เลิกโควิดโรคติดต่อนอกไทย ขึ้นบัญชีเฝ้าระวังฝีดาษลิง

ไทยป่วยใหม่ 2.2 พันราย   ดับ 20 คน ขยายเวลาผับตี 2 ส่อวืด นายกฯ ชี้ต้องดูกฎหมายเก่าด้วย สธ.ไฟเขียวยกเลิกเขตติดโรคติดต่ออันตราย "โควิด" นอกราชอาณาจักรทั้งหมด ยังไม่พิจารณาเป็นโรคเฝ้าระวัง ไร้ข้อสรุปถอดหน้ากาก รอประเมินเปิดผับบาร์ 2 สัปดาห์ เคาะ "ฝีดาษวานร" โรคติดต่อเฝ้าระวัง ลำดับที่ 56

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,224 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,224 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,224 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 4,824 ราย อยู่ระหว่างรักษา 26,889 ราย อาการหนัก 725 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 359 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 11 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 17 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,471,179 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,414,072 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,218 ราย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอขอขยายเวลาการเปิดสถานบริการถึงเวลา 02.00 น. ว่าได้มีการพิจารณาเป็นระยะๆ ซึ่งได้ให้แนวทางไปแล้วใน ศบค. วันนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งจะมีข้อยุติในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ การที่จะขยายเวลาไปมากกว่ากฎหมายเวลาเดิม ต้องย้อนไปดูกฎหมายเดิมว่าให้สถานบริการแต่ละสถานบริการก่อนหน้าโควิด-19 ให้เปิดไปจนถึงเวลาเท่าไหร่ มีทั้งเที่ยงคืน ตี 1 ตี 2 จะไปดูว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะกฎหมายเก่ายังมีผลบังคับใช้อยู่ ถ้าจะแก้ตรงนั้นใหญ่โตไปขอให้เข้าใจแล้วกัน

"ส่วนเรื่องของการถอดหน้ากากอนามัย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังพิจารณาอยู่ ผมคิดว่าหลายคนก็คงยังไม่อยากถอด หลายคนก็อยากถอด บางอย่างก็เป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ใช่ประกาศให้ถอดแล้วทุกคนต้องถอดหมด เพราะหลายคนยังไม่ไว้ใจ เขาก็ยังไม่ถอดหน้ากากอนามัย" นายกฯ ระบุ

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 4 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคโควิด-19 ที่เคยประกาศไว้ทั้งหมด เพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวก สอดคล้องกับสถานการณ์โรคที่ดีขึ้น ส่วนมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าไทยก่อนหน้านี้มีการลดระดับไปเยอะแล้ว โดยหากมีการฉีดวัคซีนครบโดส ไม่ต้องตรวจเชื้อด้วย RT-PCR หรือ ATK แต่หากยังฉีดวัคซีนไม่ครบ เข้าประเทศยังต้องตรวจ ATK

2.ที่ประชุมเห็นชอบกำหนดให้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 พร้อมกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ฝีดาษวานร” และกำหนดอาการของโรค 3.รับทราบสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย และสถานการณ์โลกดีขึ้น หลังเปิดเทอมยังไม่พบการระบาดที่น่ากังวล ส่วนการเปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ 6 วันแล้วยังไม่พบเหตุการณ์ผิดปกติ แต่ต้องประเมินผลอีก 2 สัปดาห์ 4.เห็นชอบข้อเสนอแนะมาตรการควบคุมป้องกันโรคโควิด ในสถานบันเทิง ผับ บาร์ ตามที่กรมอนามัยเสนอ

ส่วนเรื่องการถอดหน้ากากนั้น ที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่มีข้อสรุป จึงยังคงใช้มาตรการเหมือนเดิม ประเมินสถานการณ์อีกสักระยะ ซึ่งบอกไม่ได้ว่าต้องใช้เวลาแค่ไหน ก่อนเสนอ ศบค.พิจารณา ซึ่ง ศบค.จะมีการประชุมสัปดาห์หน้า ขณะนี้ประเมินสถานการณ์ทุกวัน แม้ว่าสถานการณ์ค่อนข้างคงที่ แต่ต้องรอดูผลกระทบจากการเปิดผับบาร์ด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่พบผลกระทบใดๆ

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนฝีดาษวานร นพ.โอภาสกล่าวว่า รอง ผอ.ศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (USCDC) ได้เข้าพบและหารือร่วมกันกับกรมควบคุมโรค แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเตรียมการเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันทางองค์การเภสัชกรรมได้ประสานไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อเตรียมการแล้ว แต่ขณะนี้ดูเหมือนความรุนแรงของโรคไม่ได้มาก ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

วันเดียวกัน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวเปิดการประชุมว่า สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น และพบว่ากิจกรรมซึ่งจัดขึ้นหลายกิจกรรม อาทิ งานดนตรีในสวน มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนอยากใช้ชีวิตในรูปแบบปกติ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมข้อมูลการเตรียมพร้อม ศักยภาพการรองรับผู้ป่วยของ กทม. ทั้งผู้ป่วยโรคโควิด-19 และโรคฝีดาษลิง ก่อนนำเข้าที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ในสัปดาห์นี้ โดยจะเป็นการนำเสนอมาตรการที่จะทำให้คนกรุงเทพฯ ได้มีชีวิตที่สะดวก ภายใต้มาตรการความปลอดภัยและปลอดโรค

จากนั้น นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม  โดยได้กำชับให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมหารือเตรียมมาตรการเพื่อเข้าสู่แนวทางการเป็นโรคประจำถิ่นของกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเข้าที่ประชุม ศปก.ศบค.พิจารณาต่อไป

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวถึงกรณีการกระจายวัคซีนโควิด-19 จำนวน 16.8 ล้านโดส สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการวัคซีนของประชาชนว่า ขณะนี้มีการสื่อสารทำให้เข้าใจผิดว่าการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ไป รพ.สต. ทำให้เกิดปัญหาวัคซีนล้นตู้เย็น และให้ รพ.สต.เป็นถังขยะทิ้งวัคซีนนั้น ไม่เป็นความจริง  ขอชี้แจงว่าการจัดสรรวัคซีนโควิดให้แก่ รพ.สต.เป็นไปตามแผนการเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ผ่านความเห็นชอบจากอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. เมื่อวันที่ 20 พ.ค.65 เพิ่มความครอบคลุมในทุกกลุ่มเป้าหมายที่ครบกำหนด ซึ่งแผนการจัดสรรวัคซีน 16.8 ล้านโดสสำหรับ รพ.สต. ตัวเลขนี้เป็นโควตา จะทยอยส่งเป็นรอบๆ ไปที่คลังวัคซีนจังหวัด ขณะนี้มี 20 จังหวัดที่ได้รับครบตามโควตา โดยมีการประสานแจ้งแผนการจัดส่งให้หน่วยบริการทราบก่อนทุกครั้ง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะกระจายวัคซีนต่อไปที่ รพ.สต. ตามศักยภาพการฉีดและความจุของตู้เย็นแต่ละ รพ.สต. ซึ่งหากยังไม่พร้อม ก็สามารถปฏิเสธการรับวัคซีนตามโควตาได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตอกยํ้าดีลฮ่องกง ลิ่วล้อแจงแทนนาย ‘พรรคส้ม’ ยากเป็นรัฐบาล

ตอกย้ำดีลฮ่องกงเหลว! "ณัฐวุฒิ" ขยายความ "ทักษิณ" คุย "ธนาธร" แค่เล่าชะตากรรม ไม่มีการพาดพิง ม.112 กับก้าวไกล เผยตั้งแต่โหวต "พิธา"

‘อิ๊งค์’ โชว์30บ. เวทีผู้นำเอเปก

นายกฯ อิ๊งค์โชว์ผลงาน 30 บาทรักษาทุกที่ บนเวทีผู้นำภาคเอกชนเอเปก พร้อมชวนลงทุนด้านธุรกิจดูแลสุขภาพในไทย มั่นใจหลังให้นโยบาย “บีโอไอ”

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี