ชงถอดแมสก์ โซนฟ้า-เขียว รอศบค.เคาะ

จับตาชง ศบค.นำร่องพื้นที่ สีฟ้า-เขียว ถอดหน้ากากที่โล่งแจ้ง สธ.เผยสถานการณ์หลังเปิดเทอมพบติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะโรงเรียนประจำ ยันไม่ถึงขั้นปิด ไทยกระหึ่ม WHO ยกแผนบริหารจัดการปรับสู้โรคระบาดทั่วโลก  ล้อมคอก "ฝีดาษลิง" โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ด้านนายกฯ ขีดเส้นห้ามนำเข้าสัตว์ป่าผิด กม.  

เมื่อวันพุธ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,013 ราย ติดเชื้อในประเทศ 4,997ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,991 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 6 ราย, จากเรือนจำ 16 ราย  หายป่วยเพิ่มขึ้น 5,591 ราย อยู่ระหว่างรักษา 47,268 ราย อาการหนัก 1,028 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 530 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 33 ราย เป็นชาย 24 ราย หญิง 9 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 27 ราย มีโรคเรื้อรัง 6 ราย

ขณะที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,424,750 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,347,638 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,844 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 528,962,740 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,303,529 ราย

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในระยะหลังเป็นโรคประจำถิ่น ก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์โรคที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกว่า มีการระบาดในสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ โดยวัคซีนที่จะฉีดต้องสอดคล้องกัน รวมถึงเราได้ติดตามวัคซีนในปัจจุบันเชิงป้องกันการติดเชื้อว่าจะได้นานแค่ไหน ตอนนี้เรารู้ว่าอยู่ได้นานเกิน 6 เดือนแน่ ดังนั้นจึงต้องติดตามการฉีดกระตุ้นต่อไป

เมื่อถามถึงการถอดหน้ากากผ้าหน้ากากอนามัยในขณะที่มีการเปิดประเทศ ผับบาร์ นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า โดยมาตรการวัคซีนอาจจะป้องกันติดเชื้อได้ไม่สูงนัก ดังนั้นการสวมหน้ากากก็จะช่วยป้องกันติดเชื้อได้มาก โดยเฉพาะพื้นที่ปิดอับ มีการสัมผัสใกล้ชิด ฉะนั้น มาตรการระยะต่อไปต้องเป็นการเริ่มกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ ต้องปรับมาตรการส่วนบุคคลที่ลดลงได้ แต่ยังต้องป้องกันผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 และป้องกันการระบาดใหญ่อยู่

 “มาตรการส่วนบุคคลเรื่องสวมหน้ากาก ก็จะเริ่มปรับในพื้นที่ที่มีความพร้อม ทั้งมาตรการควบคุมโรค ประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อยร้อยละ 60-70 และความพร้อมสถานการณ์โรคในพื้นที่ หากที่ระบาดมากก็คงถอดไม่ได้ ซึ่งนี่จะเป็นแผนและมาตรการที่คณะทำงานพิจารณาจากข้อมูลเพื่อหารือวางแผนต่อไป แต่ยังต้องป้องกันกลุ่มเสี่ยง การเข้าที่แออัด แต่ในที่โล่งแจ้ง อยู่คนเดียว เช่น ไปออกกำลัง ก็อาจถอดหน้ากากได้” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

เมื่อถามถึงพื้นที่มีความพร้อมจะต้องดูเกณฑ์ทั้งจังหวัดหรือพื้นที่ใด นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า ต้องดูรายพื้นที่ แต่ที่น่าจะเริ่มก่อนก็จะเป็นพื้นที่สีฟ้าและสีเขียว ที่สถานการณ์ดีและมีความพร้อมก่อน แต่ต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นร่วม ไม่ใช่เริ่มทั้งหมดทุกจังหวัด ทั้งนี้ ไม่ได้กำหนดกรอบเวลา ต้องพิจารณาต่อไป

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ต้องพิจารณาเป็นรายพื้นที่และสถานที่ เช่น ผ่อนคลายกลางแจ้งก่อน ส่วนพื้นที่แออัดที่รวมคนจำนวนมาก ก็ต้องสวมหน้ากากอยู่

เมื่อถามว่า ต้องเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ก่อนหรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ในการผ่อนคลายที่ไม่ต้องสวมหน้ากากได้ในบางพื้นที่ จะต้องแจ้งให้กับ ศบค.รับทราบด้วย

นพ.จักรรัฐกล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง ขณะนี้ต่ำกว่าเส้นคาดการณ์สีเขียว แสดงว่าเราดำเนินการได้อย่างดี ส่วนหลังเปิดเทอมขณะนี้เริ่มพบการระบาดเป็นหย่อมเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน แต่ไม่มาก เป็นในบางโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประจำ ซึ่งสามารถแยกโซนโดยไม่ต้องปิดโรงเรียน จึงขอให้เน้นการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่าง ส่วนสถานการณ์ป่วยปอดอักเสบลดลงต่อเนื่อง และเริ่มคงตัว   ต้องดูว่าสัปดาห์หน้าจะลงต่อหรือไม่

ที่ จ.ขอนแก่น นายทเนตร์ ชาสังข์ อายุ 66 ปี ชาว จ.ขอนแก่น คนขับรถรับจ้าง กล่าวว่า เห็นด้วยทั้ง 2 อย่าง ถ้าคนอยากใส่ก็ใส่ต่อไป เพราะป้องกันตัวเอง ส่วนคนที่ไม่ใส่ อาจจะไม่ถนัดในการใช้ชีวิตประจำวัน ตนเองก็ยังใส่ เพราะอายุมากแล้ว และยังมีโรคประจำตัวด้วย ไม่กล้าถอด 100% จนกว่าโรคนี้จะหายไวจริงๆ ก็ยังจะใส่อยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าคนอื่นไม่ใส่แล้วมารับบริการจากเราก็ไม่ได้รังเกียจอะไร

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 75 นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมคณะ ได้มีโอกาสพบเพื่อหารือกับนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO)  และ ดร.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ ผู้อำนวยการ WHO ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ได้มีการกล่าวชื่นชมไทยในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง WHO และจะนำรูปแบบ รวมถึงระบบการบริหารจัดการของประเทศไทย ไปเป็นแบบอย่างที่จะสร้างให้เป็นมาตรฐานสากล และใช้ในการบริหารสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลก

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตือนประชาชนไม่นำเข้าสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมาย เนื่องจากอาจจะเป็นอันตรายและทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและกวดขันตามแนวชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ ห้ามมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามแดนที่อาจจะนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง รวมทั้งระมัดระวังในการติดตามข่าวสาร อย่าหลงเชื่อข่าวปลอมหากฉีดวัคซีน AstraZeneca เสี่ยงเป็นโรคฝีดาษลิงไม่เป็นความจริง

ขณะที่ นพ.จักรรัฐกล่าวด้วยว่า หลังจากได้มีการหารือคณะกรรมการวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีมติเห็นชอบให้จัดโรคฝีดาษลิง (monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และเป็นโรคระบาดนอกราชอาณาจักรและในบางประเทศที่มีการระบาดภายในประเทศแล้ว ยังไม่จัดเป็นโรคติดต่ออันตราย เนื่องจากเบื้องต้นยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศไทย ลักษณะการแพร่กระจายของโรคเป็นลักษณะคนใกล้ชิดกันมากๆ เฉพาะกลุ่ม ยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปหลายๆ ทวีป และอัตราป่วยตายยังเป็นสายพันธุ์ที่ป่วยรุนแรงน้อย 

"ประเทศไทยจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบผู้ป่วยจากการเดินทางเข้าประเทศ โดยแต่ละวันไทยมีผู้ป่วยเดินทางจากต่างประเทศในกลุ่มยุโรปเฉลี่ยวันละ 10,000 คน การป้องกันในคนต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะต้องลงทะเบียนผ่านไทยแลนด์พลัส พร้อมรับเฮลท์บีแวร์การ์ด ส่วนในคนไทยรับเฮลท์บีแวร์การ์ดเช่นกัน เพื่อไปสังเกตตัวเอง ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงถือเป็นโรคจากสัตว์สู่คน และมีการติดเชื้อจากคนสู่คนได้ จากการสัมผัสตุ่มหนองหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยสำหรับการฟักตัวของโรคดังกล่าว ประมาณ 5-21 วัน ป่วยน้อยสุด 5 วัน ป่วยมากสุด 21 วัน" นพ.จักรรัฐระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล