กกพ.แย้มจ่อขึ้นค่าไฟรอบ ก.ย.-ธ.ค.65 อีก 40 สตางค์ ขณะที่สินค้าแห่ขอขยับราคา พาณิชย์ยังไม่ไฟเขียว ยอดใช้น้ำมันพุ่งหลังเปิดประเทศ 4 เดือน ดีเซลเพิ่ม 15.7% น้ำมันอากาศยานสูงถึง 48.8% มีแค่เบนซินลดลง 3.9%
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.- ธ.ค.2565 นั้น ยังไม่มีการพิจารณา เพราะต้องรอปิดรอบการคำนวณก่อน คาดว่าจะเริ่มคำนวณกลางเดือน มิ.ย.นี้ และจะประกาศในช่วงกลางเดือน ก.ค.65 อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นต้นทุนได้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามที่สำนักงาน กกพ.คาดการณ์ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คาดว่าค่าไฟรอบใหม่หรือรอบปลายปีจะปรับขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย ตัวเลขนี้เป็นกรณีไม่ส่งต่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระ
"เดิมค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นส่งผลให้ประมาณการค่าเอฟทีในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 129.91 สตางค์ต่อหน่วย แต่ กกพ.พิจารณาภายใต้หลักการการปรับขึ้นแบบขั้นบันได 3 งวด เฉลี่ยงวดละ 47.3 สตางค์ต่อหน่วย และ กฟผ.ช่วยรับภาระจึงลดลงอยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนงวดใหม่เบื้องต้นตัวเลขคำนวณยังไม่เปลี่ยนแปลง จึงคาดว่าจะขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย" นายคมกฤชระบุ
ด้านนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) 2565 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.2% เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 15.7% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 48.8% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 17.2% ก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้น 9.3% น้ำมันก๊าดเพิ่มขึ้น 4.0% ขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) ทรงตัวในระดับเดิม ส่วนด้านการใช้กลุ่มเบนซินลดลง 3.9% เนื่องจากราคาที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.60 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.9% เนื่องจากราคาที่อยู่ในระดับสูง การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี 20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 6.93 ล้านลิตร/วัน 15.37 ล้านลิตร/วัน 5.74 ล้านลิตร/วัน และ 0.57 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี 85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.99 ล้านลิตร/วัน
ด้านการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลช่วง 4 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 77.28 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.7% สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66.65 ล้านลิตร/วัน หรือเพิ่มขึ้น 68% น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี 10) ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.2562 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.39 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 มีปริมาณการใช้ 0.21 ล้านลิตร/วัน การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร
อธิบดี ธพ.กล่าวว่า การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.22 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 48.8% เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ โดยมาตรการ Test & Go ได้เปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 หลังจากระงับตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2564 โดยกำหนดให้ตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง ก่อนที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบยกเลิกการตรวจ RT-PCR สำหรับผู้เดินทางเข้าไทยที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ รวมทั้งปรับลดวงเงินประกันสำหรับผู้เดินทาง รวมถึงปรับระดับพื้นที่ตามสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 เพื่อหนุนการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้ Jet A1 เพิ่มขึ้น
ขณะที่การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.77 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.3% เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.93 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 16.3% ภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.01 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 9.8% และภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.02 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 9.1% สำหรับการใช้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.80 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 1% ส่วนการใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.29 ล้าน กก./วัน ทรงตัวอยู่ในระดับเดิม โดย ปตท.ขยายระยะเวลาการคงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีก NGV สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเคยได้รับสิทธิผ่านมาตรการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกันที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงวันที่ 15 มิ.ย.2565
ที่่กระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากปัญหาต้นทุนพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคานำเข้าวัตถุดิบและราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาต้นทุนในด้านต่างๆ ของผู้ประกอบการไทยมีอัตราสูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน ซึ่งตลอดช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ผลิตสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคส่งเรื่องมาที่กรมการค้าภายในหลายรายที่จะขอปรับราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคจริง โดยกรมอยู่ระหว่างการพิจารณาต้นทุนในรายละเอียด และยังไม่ได้อนุมัติให้ปรับราคาสินค้าขึ้น
ทั้งนี้ ขอให้ทุกผู้ผลิตสินค้าที่ยื่นเรื่องพยายามช่วยดูและไปปรับบริหารและจัดการภายในกิจการของตนเองให้ถึงที่สุด แต่หากผู้ผลิตสินค้ารายไหนไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ กรมจะพิจารณาปรับขึ้นสินค้าตามต้นทุนที่แท้จริง แต่จะเน้นตัวที่เป็นต้นทุนที่ได้รับผลกระทบจริงเป็นหลัก
นอกจากนี้ ก๊าซหุงต้มภายในประเทศจะขึ้นราคาอีกวันที่ 1 มิ.ย.นี้ จึงห่วงราคาร้านอาหารประเภทต่างๆ ที่ต้องมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเข้าไปห้ามหรือใช้มาตรการแทรกแซงอะไรไปมากคงจะทำได้ยาก โดยการดูแลของกรมจะเน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น เนื้อหมู ไก่ ไข่ น้ำมันปาล์มและอื่นๆ ไม่ให้มีราคาสูงขึ้นไปมากจนกระทบต่อผู้บริโภคจนเกินไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ