น้ำมันแพงพุ่งไม่หยุด! ฉุดดัชนีภาวะค่าครองชีพเดือน พ.ค.ต่ำสุดรอบ 17 ปี คนกังวลรายได้ในอนาคตฉุดดัชนีร่วงสุดใน 24 ปี ส.อ.ท.ชี้ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯ ยังลดลงดิ่งสุดรอบ 7 เดือน สหพัฒน์สุดอั้น เจรจาพาณิชย์ไฟเขียวขึ้น "มาม่า" คิวถัดไป "ผงซักฟอก"
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน พ.ค.2565 ว่า อยู่ที่ 40.2 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับแต่เดือน ก.ย.2564 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 34.6, โอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 37.8 และรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 48.5 ปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง เนื่องจากผู้บริโภคกังวลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก หลังจากรัฐบาลเลิกตรึงราคาที่ 30 บาทต่อลิตร และจะมีการทยอยปรับขึ้นไปที่ 35 บาทต่อลิตร ทำให้เกิดปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าสูงขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทบต้นทุนการผลิตสินค้า ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว แม้ว่าปัญหาโควิด-19 จะคลี่คลาย และมีการเปิดประเทศ รวมทั้งยังน่ากังวลมากขึ้น เมื่อตัวเลขดัชนีค่าครองชีพเดือน พ.ค.อยู่ที่ 6.1 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 17 ปี 1 เดือน ขณะที่ดัชนีรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 48.5 ต่ำสุดในรอบ 23 ปี 8 เดือน
นายธนวรรธน์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว โดยดัชนียังอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพราะปัญหาค่าครองชีพที่สูง รายได้ไม่เพิ่มขึ้น การจ้างงานยังไม่เพิ่มขึ้น และยังกังวลน้ำมันจะแพงขึ้นอีก เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากสงครามรัสเซียยูเครน ต้องติดตามว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5-3% ปีนี้ โดยสัปดาห์หน้าศูนย์จะทบทวนเป้าหมายคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีอีกครั้ง
“เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสูงมาก ดังนั้นค่าครองชีพยังจะขึ้นเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงราคาน้ำมัน ตรึงราคาน้ำมันในไตรมาสที่ 3 ต่อ เร่งทำโครงการธงฟ้าขายสินค้าราคาถูกให้ครอบคลุมพื้นที่คนมีรายได้น้อย ดูแลค่าเอฟทีให้เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม ไม่เป็นภาระประชาชน และทำเที่ยวด้วยกับเฟส 4 และ 5 เพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ให้ซึมแรงไปกว่านี้”นายธนวรรธน์ระบุ
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ต้องดูว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้ง หากขึ้นครั้งเดียว 0.25% จะฉุดให้เศรษฐกิจไทยย่อลง 0.1-0.2% ช่วยกดเงินเฟ้อลง 0.2-0.3% แต่คาดว่าปีนี้ กนง.อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ซึ่งจะฉุดให้เศรษฐกิจย่อลง 0.3% และช่วยกดเงินเฟ้อได้ 0.4-0.5%
ทางด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค.2565 อยู่ที่ระดับ 84.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.2 ในเดือนเม.ย. ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลกระกอบการ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกรวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น โดยต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคการผลิต โดยเฉพาะ SMEs ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวช้าจากปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง สะท้อนจากดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ
นายเกรียงไกรกล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,323 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ในเดือน พ.ค. 65 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 85.5, สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 65.7 และเศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 59.0 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 55.5, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 36.4, สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 35.1 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 33.2 ตามลำดับ
วันเดียวกัน นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัจจัยเรื่องราคาต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวสาลีและน้ำมันปาล์ม ที่ราคาพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ “มาม่า” อย่างมาก ซึ่งบริษัทแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นเป็นสินค้าควบคุมภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์
จากปัจจัยข้างต้นทำให้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขออนุญาตการปรับขึ้นราคาขายสินค้าบางรายการ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น โดยเริ่มจากมาม่า แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะได้รับอนุญาตให้ขึ้นได้ตอนไหน ขณะที่สินค้าถัดไปคาดว่าน่าจะเป็นผงซักฟอกที่จะต้องมีการปรับเพิ่มราคาขายขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนสินค้าอื่นๆ จะต้องพิจารณาความเหมาะสมในเรื่องต้นทุนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เตรียมจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ทั้งรูปแบบ On Site และ Online ควบคู่กัน เพื่อช่วยค่าครองชีพของคนไทย โดยจะจัดขึ้นที่ฮอลล์ 98-100 ไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-3 ก.ค.65.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่งเบิกงบลงทุน ขีดเส้นให้ได้80% กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายกฯ อิ๊งค์นั่งหัวโต๊ะประชุมหัวหน้าส่วนราชการ บี้เร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุน 9.6 แสนล้าน
‘เวชระเบียน’หลอนทักษิณ โยนรพ.ตำรวจมอบให้ปปช.
นายกฯ พยักหน้ารับปม "ป.ป.ช." ทวงถามเวชระเบียนรักษาตัว
เพิ่มข้อหาแชร์ลูกโซ่18บอส จ่อหมายจับ‘ตั้ม’โกงเจ๊อ้อย
"ดีเอสไอ" แจ้งข้อหาเพิ่ม 18 บอสดิไอคอน คดีแชร์ลูกโซ่-ขายตรง
หึ่ง!เปลี่ยน‘พงษ์ภาณุ’แทน‘โต้ง’
“คปท.-ศปปส.-กองทัพธรรม” ลุกฮือ ยื่นหนังสือค้านคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
กอดMOUเจรจาเขมร ‘อิ๊งค์’หวั่นโดนฟ้องยันเดินหน้าแบ่งเค้ก/กต.แจงมีข้อดีกว่าเสีย
นายกฯ อิ๊งค์ลั่นเป็นคนไทย 100% ประเทศต้องมาก่อน ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่