ทั่นโรมได้ทีใช้จีที 200 ขย่มบิ๊กตู่ กมธ.ติดตามงบฯ ไม่รอช้า จ่อเรียก สวทช.ใน 2 สัปดาห์แจง ข้องใจค่าตรวจแพง PTEC ร่อนเอกสารเผยราคาถูกกว่าต่างประเทศ เพราะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์วัดค่า
เมื่อวันอาทิตย์ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงกรณีนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรค ก.ก. ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ถึงการใช้งบประมาณของกองทัพที่จ้างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT200) จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 7.57 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเครื่องละ 10,000 บาท ว่าเป็นการใช้เม็ดเงินที่พิสูจน์ให้เห็นว่าไร้ประโยชน์ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ไม่สามารถใช้ได้จริง เป็นไม้ล้างป่าช้า ดังนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินเพื่อพิสูจน์ว่าอุปกรณ์นี้ใช้ได้หรือไม่ เพราะคนทั่วไปใช้ไขควงอันเดียวก็สามารถพิสูจน์ได้แล้ว ทำไมเราต้องใช้เงินมากขนาดนี้เพื่อพิสูจน์ว่าอุปกรณ์ลวงโลกนี้ลวงโลก
“เรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำว่าตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นนายกฯ 8 ปี ไม่ได้ใช้เงินภาษีประชาชนอย่างมีประโยชน์มากขึ้นแม้แต่น้อย เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังจริงๆ ซึ่งพรรคจะไม่ปล่อยให้ใช้ภาษีประชาชนกับเรื่องที่ไร้สาระที่ไม่คุ้มค่าแบบนี้” นายรังสิมันต์ระบุ
นายรังสิมันต์กล่าวอีกว่า กระบวนการตรวจสอบ GT200 ตั้งแต่ปีก่อนหน้านี้มีปัญหามาโดยตลอด หลายครั้งที่ตรวจสอบงบกองทัพ กรรมาธิการ (กมธ.) ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกได้ และส่วนมากผู้แทนของกองทัพเมื่อมาชี้แจงก็อ้างเรื่องของความมั่นคงว่าเป็นรายละเอียดที่เปิดเผยไม่ได้ ซึ่งคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมาทำความเข้าใจใหม่ ปรับวิธีการของบประมาณ และต้องทำให้ผู้แทนราษฎรเข้าถึงข้อมูลให้มากที่สุด
นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธาน กมธ.จัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ.กำลังรวบรวมข้อมูลเรื่องดังกล่าวอยู่ ซึ่งดูแล้วมีประเด็นน่าสงสัย เพราะหน้าที่หลัก สวทช.ควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานวิจัย มากกว่าการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องมือ เรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจและความเชี่ยวชาญโดยตรงมากกว่าหรือไม่ โดยเฉพาะราคาตรวจสอบเครื่องละ 10,000 บาท จะมีความเหมาะสมหรือไม่ ถ้าเทียบกับการให้หน่วยงานอื่นในประเทศไทย เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ มาตรวจสอบแทน
"คาดว่าอีก 2 สัปดาห์ กมธ.จะเรียก สวทช.มาให้ข้อมูลถึงการมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ ความเชี่ยวชาญ และข้อสงสัยเรื่องราคาตรวจสอบเครื่องละ 10,000 บาท ตลอดจนเรียกตัวแทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาให้ข้อมูลผลการตรวจสอบบัญชีของแต่ละหน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องจีที 200 ถ้ามีประเด็นสงสัยเพิ่มเติม จะตรวจสอบอย่างใกล้ชิดต่อไป" นายไชยากล่าว
ด้านศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. ชี้แจงผ่านเอกสารว่า ได้รับการประสานจากกรมสรรพาวุธทหารบกเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของ GT200 ทั้ง 757 เครื่อง ว่าใช้งานได้หรือไม่ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการดำเนินคดีปกครอง โดยต้องดำเนินการตามหลักการที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนและเชื่อถือได้ในชั้นการพิจารณาของศาล ทั้งการตรวจวัดไฟฟ้าสถิต การแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง
“ค่าบริการทดสอบทั้งหมด ศูนย์ PTEC คำนวณจากการใช้วัสดุและอุปกรณ์ทดสอบ ห้องปฏิบัติการทดสอบ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการใช้สารเสพติดและวัตถุระเบิดในการทดสอบ เพื่อให้ได้คุณภาพของผลการทดสอบตามเอกสารว่าจ้างที่ระบุทุกรายการ ซึ่งค่าบริการดังกล่าวราคาถูกกว่าการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการต่างประเทศ”
เอกสารชี้แจงระบุว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สวทช. ปฏิบัติหน้าที่ในทุกภารกิจบนหลักวิชาการและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพบนพื้นฐานในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และขอยืนยันเจตนารมณ์ในฐานะองค์กรวิจัยและพัฒนาที่จะใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"