โหวตงบ66ผ่านฉลุย แจกโควตากมธ.‘ศท.-พรรคเล็ก’/ตู่รับผิดชอบเอง

"ประยุทธ์" พอใจภาพรวมชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 "พท."  ซัดเป็นฉบับขูดรีด ปชช. บอกลดเงินกู้เลี่ยงวิจารณ์ "บิ๊กตู่" ควันออกหูถามรีดใคร  ยันรับผิดชอบทุกอย่าง เหน็บ “ก้าวไกล” ใช้เวลาพิจารณางบหาเสียงผิดเวที “พิธา” สวนติอย่างเดียว โดนหาเล่นการเมือง  “หมอชลน่าน” ฝากถึงคนเขียนโพยคำตอบนายกฯ อย่าใส่อารมณ์มาด้วย "ก้าวไกล" ชงตัดงบศาล รธน. 100% อ้างไม่เข้าใจคำว่า "ปฏิรูป-ล้มล้าง" สะพัด! โหวตวาระแรกผ่านฉลุย หลังกลุ่มพรรคเล็กเสียงแตก ก๊วนธรรมนัสลดท่าทีแข็งกร้าว เพื่อไทยคุมเสียงไม่ได้หมด กางโควตาจัดสรร กมธ.งบฯ ลงตัว          

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระรับหลักการ ต่อเป็นวันที่สอง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วันแรกว่า ก็ดี ไม่มีอะไร ชี้แจงกันได้ดีก็โอเค

จากนั้นเวลา 09.00 น. ได้เริ่มการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 เป็นวันที่สอง มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม โดย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายเป็นคนแรก ระบุว่า งบปี 66 เป็นฉบับขูดรีดประชาชน ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง รัฐบาลกู้ได้สูงสุด 7.1 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลตั้งใจปรับลดเหลือ 6.9 แสนล้านบาท ไม่ยอมกู้เต็มเพดาน ให้ตัวเลขดูน้อยกว่าปีก่อน เพื่อหลบเลี่ยงการโดนวิจารณ์ว่าเป็นนักกู้ และเพิ่มประมาณการรายได้แทน โดยปี 66 ตั้งเป้าเก็บรายได้ถึง 2.49 ล้านล้านบาท พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าเอาเปรียบประชาชน เพราะรัฐบาลตั้งเป้าจะเก็บภาษีนิติบุคคลให้ได้ 6.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9 หมื่นล้านบาท ถามว่าจะเน้นเก็บจากใคร จากธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจเอสเอ็มอี

"เชื่อว่าภาษีนิติบุคคล 80% มาจากบริษัทขนาดใหญ่ รัฐบาลอาจเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเหล่านี้เพื่อที่จะได้มาจ่ายภาษีตามที่รัฐบาลตั้งเป้า และละเลยธุรกิจเอสเอ็มอี แต่หากเก็บภาษีจากธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ได้ตามเป้า กรรมก็อาจตกมาอยู่ที่เอสเอ็มอีที่บอบช้ำอยู่แล้ว ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่พอเก็บจริงไม่สามารถเก็บจากกลุ่มเป้าหมายได้ กลายเป็นว่าคนที่จ่ายภาษีจริงคือคนที่มีรายได้ปานกลาง" น.ส.จิราพรกล่าว

ต่อมา น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) อยากให้มีไลฟ์สดให้ประชาชนได้เห็น เพราะตนมองว่าคณะอนุ กมธ.เป็นคณะที่ตบทรัพย์เป็นห้องเชือด ประชาชนจะไม่เห็นวิธีการ วานนี้ (31 พ.ค.) ก็มีการขึ้นศาลเป็นคดีความกัน

เวลา 10.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ลุกขึ้นชี้แจงด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดว่า ทุกคนมุ่งหวังให้ประเทศเติบโต แต่ตนนั่งฟังวันนี้ รู้สึกงง  ว่าวันนี้เป็นการพิจารณางบรายจ่ายปี 66 หรืองบพรรคการเมืองใหม่ที่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล อย่าใช้โอกาสนี้หาเสียงผิดเวที การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลยอมรับเก็บได้น้อยลงเพราะสถานการณ์โควิด แต่สิ่งที่รัฐบาลเตรียมการคือทำให้จีดีพีสูงขึ้น ต้องทำให้ทุกคนอยู่รอด แน่นอนจะต้องลำบาก รัฐบาลเองก็ไม่สบายใจ ไม่ใช่มีความสุข แต่ผลสำเร็จที่ทำมาก็มีอยู่ ถ้าจะบอกไม่มีอะไรเลยก็ไม่เป็นธรรม อยากทราบว่าที่ผ่านมาที่ฝ่ายค้านบอกรัฐบาลหารายได้ไม่เป็น ให้มองย้อนไปรัฐบาลทำอะไรไปแล้วบ้าง ทั้งบิ๊กดาต้า แก้กฎหมายปฏิรูปอะไรต่างๆ การให้ความสำคัญโครงสร้างพื้นฐาน การลดจำนวนข้าราชการก็อยู่ในแผน ก.พ.

"การบอกรัฐบาลรีดภาษี ถามว่ารีดใครหรือยัง ไม่ได้รีดเลือดจากใคร ไม่ได้เพิ่มภาษี เพราะทราบว่าเก็บไม่ได้อยู่แล้ว เวลาพูดไม่ฟัง แล้วมาหาทางโจมตีให้มากที่สุด เวลาท่านได้เป็นรัฐบาลก็ต้องทำแบบผม ผมไม่โทษใคร แต่หลายอย่างต้องร่วมมือกัน เข้าใจไหม อะไรไม่เห็นด้วยตนพร้อมรับไปพิจารณา ส่วนหนี้สาธารณะเป็นเรื่องจำเป็น ไม่อยากปรับแต่จำเป็นต้องปรับ ลองดู 3 ปี ไม่ใช่แค่แช่ไปตลอด ไปศึกษากฎหมายบ้าง ผมเห็นใจคนเป็นหนี้ คนจน หลายโครงการก็ทุ่มเทมหาศาลให้ประชาชนเข้าถึง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

'บิ๊กตู่'รับผิดชอบทุกอย่าง

จากนั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้สิทธิ์พาดพิงว่า พรรคไม่ได้ใช้เวทีพิจารณางบประมาณในการหาเสียง แต่นี่คือเวทีพิทักษ์ภาษีประชาชน ถ้าพรรคตินายกฯอย่างเดียว ไม่นำเสนออะไรใหม่ๆ นายกฯก็จะหาว่าเป็นเรื่องการเมือง ขอให้นายกฯทำความเข้าใจไว้ด้วย และไม่ต้องกลัวเมื่อถึงเวลาของพวกตนเมื่อไหร่ ทำแน่นอน

ต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายกฯ กล่าวหาให้ร้ายป้ายสีสภา โดยเฉพาะงบลงทุนระหว่างปี 65 กับปี 66 จัดเก็บหารายได้ไม่ได้ จะทำให้งบลงทุนหมิ่นเหม่กับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง การโยนให้เป็นความผิดสภา โยนว่าเป็นเพราะถูก กมธ.และสภาลงมติตัดลดงบลงทุนลงนั้น ตนไม่อยากให้นายกฯ พูดจาให้ร้ายสภา หน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติคือการอนุมัติงบประมาณ ถ้าเห็นว่างบใดไม่เหมาะสม มีสิทธิปรับลด ไม่ว่างบประมาณก้อนใด ยกเว้นกฎหมายระบุห้ามปรับลด แต่งบลงทุนกฎหมายไม่ได้ห้ามปรับลด

"เมื่อเราปรับลด รัฐบาลก็ต้องไปใช้งบที่ปรับลดลง จะมาโทษสภาไม่ได้ หน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติยังล่วงเกิน ไม่เหมาะเป็นนายกฯ เวลาตอบชี้แจงในสภา ฝากนายกไปบอกคนเขียนโพยให้ท่านด้วยว่าอย่าใส่อารมณ์มาด้วย คนเขียนโพยเขียนใส่อารมณ์มาด้วย เลยทำให้นายกฯ มีอารมณ์ตามมา" นพ.ชลน่านกล่าว

เวลา 12.05 น. นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การที่นายกฯ บอกว่าพูดอะไร ส.ส.ก็ไม่ฟัง ก็แสดงว่า ส.ส.ไม่นั่งอยู่แปลว่าไม่ฟัง ซึ่งจริงๆ แล้วเราฟัง เห็นทั้งกิริยาท่าทางของนายกฯ แต่ท่านไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ฟังแล้วก็ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง เวลาทำงบประมาณก็ไม่รู้สึกรู้สาต่อสถานการณ์ มาตอบในสภาเหมือนไม่รับผิดชอบบอกว่าไม่ได้ทำเอง ถ้าไม่อยากรับผิดชอบกับงบที่แถลงมาและในเอกสาร ก็ลาออกไป แล้วให้คนอื่นเขามารับผิดชอบ

พล.อ.ประยุทธ์ได้ลุกขึ้นโต้ทันทีว่า ที่ท่านกล่าวหาว่าตนไม่รับผิดชอบ โยนความผิดให้คนอื่น ยืนยันว่าไม่ใช่แบบนั้น ท่านฟังคำพูดของตนไม่เข้าใจ ตนพูดว่าตนทำงานโดยการต้องฟังจากคณะกรรมการทุกคณะ ความรับผิดชอบอย่างไรนายกฯ ก็ต้องรับผิดชอบ ไม่หนีแน่นอน ไม่หนีไปไหน ความรับผิดชอบทุกอย่าง อย่างไรก็ต้องรับผิดชอบ อย่าพูดที่เกินเลยไป

"ผมรับผิดชอบทุกอย่างอยู่แล้ว ผมยืนยันว่าผมไม่เคยท้อ และผมก็ทำงานทุกวัน  ผมมีความรับผิดชอบและผมจะไม่ก้าวก่าย ผมจะไม่สั่งการอะไรที่มันเกิดประโยชน์กับตัวเอง หรือกับใคร ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตามระเบียบและขั้นตอนทุกประการ และทั้งหมดผมรับผิดชอบในภาพใหญ่อยู่แล้ว จะดีจะชั่วผมก็ต้องรับอยู่แล้ว ผมไม่หนีท่านหรอก ขอยืนยัน และอยากให้ทุกคนเข้าใจในบางครั้งผมรู้ ผมทราบดีว่าผมค่อนข้างจะอารมณ์แรงนิดนึงบางครั้ง เพราะผมก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ผมพยายามระวังอย่างที่สุดในการที่จะพูดจาตรงนี้ และต้องขอขอบคุณในส่วนที่เป็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ก็จะรับไปแก้ไขปรับปรุงในขั้นตอนหลังจากงบผ่านไปแล้วในชั้น กมธ.” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เวลา 12.37 น. นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายงบกระทรวงกลาโหม ที่แม้ปรับลดลงจากปี 65 แต่ก็ยังติดอันดับท็อป 5 ของกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด ขอให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญการจัดสรรงบประมาณได้หรือไม่ ตนไม่เห็นด้วยกับการจัดงบประมาณแบบนี้

เวลา 13.00 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ชี้แจงถึงการจะจัดเก็บรายได้ 2.49 ล้านล้านบาท ตามที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่ว่า ปี 2566 เมื่อเปิดประเทศจะรับรายได้จากนักท่องเที่ยว ทำให้มีฐานภาษีและรายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คาดว่า 2.49 ล้านล้านบาท จะจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย

กก.ชงตัดงบศาลรธน.100%

เวลา 13.25 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงเรื่องเงินเฟ้อ เรื่องปุ๋ยราคาแพง โดยยืนยันตัวเลขเงินเฟ้อของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดย IMF ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเงินเฟ้อต่ำที่สุด ส่วนปุ๋ยราคาแพงก็ได้แก้ปัญหา 2 ข้อ คือ แก้ไขราคาไม่ให้ค้ากำไรเกินควร และแก้ไขปัญหาให้มีปุ๋ยใช้ในปริมาณที่เพียงพอ ไม่ให้ขาดแคลน ซึ่งพาณิชย์และเกษตรและสหกรณ์พร้อมผู้นำเข้าปุ๋ยจับมือกันขายปุ๋ยราคาถูก

เวลา 14.03 น. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบตำรวจและงบของศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลการเมือง แต่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และยังไม่เข้าใจคำว่าปฏิรูปกับคำว่าล้มล้าง ตนไม่ยอมรับศาลแบบนี้ ขอให้ตัดงบไปเลย 100% ขณะที่การเลือกตั้งครั้งหน้าคือความหวังเดียว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงเป็นความหวังเดียว แต่เมื่อเห็นงบ กกต.ก็ต้องตกใจ ถ้าผู้ชายคนนั้นซึ่งตนไม่อยากเอ่ยชื่อ ไม่ยุบสภาเราจะได้เลือกตั้งในปี 66 แต่ กกต.กลับตั้งงบไม่เพียงพอ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ติดใจวิถีโจร หรือคิดว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนางอมรัตน์อภิปรายถึงตรงนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนั่งทำหน้าที่ประธานได้ตักเตือน ทำให้นางอมรัตน์ ถามกลับว่าผิดตรงไหน ก็เขาเป็นโจรปล้นประชาธิปไตย และเป็นโจรจริงๆ ประธานจึงชี้แจงว่าถ้อยคำใดที่หนักเกินไปก็ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ต้องถอน แต่ขอเตือนว่าไม่เหมาะสม

เวลา 16.00 น. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายมุ่งประเด็นไปที่งบประมาณกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะการกองทัพเรือจัดซื้อ 3 ลำ ถามทำไมกระทรวงกลาโหมไม่สั่งการให้กองทัพเรือจัดซื้อในประเทศทั้งๆ ที่เราก็ทำเองได้และถูกกว่ามาก

ช่วงค่ำ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ในส่วนของงบท้องถิ่น  เสนอแนะสูตรการกระจายงบประมาณให้ไปสู่ท้องถิ่นมากกว่า 35% ให้ได้ และ 1. ควรแบ่ง 30% ให้เท่ากันทั้ง 76 จังหวัด 2. 30% คำนวณตามประชากร 3.30% คำนวณตามแหล่งกำเนิดภาษี และ 4. 10% คำนวณตามขนาดพื้นที่

ที่ห้อง 503 ชั้น 5 รัฐสภา เวลา 15.00 น. ได้มีการหารือกันของกลุ่ม 16 นำโดย นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทรักธรรม, นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่,  นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย, นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติไทย 

จากนั้นนายพิเชษฐและคณะเข้าพบกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา รักษาการเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ห้องของพรรคประชาธิปไตยใหม่ ใช้เวลาพูดคุยประมาณ 10 นาที  

 ร.อ.ธรรมนัสให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือของกลุ่ม 16 ได้ทิศทางภาพรวมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 66 ให้ตนมาช่วยรับฟังคำหารือว่ามีทิศทางอย่างไร เนื่องจากหลายคนมีความสับสนว่าจะตัดสินใจอย่างไรในการโหวต จึงมีข้อสรุปกันว่าขอให้ฟังการอภิปรายในสภาให้จบก่อนค่อยหารือกันอีกรอบ  

ถามว่าแนวทางการลงมติยังไม่ชัดเจนใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เดิมมีการให้ข่าวว่าจะรับหลักการ แต่ตอนนี้เสียงแตก จึงให้ทิศทางว่าต้องหารือกันว่าจะทำอะไร จะรับหลักการหรือไม่รับหลักการ ต้องไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 18 เสียงของกลุ่ม 16 และ 18 เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทย ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเราจับมือกันการทำงานในสภาว่าให้ไปในทิศทางเดียวกัน จากที่ให้คำปรึกษา จึงได้ข้อสรุปว่าจะทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

ด้านนายพิเชษฐกล่าวว่า การไปพูดก่อนว่าจะโหวตให้อย่างไรไม่ใช่หน้าที่ผู้แทนราษฎร จึงต้องเรียก ส.ส.ในกลุ่ม 16 มาพูดคุยในวันนี้ เพื่อให้ทุกคนฟังการอภิปรายงบประมาณให้จบก่อนแล้วค่อยตัดสินใจไม่ดีกว่าหรือ

เสียงแตกโหวตผ่านฉลุย

มีรายงานจากรัฐสภาว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ.2566 วงเงินกว่า 3.18 ล้านล้านบาท ที่ได้อภิปรายมาตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.ต่อเนื่องวันที่ 1 มิ.ย. และจะสิ้นสุดในวันที่ 2มิ.ย. โดยในวันสุดท้ายการอภิปราย ฝ่ายค้านมุ่งเน้นนำเสนอในหัวข้อการจัดสรรงบประมาณที่เอื้อให้พวกพ้อง ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ จากนั้นจะมีการลงมติในวาระที่ 1 ว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการตามกฎหมาย หากจะรับหลักการต้องใช้เสียงของ ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เกินกึ่งหนึ่ง ปัจจุบันมีเสียง ส.ส.ประมาณ 477 เสียง โดยเสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 239 เสียง  

 แม้ก่อนหน้า พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติพรรคพลังปวงชนไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ ที่รวมเสียงกันได้ 208 เสียง และกำลังพยายามรวบรวมเสียงจากพรรคเล็กที่มี 18 เสียง และกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสอีกประมาณ 16-18 เสียง ที่เคยแสดงท่าทีว่าจะโหวตคว่ำงบประมาณร่วมกับฝ่ายค้าน เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่ขณะนี้ของกลุ่มพรรคเล็ก 18 เสียง มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน เกิดเสียงแตกภายในกลุ่ม ระหว่างกลุ่มที่จะลงคะแนนเสียงไม่รับหลักการกับกลุ่มที่จะของดออกเสียง

ขณะที่อีกบางส่วนมีท่าทีจะหันกลับไปสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล รวมไปถึงเสียงจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ไม่มีความเป็นเอกภาพทั้งหมด เนื่องจากมีกลุ่มที่แสดงท่าทีต้องการย้ายพรรคการเมือง อาทิ กลุ่ม ส.ส.ศรีสะเกษ จากพรรคเพื่อไทย 3 เสียง และกลุ่มงูเห่า งูแฝง ที่ถูกทาบทามจากบางพรรคการเมือง ที่ได้มีสัญญาใจต่อกันกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลบางคน โดยกลุ่มนี้ถือเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่อาจจะไม่ได้โหวตไปในทิศทางเดียวกับพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด  

นอกจากนี้ ท่าทีของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ที่ได้ลดท่าทีแข็งกร้าว และเห็นว่าเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องนำไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ชาวบ้าน นำไปพัฒนาประเทศ หากพร้อมใจไปในทิศทางไม่รับหลักการไปเลย ทั้งที่สถานะยังอยู่ฝ่ายรัฐบาล อาจจะทำให้ส่งผลเสียในทางการเมือง ขณะเดียวกัน ได้เริ่มมีการวางบุคคลเข้าไปอยู่ในโควตากรรมาธิการงบประมาณแล้ว ดังนั้นกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส กลุ่มของพรรคเล็กที่เสียงแตก และกลุ่มสวิงโหวตในเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่หากไม่พร้อมใจเทไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด จะส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงทันที ที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2666 ผ่านในวาระ 1 ไปได้  

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้มีการจัดสรรโควตาของแต่ละพรรคการเมือง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 66 ที่มีทั้งหมด 64 คน แบ่งเป็นสัดส่วน ครม. 16 คน สัดส่วน ส.ส. 48 คน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 13 คน, พรรคพลังประชารัฐ  10 คน, ภูมิใจไทย 6 คน, ก้าวไกล 5 คน, ประชาธิปัตย์ 5 คน,  เศรษฐกิจไทย 2 คน, ชาติไทยพัฒนา 1 คน, เสรีรวมไทย 1 คน, ประชาชาติ 1 คน,  เศรษฐกิจใหม่ 1 คน, เพื่อชาติ 1 คน รวมพลังประชาชาติไทย 1 คน และพลังท้องถิ่นไท 1 คน  

มีรายงานอีกว่า การจัดสรรโควตากรรมาธิการในพรรคเพื่อไทย 13 คนครั้งนี้ ที่ใช้ระบบการคัดเลือกที่มาจากส่วนกลาง ที่มีหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะแกนนำ คณะที่ปรึกษาที่มีบทบาทในพรรค เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมจะมาเป็นกรรมาธิการ ที่จะมีสัดส่วนทั้งจาก ส.ส.และคนนอกที่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นกรรมาธิการ ซึ่งแตกต่างจากการจัดสรรครั้งที่แล้ว ที่จะให้โควตาแต่ละภาคเสนอชื่อผู้ที่มีความเหมาะสม ไปเป็นตัวแทนของกรรมาธิการงบประมาณ  

วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กตั้งแต่เช้า ตอบโต้ พล.อ.ประยุทธ์ ในการอภิปรายงบประมาณปี 2566 ตอนหนึ่งระบุว่า อยากฝากไว้ แม้รัฐบาลดิฉันถูกโจมตีอย่างหนักว่าสร้างหนี้ ทั้งๆ ที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่เพียง 45.91% แต่หลังรัฐประหารผ่านไป 8 ปี หนี้ได้พุ่งขึ้นไปที่ 60.58% โดยรัฐบาลคุณประยุทธ์จัดทำงบประมาณขาดดุลมากขึ้นๆ ทุกปี หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมามีจำนวนสูงถึง 4.4 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลยังมีแผนการก่อหนี้ไปเรื่อยๆ อย่างไร้ยุทธศาสตร์ของการเพิ่มรายได้

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบโต้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทันทีว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ควรเลิกหลงภูมิใจในตัวเองว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ หรือเพิ่มเงินในกระเป๋าให้ประชาชนมากขึ้นได้แล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้มาจากการบริหารโดยใช้กลวิธีซุกหนี้ไว้ใต้พรม จนสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองมาถึงทุกวันนี้ใช่หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง