‘สายเขียว’ได้เฮลั่น! 9มิ.ย.พ้นผิดทุกคน

สายเขียวเฮลั่น! โฆษกศาลยุติธรรมยืนยัน 9 มิ.ย.นี้ปลดล็อกกัญชา  ออกหมายปล่อยผู้ต้องขังคดีกัญชาหมดทุกคน คดีที่รอนัดฟังคำพิพากษาที่จำเลยได้ปล่อยชั่วคราวอยู่ก็จะยกฟ้อง

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จึงส่งผลให้การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งพืชกัญชา หรือการกระทำอื่นเกี่ยวกับพืชกัญชาก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จะไม่มีความผิดอีกต่อไปว่า ขั้นตอนการปฏิบัติจะเป็นไปตามหนังสือเวียน สำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 เรื่องข้อพิจารณาความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลในความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาศาลจะยกฟ้อง ถ้าอยู่ระหว่างฝากขังศาลก็จะยกเลิกการฝากขัง ถ้ามีหลักประกันก็จะได้คืนหลักประกัน

โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวว่า คดีกัญชาที่ถึงที่สุดเเล้วเเต่ตัวจำเลยอยู่ระหว่างกักขังเเทนค่าปรับก็จะยกเลิกเเละปล่อยไป  ส่วนกรณีที่ตัดสินจำคุก ซึ่งตนคิดว่าน่าจะมีจำนวนไม่มาก เพราะโทษคดีเกี่ยวกับกัญชาส่วนมากจะไม่ใช่โทษสูง ซึ่งทางศาลเองก็จะดำเนินการตรวจสอบเเละออกหมายปล่อยในขณะเดียวกัน ทางจำเลยหรือญาติก็สามารถทำคำร้องเข้ามาได้ด้วย เพราะจำเลยบางคนอาจจะมีคดีอื่นด้วย ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้

"สำหรับจำเลยที่ถูกกักขังหรือจำคุกอยู่ก็คาดว่าศาลจะตรวจสอบเเละปล่อยตัวได้หมด เนื่องจากจำนวนไม่น่าจะเยอะมาก ส่วนคดีที่รอนัดฟังคำพิพากษาที่จำเลยได้ปล่อยชั่วคราวอยู่ ก็จะยกฟ้อง เเต่ศาลก็จะยังกำหนดนัดมาฟังคำพิพากษาตามเดิม เพราะถือว่าตัวอยู่ข้างนอกเรือนจำ" นายสรวิศกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

(1) พืชฝิ่น พืชซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Papaver somniferum L. และ Papaver bracteatum Lindl. หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝุ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น

(2) เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis (Earle) Singer หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin

(3) สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น

(ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูก

(ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ

ข้อ 2 กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 1 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์นั้น ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา.

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง