชร. มีระเบียบที่ชัดเจนมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะสามารถคุมเสียงได้ โดยเฉพาะนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล จะสามารถทำหน้าที่ควบคุมเสียงได้ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ยิ่งช่วงนี้มีข้อวิตกกังวลเกิดขึ้น ก็คงมีการพูดคุยกันบ่อยขึ้น ยืนยันว่าเราจะดูแลเรื่องเสียงในสภาให้ผ่านกฎหมายไปได้อย่างเรียบร้อย ไม่แค่เฉพาะช่วงนี้ แต่จะต้องตลอดสมัยการประชุมสภาเลย ส่วนภายในพรรค พปชร.เสียงก็เป็นเอกภาพอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร อีกทั้งการประชุมสภาครั้งนี้เป็นสมัยที่สอง และจะมีกฎหมายสำคัญต่างๆ เชื่อว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะหากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็จะต้องพิจารณากฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งกฎหมายนี้ทางพรรคเพื่อไทยก็จะร่วมด้วย
นายไพบูลย์ยังกล่าวกรณีพรรคเพื่อไทยเปิดตัว น.ส.แพทองธารเข้ามาร่วมทำงานกับพรรคว่า ฝ่ายค้านเขาอยากเห็นการเลือกตั้งโดยเร็วอยู่แล้ว การเปิดตัวโดยนำ น.ส.แพทองธารมาร่วมงานกับพรรคนั้นก็เป็นเรื่องปกติ และเขาเปลี่ยนหัวหน้าพรรคด้วย เข้าใจว่าอาจจะรีแบรนด์ ส่วนการรีแบรนด์ครั้งนี้จะดีหรือไม่ดีอย่างไร ค่อยไปตัดสินกันตอนเลือกตั้งครั้งหน้าจะดีกว่า แต่สำหรับพลังประชารัฐ มองแล้วว่าไม่น่าเป็นห่วงอะไร
ผลโพลเชื่อ พท.ชนะเลือกตั้ง
วันเดียวกันนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ช่วงนี้นักการเมืองลงพื้นที่บ่อย…จริงใจหรือไก่กา?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค จำนวน 1,316 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการที่มีข่าวนักการเมืองเกือบทุกพรรคลงพื้นที่บ่อยมากในช่วงนี้ เป็นความจริงใจเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชน หรือเป็นเพราะกระแสการยุบสภากันแน่
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข่าวนักการเมืองเกือบทุกพรรคลงพื้นที่บ่อยมากในช่วงนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.89 ระบุว่าไปเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนและหาเสียงไปด้วย รองลงมา ร้อยละ 19.38 ระบุว่า ไปเพราะกระแสการยุบสภามากกว่า, ร้อยละ 11.17 ระบุว่าไปเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนจริงๆ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการลงพื้นที่ของ ส.ส.ระบบแบ่งเขตเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 38.83 ระบุว่าไม่เคยลงพื้นที่เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนเลย รองลงมา ร้อยละ 36.93 ระบุว่าลงพื้นที่เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนไม่ค่อยบ่อย, ร้อยละ 16.41 ระบุว่าลงพื้นที่เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนค่อนข้างบ่อย
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในสายตาประชาชน" จำนวนทั้งสิ้น 1,186 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2564 สรุปผลได้ดังนี้
เมื่อถามว่าความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ณ วันนี้ ประชาชนคิดว่าเป็นสัญญาณบ่งบอกอะไรบ้าง พบว่าส่วนใหญ่ตอบว่าความแตกแยกในพรรคการเมือง 60.09%, อันดับ 2 สร้างกระแสให้กับตนเองและพรรค 50.06%, อันดับ 3 เป็นเกมการเมือง 49.26%, อันดับ 4 น่าจะมีการเลือกตั้ง 49.14%
ส่วนคำถามที่ว่าประชาชนคิดว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ในต้นปี 2565 หรือไม่ พบว่า น่าจะมีการเลือกตั้ง 57.86%, ไม่น่าจะมีการเลือกตั้ง 28.36% และไม่แน่ใจ 13.78%
ผลสำรวจเผยอีกว่า สำหรับคำถามว่าประชาชนคิดอย่างไรกรณีหากมีการเลือกตั้งใหม่ อันดับ 1 จะได้เปลี่ยนรัฐบาล 58.31%, อันดับ 2 เปิดโอกาสให้คนใหม่ ๆ เข้ามาแก้ไขปัญหา 56.26%, อันดับ 3 ได้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี 50.80%, อันดับ 4 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 43.17%
ที่น่าสนใจเมื่อถามว่า ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนคิดว่าพรรคใดจะได้รับเลือกตั้งมากที่สุด พบว่าอันดับ 1 เพื่อไทย 32.94%, อันดับ 2 ก้าวไกล 25.21%, อันดับ 3 พลังประชารัฐ 24.61%, อันดับ 4 ประชาธิปัตย์ 6.18%, อันดับ 5 ภูมิใจไทย 4.28%
ส่วนคำถามที่ว่า ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 28.67%, อันดับ 2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 21.27%, อันดับ 3 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 19.35%, อันดับ 4 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 8.84%, อันดับ 5 คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร 6.09%
และปิดท้ายเมื่อถามถึงว่า โดยภาพรวม ประชาชนคิดว่าถึงเวลาเลือกตั้งใหม่แล้วหรือยัง พบว่าถึงเวลาแล้ว 70.29%, ยังไม่ถึงเวลา 22.79% และไม่แน่ใจ 6.92%.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
สาวกเพื่อไทย ยื่นศาลรธน.สอบ 'ธนพร' ละเมิดอำนาจศาล
ที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ นายนิยม นพรัตน์ หรือเค สามถุยส์ และนายทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร เดินทางมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือร้อง นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์
'ชูศักดิ์' เผย 'เพื่อไทย' ได้รับความเป็นธรรม ศาลรธน. ไม่รับคำร้องปมล้มล้างการปกครอง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายอิสระ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย(พท.) ยุติการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองจะผูกพันไปยังกรณีที่มีการยื่นคำร้องเดียว
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
2 ตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อย รับคำร้อง 'ทักษิณ' สั่งรัฐบาลเอื้อประโยชน์ฮุนเซน น่าจะเกิดผลใช้สิทธิล้มล้างปกครองฯ
จากกรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2567 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูก
'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.
หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ