"ชัชชาติ" ขอบคุณนายกฯ ที่สนใจนโยบาย 214 ข้อ น้อมรับทุกคำวิจารณ์ ยิ่งทำให้มีแรงในการทำงาน ด้าน "ดร.ยุ้ย" ยันไม่รับเก้าอี้รองผู้ว่าฯ กทม.หลังลือสะพัดจ่อนั่งบิ๊กเสาชิงช้าเบอร์สอง "สมศักดิ์" ฉับไวสั่งราชทัณฑ์ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ขอนำนักโทษช่วยขุดลอกท่อช่วงหน้าฝน เหน็บ "อัศวิน" ไม่เคยสนใจ
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่าหากนโยบาย 214 ข้อทำได้จริง อำนาจก็ยิ่งกว่านายกฯ เสียอีก โดยระบุว่า ขอบคุณกำลังใจจากนายกรัฐมนตรี ขอบคุณที่สนใจ น้อมรับทุกคำติชมทุกคำวิจารณ์ ยิ่งทำให้ตนมีแรงกระตุ้นในการทำงานให้ดีที่สุด
ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าหากทำไม่ได้ตามนโยบาย คะแนนการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะลดลงเหลือเพียง 200,000 เท่านั้น นายชัชชาติระบุว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะพูด ตนน้อมรับทุกความคิดเห็น และยิ่งต้องทำงานให้หนักขึ้นให้เร็วขึ้น มองว่าเป็นเรื่องดีที่มีการติเตียนในเชิงสร้างสรรค์ ทุกคนเป็นคนกรุงเทพฯ เหมือนกัน สามารถแสดงความคิดเห็นได้
นายชัชชาติย้ำว่า การที่กำหนดนโยบายไว้ชัดเจนทั้ง 214 ข้อ เป็นข้อดีที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ง่าย เพราะหากพูดแล้วไม่มีอะไรเป็นตัวชี้วัด 4 ปี กรุงเทพฯ ก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ที่น่าดีใจมากคือมีบางสำนักงานเขตนำนโยบายบางส่วนไปใช้แล้ว ถือเป็นมิติใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเห็นว่าทุกคนเริ่มตื่นตัว ซึ่งบางนโยบายสามารถเริ่มทำได้เลยโดยไม่ต้องรอ เช่น การหาพื้นที่ปลูกต้นไม้ และการแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย เป็นต้น
"ผมพร้อมน้อมรับการบ้านข้าราชการและประชาชน เพราะเป็นการสื่อสารสองทาง นโยบายเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของประชาชน เพราะไม่ใช่ศิลาจารึก ซึ่งขอบคุณข้าราชการที่เข้าไปศึกษานโยบาย ยืนยันจะพยายามทำให้ได้มากที่สุด" นายชัชชาติกล่าว
ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย กรรมการผู้จัดการบริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะทีมนโยบายของ ดร.ชัชชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณและปลื้มใจกับเสียงตอบรับของประชาชนที่ให้ความไว้วางใจในการสนับสนุนนโยบายของ ดร.ชัชชาติ ที่ร่วมกันผลักดันออกมากว่า 200 นโยบาย ซึ่งต้องการเข้ามาร่วมทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง
“โดยไม่ได้ตั้งใจจะรับตำแหน่งการบริหารกรุงเทพฯ ตั้งแต่แรก และขอขอบคุณ ดร.ชัชชาติที่ชักชวนเข้ามาร่วมทีมในช่วงการลงพื้นที่ที่ผ่านมา ซึ่งพร้อมจะอยู่ในทีมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนในการขับเคลื่อนนโยบายที่ได้ริเริ่มร่วมคิดร่วมทำกันต่อไปให้เป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันเกิดประโยชน์กับคนกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน”
ดร.เกษรากล่าวต่อไปว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาที่เราได้ทุ่มเทใช้ประสบการณ์ทุกด้านในหลายมิติของคนในทีม เพื่อให้เข้าถึงปัญหา จนมาสู่การทำแผนปฏิบัติใน 200 นโยบาย ที่จะขับเคลื่อนการบริหารงานกรุงเทพฯ ในอีก 4 ปีนับจากนี้ ที่มุ่งเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในกรุงเทพฯ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยเชื่อว่าเพียงแค่ 1 นโยบายที่ดีสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ (Only one Policy Can Change People Life) โดยเฉพาะปัญหาเร่งด่วนต่างๆ ที่จะเข้าไปยกระดับคุณภาพชีวิตของคน กทม.ในการลดความเหลื่อมล้ำของคนในกรุงเทพฯ ที่มีความหลากหลายสูง ซึ่งจะทำให้ กทม.เข้าไปมีบทบาทในการสร้างโอกาสมากขึ้น ให้คนทุกกลุ่ม
อนึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ดร.ยุ้ย ที่เป็นมือขวาคนสำคัญของ ดร.ชัชชาติในการหาเสียงตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำนโยบายการหาเสียงให้กับ ดร.ชัชชาติ ซึ่งคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ ดร.ชัชชาติกับ ดร.ยุ้ยเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาหลายปี จะเข้ามาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.
ที่กระทรวงยุติธรรม มีการประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุม โดยในวาระพิจารณาเรื่อง การส่งนักโทษเด็ดขาดออกไปทำงานสาธารณะ หรือทำงานอื่นใดเพื่อประโยชน์ของทางราชการนอกเรือนจำ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตนเห็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ผู้ว่าฯ คนใหม่ที่ได้รับเลือกจากประชาชนเป็นคนที่เปิดกว้าง ตนจึงอยากให้กรมราชทัณฑ์ติดต่อผู้ว่าฯ คนใหม่ ให้เราเสนอตัวเข้าไปทำงานที่เป็นการบริการประชาชน และเป็นงานให้ผู้ต้องขังมีทักษะเพิ่มขึ้น ได้รับค่าแรงด้วย ตนเชื่อว่าผู้ว่าฯ คนใหม่น่าจะสนใจในจุดนี้ เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ กทม.มีผลกระทบช่วงฝนจะตก หากเราเสนอไปจะรับงานได้เต็มที่ เช่น การช่วยลอกท่อระบายน้ำ ขอให้กรมราชทัณฑ์ทำหนังสือนำไปก่อน โดยเราอาจจะทำในราคามาตรฐานของราชทัณฑ์ ตนคิดว่าเป็นไปได้
"ผมพยายามสร้างโอกาสให้กับผู้ต้องขังได้มีงานทำ และเป็นงานบริการช่วยสังคม ที่ผ่านมาผมพยายามสร้างความแตกต่าง พยายามช่วยคนเมืองกรุง แต่ผู้ว่าฯ คนเก่าไม่ยอม ซึ่งผมหวังว่าผู้ว่าฯ คนใหม่นี้เป็นคนที่เปิดกว้าง น่าจะให้โอกาสพวกเราได้ช่วยสังคม ช่วยให้คนของเรามีงานทำ กรมราชทัณฑ์ลองให้ฝ่ายกฎหมายดูเรื่องการทำหนังสือ ขอให้รีบทำ หากเรารีบเสนอให้เร็ว อย่างน้อยเมื่อมีการเปิดประชุมสภา กทม.ในสัปดาห์หน้า พวกเขาจะได้เห็นและพิจารณาได้เลย น่าจะเป็นเรื่องที่ดี" นายสมศักดิ์กล่าว
รศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของคนอีสาน ตามแผนการสำรวจเรื่อง คนอีสานกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผลสำรวจพบว่า คนอีสานเกือบครึ่งอยากเห็นการกระจายอำนาจบริหารและงบประมาณให้จังหวัดและท้องถิ่นมากขึ้น โดยระบุว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่าจังหวัดในภาคอีสานพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯ เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ภายใน 1-5 ปี มีเพียงส่วนน้อยที่เชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีข้อเสียมากกว่าข้อดี พร้อมทั้งชูขอนแก่นเป็นจังหวัดนำร่องในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเลือกตั้งผู้ว่าฯ เช่นเดียวกับ กรุงเทพฯ และกว่าครึ่งเห็นว่า รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เหมาะสมเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มากที่สุด
รศ.ดร.สุทินเปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานกับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,100 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด โดยจากการสอบถามถึงความคิดเห็นว่ารัฐบาลได้กระจายอำนาจการบริหารและงบประมาณให้จังหวัดและท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด พบว่า กลุ่มที่เห็นว่ากระจายอำนาจน้อยเกินไปมีร้อยละ 47.4 ซึ่งใกล้เคียงกลุ่มที่เห็นว่ากระจายอำนาจในระดับที่เหมาะสมมีร้อยละ 47.2 ขณะที่ร้อยละ 5.4 เห็นว่ากระจายอำนาจมากเกินไป ขณะที่ความพึงพอใจกับการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดคนปัจจุบันของท่านหรือไม่อย่างไร พบว่าความพึงพอใจค่อนไปฝั่งเฉยๆ ถึงรู้สึกดี และคิดเป็นคะแนนเฉลี่ยได้ 3.15 จากสเกล 5 ระดับ
"เมื่อสอบถามต่อว่าพึงพอใจกับการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.ของท่านหรือไม่อย่างไร พบว่าความพึงพอใจค่อนไปฝั่งเฉยๆ ถึงรู้สึกดี และคิดเป็นคะแนนเฉลี่ยได้ 3.28 จากสเกล 5 ระดับ และเมื่อสอบถามว่าหากจังหวัดของท่านได้รับการกระจายอำนาจและมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เช่นเดียวกับ กทม. จะเป็นอย่างไร พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 47.9 เห็นว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย รองลงมาคือร้อยละ 40.5 เห็นว่ามีข้อดีพอๆ กับข้อเสีย ขณะที่ร้อยละ 11.6 เห็นว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี ขณะที่การสอบถามต่อว่าจังหวัดของท่านต้องเตรียมพร้อมที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ กี่ปี พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 51.9 เห็นว่าพร้อมภายใน 1-2 ปี รองลงมา ร้อยละ 31.9 พร้อมภายใน 3-5 ปี ตามมาด้วย ร้อยละ 13.0 พร้อมภายใน 6-10 ปี และมีเพียงร้อยละ 3.2 ที่คาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 10 ปี"
รศ.ดร.สุทินกล่าวต่ออีกว่า ขณะที่คำถามที่ระบุว่าจังหวัดใดในภาคอีสานที่ควรเป็นจังหวัดนำร่องในการกระจายอำนาจและเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เช่นเดียวกับ กทม.มากที่สุด พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 40.3 เห็นว่าควรเป็น จ.ขอนแก่น รองลงมาคือ จ.นครราชสีมา ร้อยละ 27.3 ตามมาด้วย จ.อุดรธานี ร้อยละ 20.0, จ.บุรีรัมย์ ร้อยละ 8.4, จ.อุบลราชธานี ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 0.4 ระบุอื่นๆ หรือไม่แน่ใจ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ