อยากพบ ‘ชัชชาติ’ รอ ‘บิ๊กตู่’ เรียกหารือ

"ชัชชาติ" กางไทม์ไลน์ เข้าหา "มท.1" มีประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว   ส่วนนายกฯ ถ้าติดต่อมาก็พร้อมไปพบ ถ้าไม่ติดต่อก็จะขอเข้าพบเอง ลงพื้นที่ถนนพระราม​ 3 หลังประชาชนร้องถนนไม่เรียบจากการเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดิน​ สั่งเคลียร์ฝาท่อ​ ปรับถนนให้เรียบมากขึ้น

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน​ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์กรณีจะเข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ว่าต้องเข้าไปแนะนำตัวและไปรับการบ้านจาก พล.อ.อนุพงษ์ ส่วนประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ขึ้นอยู่กับ พล.อ.อนุพงษ์ว่าจะพูดหรือไม่ แต่เราก็มีกำหนดการที่จะเรียนถามบ้างในเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีการติดต่อให้เข้าพบหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่เห็น หาก พล.อ.ประยุทธ์ ติดต่อมาก็พร้อมไปพบ แต่หากไม่ติดต่อมาก็จะเข้าพบเอง ซึ่งโดยลำดับขั้นของการสั่งการ ตนอยู่ใต้กระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นต้องไปกระทรวงมหาดไทยก่อน และตนเป็นผู้น้อย จะเข้าไปพบ พล.อ.ประยุทธ์เองคงไม่ได้ ต้องให้สั่งมา

วันเดียวกันนี้ นายชัชชาติพร้อมคณะ ลงพื้นที่บริเวณสวนศิลาฤกษ์ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ พร้อมด้วยนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง, ​ นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา, นายสุนิติ บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการเขตยานนาวา เพื่อสำรวจโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน บนถนนพระราม 3 หลังจากที่นายชัชชาตินัดหมายไว้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย​.ที่ผ่านมา

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า หลังจากได้รับการร้องเรียนของประชาชนเรื่องถนนไม่เรียบ จากการก่อสร้างท่อสายไฟฟ้าใต้ดิน บนถนนพระรามที่ 3 ของการไฟฟ้านครหลวง​ โดยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง​  ได้สั่งการให้มีการปรับปรุง และทางสำนักการโยธาได้มีการสั่งให้หยุดปฏิบัติงานชั่วคราว เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนฝาบ่อให้เรียบร้อยก่อน

ด้านนายไทวุฒิกล่าวว่า ตอนนี้มีการปรับปรุงรูปแบบคานที่รองรับแผ่นถนนด้านบน เทคอนกรีตติดกับโครงสร้างของบ่อ ทำให้การทรุดตัวปากบ่อจะไม่เกิดขึ้น รวมถึงรื้อผิวการจราจรรอบบ่อประมาณ 1 เมตร แล้วเทพื้นใหม่ โดยทางการไฟฟ้านครหลวง​จะยุติการก่อสร้างชั่วคราวเพื่อปรับพื้นผิวการจราจรทั้งหมดก่อน

ขณะที่นายวิลาศกล่าวว่า ที่ผ่านมา MEA ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านระบบไฟฟ้า ทำให้เกิดความปลอดภัยและเกิดทัศนียภาพที่สวยงาม โดยได้ดำเนินงานในช่วงเวลา 22.00-05.00 น. ของทุกวัน เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลากลางวันที่มีการเปิดให้รถสัญจรเป็นปกตินั้น การไฟฟ้านครหลวงได้กำหนดรูปแบบการดำเนินงานให้กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างในแต่ละโครงการ เช่น การปิดฝาบ่อพักชั่วคราว, การวางแผ่น Road Deck ตลอดจนการเทคอนกรีตเพื่อแก้ไขปัญหาผิวการจราจร แต่เนื่องจากปัญหาอุปสรรคการทรุดตัวของดิน และข้อจำกัดในด้านระยะเวลาดำเนินงาน จึงส่งผลต่อความราบเรียบและความสม่ำเสมอของผิวถนนในบางพื้นที่ ซึ่งการไฟฟ้านครหลวง​และบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง​

ทั้งนี้ จากการร่วมวางแนวทางแก้ไขในครั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง​มีแนวทางให้บริษัทผู้รับเหมาปรับปรุงรูปแบบการปิดฝาบ่อพัก แบ่งออกเป็น 4 วิธีคือ​ 1.กรณีเป็นบ่อพักที่ต้องหยุดงานมากกว่า 4 เดือน ให้เทคอนกรีตปิดฝาบ่อ ส่งผลให้ไม่มีรอยต่อของฝาบ่อ​ 2.กรณีฝาบ่อพักที่ต้องปิด-เปิดทุกวัน ให้เปลี่ยนฝาบ่อพักที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (จากเดิมปิดโดยใช้ 8 ชิ้น เปลี่ยนเป็นปิดโดยใช้ 4 ชิ้น) ส่งผลให้ลดรอยต่อของฝาบ่อ ผิวถนนราบเรียบมากขึ้น​ 3.กรณีฝาบ่อพักที่ต้องปิด-เปิดทุกวัน แต่มีกำหนดเสร็จสิ้นงานภายใน 1 ปี ยังคงใช้ฝาบ่อเดิม แต่เพิ่มการตรวจสอบสภาพฝาบ่อให้มีความเรียบร้อย​ 4.กรณีแผ่น Road Deck หรือแผ่นถนนชั่วคราว ให้เสริมความแข็งแรงโครงสร้างรองรับแผ่น Road Deck ป้องกันการทรุดตัวที่ริมฝาบ่อ และเทคอนกรีตปรับระดับจุดเชื่อมต่อกับผิวถนนจริง

นายวิลาศ​กล่าวเพิ่มเติม​ว่า นอกจากการวางแนวทางด้านวิศวกรรมแล้ว การไฟฟ้านครหลวง​ได้วางมาตรการกำกับการปฏิบัติงานของบริษัทผู้รับเหมา โดยการจัดให้มีการตรวจสอบความเรียบร้อยของฝาบ่อและผิวจราจรตลอดระยะพื้นที่ของโครงการก่อสร้าง 2 ช่วงเวลาต่อวัน รวมถึงการจัดทีมงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขเหตุเร่งด่วน และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน

ด้านนายชัชชาติยังกล่าวอีกว่า เป็นนิมิตหมายที่ดี ถ้าเราร่วมมือกันแก้ปัญหา​ แป๊บเดียวหาคำตอบได้เลย ขอให้มีการคุยงานการประสานงานกัน นอกจากนี้ ยังมีถนนอีกหลายเส้น อย่างถนนสาทร ถนนวิทยุ ต้องเอามาตรการแบบนี้ไปใช้ เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน​  นอกจากนี้ได้มีการหารือการจัดระเบียบสายสื่อสาร เนื่องจากสายสื่อสารอาศัยการใช้เสาไฟฟ้าเป็นหลัก เพราะมีประชาชนร้องเรียนมาเยอะเรื่องความไม่เป็นระเบียบ โดยขั้นแรกอาจจะยังไม่ต้องลงดินก่อน เป็นการจัดระเบียบทางสายตา สายสื่อสารไหนที่ไม่ได้ใช้ก็เอาออก ซึ่งจะมีการประชุมหารือระหว่าง กทม., การไฟฟ้านครหลวง​, กสทช. และเอกชนเจ้าของสายสื่อสาร

ขณะที่นายชัชชาติ​กล่าวเพิ่มเติม​ว่า​ เรื่องไฟตามถนนดับ มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เป็นหน้าที่ของ กทม.ในการลงทุนตัวหลอดไฟ ส่วนทางการไฟฟ้านครหลวง​เป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้าให้ ด้านสำนักการโยธาได้มีโครงการติดตั้งหลอดไฟใหม่ที่ดับจำนวน 10,000 ดวง ภายในไม่เกิน 3 เดือน​ อีกทั้งต้องจะมีการประสานงานร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยในสัปดาห์หน้าตนจะเข้าไปพูดคุยกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเรื่องจราจร, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการปลูกต้นไม้ ฝุ่น PM 2.5 มลพิษ, กรมราชทัณฑ์ เรื่องการลอกท่อโดยผู้ต้องขัง และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย  เพื่อเพิ่มความโปร่งใส

“อย่างที่เรียนตั้งแต่ต้นแล้วว่า หน้าที่ กทม.ต้องประสานสิบทิศ เพราะเราไม่ได้มีอำนาจทั้งหมด แต่เชื่อว่าความตั้งใจจริงของทุกหน่วยงาน ตัวอย่างการไฟฟ้านครหลวง ตั้งใจจริงมาก ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน เชื่อว่าถ้าเรามีการร่วมมือกันแล้วแก้ปัญหาได้ง่าย ไม่ได้ยาก เป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมาที่ต้องทำ เพราะว่ามีการคิดเงินการก่อสร้างแล้ว เราแค่กำกับดูแลให้เข้มข้น” นายชัชชาติกล่าว

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเปิดประชุมสภากรุงเทพมหานครที่ยังไม่มีการเปิดประชุมว่า พ.ร.บ.กทม.เขียนชัดเจนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องเปิดประชุมสภา กทม.ภายใน 15 วัน หลังการเลือกตั้ง ซึ่งวันจันทร์นี้ก็จะครบ 15 วัน อีกทั้งสภาใหญ่ได้ผ่านการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 ในวาระแรกไปแล้ว ซึ่งมีส่วนของกรุงเทพมหานครเป็นเงินกว่าแสนล้านบาท มีความจำเป็นต้องใช้สภา กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพราะเกือบ 8 ปีที่ผ่านมามีแต่สภา กทม.ที่แต่งตั้งโดย คสช.

ในพระราชบัญญัติบริหารราชการกรุงเทพมหานครเขียนชัดเจนว่า ให้เวลา 15 วัน หลังการเลือกตั้งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องไปเปิดประชุมสภา กทม. แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดการเปิดสมัยประชุม อาจทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่ได้รับการคุ้มครองเงินงบนายจิรายุกล่าวว่า ปัจจุบัน กกต.ประกาศไปแล้วถึง 40 เขต ส่วนที่เหลือที่มีเรื่องร้องเรียนก็เป็นเรื่องของ กกต.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป สภา กทม.ก็ต้องเดินหน้า จึงขอฝากไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ท่านติดภารกิจ ก็ให้มอบ มท.2-3-4 ไปเปิดประชุมสภากทม.ได้ เพื่อให้ฝ่ายควบคุมงบประมาณและการทำงานของ กทม. จะได้ทำงานอย่างไม่ล่าช้า ยิ่งปล่อยนานวันก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งต่อกระทรวงมหาดไทยกรุงเทพมหานคร และคน กทม.

“ขอเตือนว่า หากเลย 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด และกระทรวงมหาดไทยยังไม่มีการดำเนินการใดๆ หากมีคนไปร้องว่ารัฐมนตรีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติที่กฎหมายเขียนไว้ชัดเจน เดี๋ยวจะหาว่าผมในฐานะ ส.ส.กทม.ไม่เตือน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป