กรรมาธิการงบฯ 66 แนะกระทรวงการคลังเปิดเผยความเสี่ยงเงินคลังต่อประชาชน ชี้กรมบัญชีกลางควรทำแผนป้องกันงบบำนาญฯ หวั่นพุ่งเกิน 10% ของเงินงบประมาณแผ่นดิน เพื่อไทยไล่บี้ GT200 เผย สวทช.ให้คำตอบ ตรวจสอบแล้วไร้ประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม.พรรค พปชร. และนายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ.2566 แถลงผลการประชุม กมธ.งบประมาณฯ
นางกรณิศกล่าวว่า ในการพิจารณาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. กมธ.ได้ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณมาแล้วทั้งหมด 10 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว รวม 1 กระทรวง 4 หน่วยงาน 1 กองทุน และงบกลาง 7 รายการ ได้พิจารณางบประมาณในภาพรวมของ กระทรวงการคลังงบประมาณทั้งสิ้น 285,230,406,000 บาท และได้พิจารณางบประมาณของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง จำนวน 4 หน่วยงาน 1 กองทุน และงบกลาง 7 รายการ งบประมาณทั้งสิ้น 534,503,541,900 บาท ดังนี้
1.สํานักงานปลัดกระทรวงการคลัง จํานวน 1,269,034,300 บาท กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (งบประมาณ ทั้งสิน 35,514,624,900 บาท) 2.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จํานวน 929,749,300 บาท 3.กรมธนารักษ์ จํานวน 3,789,359,700 บาท และ 4.กรมบัญชีกลาง จํานวน 1,530,773,700 บาท
ด้านนายเขตรัฐกล่าวว่า ในการพิจารณางบประมาณของกระทรวงการคลังในภาพรวม มี กมธ.บางคนให้ข้อเสนอแนะว่า จากมาตรการของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีการให้หน่วยงานต่างๆ สำรองงบประมาณจ่ายไปก่อนได้ หากมีเหตุจำเป็นทางการคลัง ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สามารถทำได้ตามความใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 28 ที่มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น แต่ให้กระทำได้เฉพาะกรณี เช่น เป็นหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่อยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น หรือเพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย หรือการก่อวินาศกรรม แต่การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องเปิดเผย
ขณะที่นายสัณหพจน์กล่าวว่า ส่วนในการพิจารณางบประมาณของกรมบัญชีกลาง งบประมาณทั้งสิ้น 1,530,773,700 บาท ที่ประชุมได้มีการหารือกันเกี่ยวกับงบกลางในส่วนของงบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการในส่วนของเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ทั้งนี้ มี กมธ.ให้ข้อสังเกตว่า ในปี 2554 รายจ่ายรายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ใช้งบประมาณไม่ถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 5 ของรายจ่ายทั้งหมดของประเทศ แต่งบประมาณรายการนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเป็นรายการที่มีค่าใช้จ่ายเกินกว่าร้อยละ 10 ของงบประมาณทั้งหมดของประเทศ ด้วยเหตุนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการจัดทำงบประมาณในอนาคต หน่วยงานจึงควรมีแผนในการรองรับงบประมาณในส่วนนี้ ซึ่งจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอาจต้องเตรียมสำรองงบประมาณเอาไว้ล่วงหน้า หรือมีแผนการบริหารงบประมาณเพื่อไม่ให้งบประมาณรายการนี้เกินกว่าร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายรวมของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนของกรมบัญชีกลางได้ชี้แจงว่า จำนวนผู้รับบำนาญมีทั้งสิ้น 811,272 คน ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.2565 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ จำนวน 352,700 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 322,790 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สะสมเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะผู้รับบำนาญมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 400,000 ล้านบาท
นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย (พท.) ประธานคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ตรวจสอบการใช้เงินในโครงการจ้างตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT200) โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ประกอบด้วย กองทัพบก, สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.), ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน, สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.), สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง โดยได้มีการสอบถามเหตุผลถึงความจำเป็นในเรื่องการตรวจคุณภาพเครื่อง GT200 ของกองทัพบก โดยเฉพาะการจัดงบประมาณใน 2 ปีคือ 2564-2565 จำนวน 7.5 ล้านบาท
นายไชยากล่าวว่า กมธ.จึงได้สอบถามสวทช.ว่า ในปี 64 ผลของการตรวจสอบเครื่อง GT200 มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งได้รับคำตอบว่า สวทช.ได้ส่งผลการตรวจไปยังกองทัพบก ทราบว่าทั้ง 320 เครื่องนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กมธ.ได้สอบถามกองทัพบกว่า ในเมื่อเครื่องไม่มีประสิทธิภาพแล้วยังมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งงบประมาณในส่วนที่เหลืออีกหรือไม่ ซึ่งทางกองทัพบกยืนยันว่าในส่วนที่เหลือ 437 เครื่องนั้น ทางกองทัพบกได้สั่งระงับงบการจัดซื้อจัดจ้างกับสวทช.แล้ว ซึ่งทาง กมธ.จึงได้ให้กองทัพบกส่งเอกสารยืนยันว่าจะดำเนินการยกเลิกและไม่ดำเนินการตรวจสอบแล้ว ซึ่งทางกองทัพบกยืนยันว่ากำลังทำหนังสือไปยัง อสส. เพื่อขอคำตอบอย่างชัดเจนว่าคดีนั้นสิ้นสุดตามคำพิพากษาแล้ว ดังนั้น กมธ.จะมีการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป เนื่องจากได้ข้อมูลในเชิงลึกจากหลายส่วนที่จะมาให้ข้อมูลว่า ถึงแม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลทางคดีจะเป็นความเสียหายทางแพ่งที่จะต้องมีการชดใช้ แต่สิ่งที่มีความกังวลคือบริษัท เอวิเอ แซทคอมฯ มีขีดความสามารถหรือประสิทธิภาพที่จะชดใช้ความเสียหายให้กับรัฐได้มากน้อยได้แค่ไหน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อิ๊งค์’ลุยภูเก็ต หนุนท่องเที่ยว กลุ่ม‘ลักซ์ชูรี’
"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานแสดงเรือนานาชาติ หนุนท่องเที่ยวลักซ์ชูรีไลฟ์สไตล์
ชงแก้สัญญารถไฟฟ้าเชื่อม3สนามบิน
บอร์ดอีอีซีชงแก้สัญญารถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน เข้า ครม.ภายในเดือนเม.ย.นี้
ศาลนัด10ก.พ. 16บอสขอสิทธิ์ ได้ประกันสู้คดี
"ทนายดิไอคอน" จ่อยื่นประกันตัว 16 บอส ช่วงนัดตรวจหลักฐาน
2สัปดาห์ส่ง‘จ่าเอ็ม’กลับ เชื่อมีผู้ร่วมขบวนการอีก
นายกฯ สั่งทบทวนมาตรการป้องกันก่ออาชญากรรมในไทย
นโยบายตปท.เสียเหลี่ยมเพื่อนบ้าน
สส.ฝ่ายค้านชำแหละ “นโยบายต่างประเทศ” เงียบๆ เสียเหลี่ยมเพื่อนบ้าน
ระวังไม่มีแผ่นดินอยู่ ชวนย้อนคำเตือนแม้ว18ปี ชี้สส.แก่สุดในเพื่อไทย2คน
"ชวน" สวนกลับ “ทักษิณ” สส.แก่สุดอยู่ในพรรคเพื่อไทย 2 คน