"ชัชชาติ" นั่งหัวโต๊ะประชุมผู้บริหาร กทม.นัดแรก พร้อมสั่งการ 4 เรื่อง จ่อทบทวน 2 โครงการใหญ่อ้างไม่คุ้มทุน "บิ๊กป๊อก" เปิดประชุมสภา กทม. ขอให้ยึดหลักธรรมาภิบาลคำนึงถึง ปชช.เป็นศูนย์กลาง ยันไม่ก้าวก่ายการทำงานผู้ว่าฯ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นอำนาจ กทม. รอให้ชง ครม.พิจารณา ที่ประชุมสภามีมติเลือก "วิรัตน์" นั่งประธานสภา กทม.ตามโผ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 มิถุนายน ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.2) ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหาร โดยมีนายจักกพันธุ์ ผิวงาม, นายวิศณุ ทรัพย์สมพล, น.ส.ทวิดา กมลเวชช, นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. และนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารร่วมประชุม
ต่อมาเวลา 12.00 น. ภายหลังการประชุมนายชัชชาติกล่าวว่า ในการประชุมมีวาระ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.เรื่องโควิด ซึ่งจากการดูตัวเลขจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ อัตราการครองเตียงพบว่าสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งคิดว่าใกล้ถึงเวลาแล้ว จึงได้หารือเรื่องการถอดหน้ากาก แต่ต้องรอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) พิจารณาก่อน แล้วเสนอไปยัง ศบค.ใหญ่เพื่อให้ความเห็นชอบ 2.เรื่องงบประมาณ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2566 ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยนโยบาย 214 ข้อนั้นส่วนใหญ่สอดคล้องกับแผนพัฒนา กทม.ที่กำหนดในยุทธศาสตร์แต่ละด้าน ดังนั้นจึงจะปรับแนวทางการทำงานให้ชัดเจนขึ้น
3.เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานไปทำการสำรวจจุดอ่อนและช่องโหว่ของการ ทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมเสนอแนวทางการป้องกัน ก่อนรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นแผนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันภายใน 1 สัปดาห์ ตามนโยบายงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) โดยได้เชิญอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมประชุมด้วย ขณะเดียวกันจะทบทวนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือบางโครงการที่เร่งรัดในการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ผลงานที่ทำได้นั้นกลับไม่มีความคืบหน้า เช่น การปรับปรุงสวนลุมพินี, ปรับปรุงภูมิทัศน์สวนคลองช่องนนทรี ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่
เรื่องที่ 4.การบำบัดน้ำเสีย พบว่ามีหลายชุมชน ปล่อยน้ำเสียลงคลอง จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปสำรวจเพื่อจัดทำแผนบำบัดน้ำเสียในชุมชน ซึ่งสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ให้แล้วเสร็จถึง 11 ปี และใช้งบหลายหมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีการดำเนินการแล้วที่คลองลาดพร้าว ดังนั้นจึงให้ไปทำแผนให้ชัดเจนที่คลองเปรมประชากรและคลองแสนแสบด้วยว่าจะทำกี่ชุมชนและกี่จุดเพื่อสรุปอีกครั้ง
ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล นำทีม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.พรรคก้าวไกลทั้งหมด 14 คน) มาร่วมประชุมสภา กทม.ด้วย
ต่อมาเวลา 13.32 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมสภา กทม. โดยมี ส.ก.ที่ได้รับการรับรองจาก กกต.จำนวน 45 คน คณะผู้บริหาร, ผู้อำนวยการเขต 50 เขต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมนัดแรก
โดยนายชัชชาติกล่าวต้อนรับ รมว.มท.ว่า ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ก.จำนวน 50 เขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. และได้รับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว 45 เขตเลือกตั้ง ส่วนที่เหลืออีก 5 เขตเลือกตั้งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ประกอบด้วย เขตพญาไท, เขตสายไหม, เขตห้วยขวาง, เขตดินแดง และเขตวังทองหลาง
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานเปิดการประชุมสภา กทม. ขอแสดงความยินดีกับ ส.ก.ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่ จึงขอให้ยึดหลักธรรมาภิบาล และคำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง และทำหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 จึงเปิดประชุมดังกล่าวเพื่อให้สมาชิกได้ดำเนินการจัดประชุมตามระเบียบต่อไป
จากนั้นเลขานุการสภา กทม.ได้เชิญนายไสว โชติกะสุภา ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งมีอายุสูงสุดทำหน้าที่ประธานชั่วคราว กล่าวนำสมาชิกปฏิญาณตน โดยที่ประชุมมีมติเลือกนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี เป็นประธานสภา กทม. นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ ส.ก. เขตคันนายาว เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง และนายอำนาจ ปานเผือก ส.ก.เขตบางแค เป็นรองประธานคนที่สอง
นายวิรัตน์กล่าวว่า ขอบคุณ ส.ก.ที่ให้เกียรติมาทำหน้าที่ประธานสภา กทม. ยินดีสนับสนุน ส.ก.ในการปฏิบัติหน้าที่รับใช้พี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ สภากทม.จะขับเคลื่อนไปพร้อมผู้ว่าฯ กทม.และจะตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อนข้าราชการ ขอให้ตั้งใจในการทำหน้าที่เพราะประชาชนรอมา 8 ปี และมีความหวัง
ขณะเดียวกันได้ตั้งคณะกรรมการตรวจรายงานการประชุม 9 คน นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการแต่งตั้ง น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา พรรคเพื่อไทย เป็นโฆษกสภา กทม. และรองโฆษกสภา กทม. จำนวน 3 คน ได้แก่ นายนริสสร แสงแก้ว ส.ก.เขตบางเขน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.บางซื่อ พรรคก้าวไกล นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์
ต่อมา พล.อ.อนุพงษ์ให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศในการประชุมว่า บรรยากาศดีเพราะนายชัชชาติทำงานมานาน จึงได้มีการประชุมสภา กทม.ตามลำดับ เมื่อถามว่า พล.อ.อนุพงษ์เป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดรอยต่อ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่มีแน่นอน ต้องเข้าใจว่า กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ด้วยตนเอง มีแผนพัฒนา และมีข้อบัญญัติของตนเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปขอความเห็นชอบจากใคร
“ผมไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายการทำงานของนายชัชชาติ และ กทม. เป็นการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอิสระ เพราะฉะนั้นไม่มีรอยต่อ ไม่เกี่ยวกัน นายชัชชาติสามารถทำตามอำนาจหน้าที่ แต่หากต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ผมก็จะสนับสนุนเต็มที่” รมว.มหาดไทยกล่าว
ถามต่อว่า เรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมองเรื่องนี้ว่าจะมีการถกกับ กทม.อย่างไร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม.ที่จะดำเนินการ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา กทม.มีปัญหามานานแล้วและยังหาแนวทางแก้ไขไม่ได้ ต้องให้ คสช.ดำเนินการช่วยหาทางแก้ไข โดย คสช.ก็หาแนวทางให้ ซึ่งการแก้ไขรวมถึงการเจรจากำลังรอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ อย่างไรก็ตามเมื่อเห็นว่ามีผู้ว่าฯ ใหม่ สภา กทม.มีการทำหนังสือว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร
เมื่อถามว่า หลายคนคาดหวังว่าเมื่อมีกระบวนการแบบนี้จะทำให้ กทม.พัฒนาไปมากน้อยขนาดไหน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ดีแน่นอน เพราะเรามีผู้ว่าฯ ชัชชาติ ท่านเป็นคนมีความตั้งใจในการทำงาน ก็จะเห็นว่าท่านออกไปทำงานเยอะแล้วในทุกๆ เรื่อง มันก็ต้องออกมาดีแน่นอน
ถามอีกว่า กระแสของนายชัชชาติมาแรง ทำให้เกิดโดมิโนไปถึงจังหวัดอื่นที่อยากเลือกตั้งผู้ว่าฯ ด้วย พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ขอไม่วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้เพราะประเด็นต่างกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพฯ มีหน้าที่บริการสาธารณะ แต่ในพื้นที่อื่นๆ ไม่ใช่หน้าที่นั้น โดยหน้าที่ผู้ว่าฯ จะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับอำนาจส่วนกลาง ลงไปในพื้นที่ ยึดโยงกับพื้นที่ คนละอำนาจกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กต่อแจงบ้านลอนดอน รมว.ดีอีดีดรับพ่อนายกฯ
ป.ป.ช.เปิดขุมทรัพย์ “บิ๊กต่อ” หลังพ้นเก้าอี้ ผบ.ตร. ทรัพย์สิน 209 ล้าน
ภท.เฮรอดคดียุบพรรค! อิ๊งค์ขอเริ่มทำงาน2ม.ค.
“ภท.” เฮ รอดยุบพรรค กกต.ยุติสอบ “วันนอร์” ไม่หวั่นถูกเลื่อยขาเก้าอี้
ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3
“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด
ชวนบี้แก้ปมท้องถิ่นชิงลาออก
“แสวง” ลงพื้นที่ปราจีนบุรี ส่องรับสมัครนายก อบจ.วันสุดท้าย
จี้สอบ6ข้อป่วยทิพย หวั่น‘สมศักดิ์’แทรกแซง/‘แม้ว’ถก‘อันวาร์’เรื่องอาเซียน!
"บิ๊กป้อม" เลี่ยงเผชิญหน้า "ทักษิณ" ยกเลิกร่วมงานอวยพรครบรอบ 75 ปี
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย