ซูเปอร์โพลเผยประชาชนหวังรัฐใช้งบ 66 โปร่งใส ไม่โกงและตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง นักวิชาการเสนอโยกงบซื้ออาวุธ เปลี่ยนลงทุนระบบชลประทาน ก้าวไกลลั่นตรวจสอบเข้มใน กมธ. พร้อมนำเสนอสังคมทุกสัปดาห์
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจเรื่อง งบประมาณปี 66 กับ ความคาดหวังฟื้นประเทศ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,126 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3-4 มิถุนายน พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.3 ต้องการให้ข้าราชการที่มีหน้าที่ใช้งบประมาณไม่ทุจริต โปร่งใส ขยันทำงานเพื่อประชาชน ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำเงินเข้ากระเป๋าตนเองจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.6 ต้องการให้นำเงินงบประมาณไปใช้ ประหยัด โปร่งใส คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.9 ไม่ต้องการให้นำเรื่องงบประมาณของประเทศมาเป็นเกมกดดันหรือต่อรองประโยชน์ทางการเมือง, ร้อยละ 86.5 เห็นด้วยกับการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่ใช้กลไกรัฐสภาในการทำงานเพื่อประชาชน ดีกว่าการนำมวลชนลงถนน, ร้อยละ 85.4 ระบุมียังมีนักการเมืองแบบเก่า อภิปรายไม่สร้างสรรค์ จับสาระไม่ได้ ตั้งใจเสียดสีและบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิดในสังคม และร้อยละ 80.1 ระบุ ภาพรวมการอภิปรายงบประมาณปี 2566 ดีขึ้น เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มีข้อสังเกตและเสนอแนะทางนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 มีความหวังว่าหลังผ่านงบประมาณ ปี 66 จะทำให้มีเงินเข้าระบบมาพัฒนา ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 และเปิดประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 19.4 ไม่มีความหวัง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.4 ยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะนำเงินไปใช้พัฒนาประเทศให้มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ร้อยละ 30.6 ไม่เชื่อมั่น
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึงงบประมาณปี พ.ศ.2566 ว่าโดยภาพรวมแล้วรัฐสภาควรพิจารณาตัดงบประจำลงมาให้อยู่ในระดับหรือต่ำกว่า 70% และ เพิ่มงบลงทุนให้อยู่ที่ 26-30% ของวงเงินงบประมาณ นอกจากนี้ควรกำกับควบคุมการก่อหนี้สาธารณะไม่ให้ทำงบประมาณขาดดุลเกิน 3% ของจีดีพี ในปี พ.ศ.2566 (รัฐบาลประมาณการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 3.88% ของจีดีพี ก่อหนี้สาธารณะเพื่อชดเชยการขาดดุลประมาณ 6.95 แสนล้านบาท) หากการขาดดุลและกู้ชดเชยเกิน 3% ของจีดีพีอาจก่อให้เกิดปัญหาวินัยและฐานะการคลังในระยะยาวได้ ขณะนี้หนี้สาธารณะคงค้างของประเทศอยู่ที่ 9.95 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 60.6% ของจีดีพี นอกจากนี้เสนอให้โยกงบประมาณโยกเม็ดเงินจากการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้ในการลงทุนระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงข่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 66 ของสภาครั้งนี้น่าผิดหวังเป็นอย่างมาก และเมื่องบประมาณเข้าสู่วาระ 2 พรรคก้าวไกลจะใช้โอกาสนี้ในการทำภารกิจอย่างเต็มที่เพราะประชาชนฝากความหวังไว้ โดยพรรคได้ตั้งตัวแทน 6 คนเข้าไปร่วมเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อทำให้งบประมาณของประชาชนถูกใช้อย่างมีประโยชน์ให้มากที่สุด ขอให้ประชาชนช่วยกันติดตามในทุกสัปดาห์ของการจัดทำงบประมาณ เพราะเราจะนำข้อมูลที่มีการพูดคุยกันในกรรมาธิการมานำเสนอให้ประชาชนรู้ว่าเงินภาษีประชาชนถูกใช้อย่างไร มีประโยชน์อย่างไร และกรรมาธิการชุดนี้ได้ตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นไปแล้วเท่าไหร่ พรรคก้าวไกลจะทำงานอย่างเต็มที่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน