สภาจ่อถก2กม.ลูก9มิ.ย. ส.ส.รัฐบาลห้ามโดดร่ม

นายกฯ กำชับพรรคร่วมรัฐบาลเอาใจใส่องค์ประชุมสภา ช่วยเข็นร่างกฎหมายรัฐบาล “สาธิต” นำทีมยื่นร่าง กม.ลูก 2 ฉบับต่อ “ชวน” ด้าน “สมชัย” คาด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต้องได้ 3.2 แสนคะแนนต่อคน ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจ่อถก 9-10 มิ.ย. วิป 3 ฝ่ายเห็นชอบเลื่อน 2 กม.ลูกขึ้นมาก่อน “กาญจนรัตน์” ไม่ชัวร์ ส.ว.ร่วมลงชื่อร้องศาล รธน. “สุทิน” ฟันธงกฎหมายลูกไม่จำเป็นใช้เสียง ส.ว.หนุนก็คว่ำยาก

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 24 พฤษภาคม  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มประชุมตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งมีวาระการพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับว่า ก่อนหน้านี้ตนได้เคยรายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบถึงร่างกฎหมายที่จะต้องเข้าในที่ประชุมสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กำชับให้ทุกคนเอาใจใส่ และหากมีการตั้งกระทู้ถาม ก็ให้รัฐมนตรีไปตอบ ขณะเดียวกัน ถ้ามีการพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐบาล ก็ขอให้ช่วยกันดู ทั้งในชั้นการพิจารณาในที่ประชุมสภาและการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ

เมื่อถามว่า มีร่างกฎหมายฉบับใดที่มีการเน้นย้ำว่าต้องให้ผ่านการพิจารณาของสภาให้ได้ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่มี ตอนนี้มีร่างกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส. ทั้งของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมเป็นจำนวน 50 ฉบับ ซึ่งร่างกฎหมายเหล่านี้จะถูกนำขึ้นมาพิจารณาก่อน แต่หากรัฐบาลส่งร่างกฎหมายตามไป รัฐบาลก็มีสิทธิ์ขอลัดคิวให้นำมาพิจารณาก่อนได้ แต่ตอนนี้ปล่อยให้เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส.ในที่ประชุมครม.พูดถึงเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ไม่ได้กำชับว่าต้องให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านสภา แต่ตนได้แจ้งให้ ครม.ทราบว่าจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นเวลา 3 วันถ้ามีปัญหาอะไร ก็ให้รัฐมนตรีลุกขึ้นชี้แจง

ต่อข้อถามว่า นายกรัฐมนตรีจะไปรับฟังการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.นี้ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯ อาจจะเข้าสภา แต่ไม่จำเป็นต้องไปนั่งฟังในห้องประชุม ไปนั่งล่อโควิดทำไม ขณะที่รัฐมนตรีสลับกันเข้าในห้องประชุมสภา  เพราะเวลาที่มี ส.ส.อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ก็จะมีการอภิปรายกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ สำหรับรัฐมนตรีที่เป็นเจ้าของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ คือรมว.การคลัง

ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ..... พร้อมคณะ ยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาต่อไป

โดยนายสาธิตเแถลงว่า ทั้งสองกฎหมายนี้มีความสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลและนายกฯ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาลจะครบวาระหรือนายกฯ ยุบสภา ซึ่งในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีประเด็นสำคัญที่ กมธ.แก้ไข 37 มาตรา โดยคงร่างเดิมของครม.ไว้ 23 มาตรา แก้ไขเพิ่มเติม 9 มาตรา และเพิ่มเติมมาตราขึ้นใหม่ 5 มาตรา ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีเนื้อหา 16 มาตรา คงร่างของนายวิเชียร ชวลิต อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นร่างหลัก 7 มาตรา มีการแก้ไขเพิ่มเติม 6 มาตรา และเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ 3 มาตรา

นายสาธิตกล่าวต่อว่า เรื่องกฎหมายเลือกตั้งเป็นที่ยุติในประเด็นสำคัญคือเรื่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และ ส.ส.เขต 400 คน โดยใช้การคำนวณหารด้วย 100 ตามมาตรา 23 เรามีเกณฑ์เฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ใช้วิธีคำนวณโดยใช้จำนวนคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ไม่รวมคะแนนที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน หารด้วย 100 ก็จะเป็นเกณฑ์เฉลี่ย ส.ส. 1 คนในระบบบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ มาตรา 23 มีการเขียนเพื่อคำนวณว่าคะแนนที่เหลือเศษ ทั้งพรรคที่หารแล้วและพรรคที่ไม่มีเศษ หรือพรรคที่มีเศษเท่าไหร่ก็ตามมานำมาจัดเรียงลำดับให้ได้ส.ส.อีก 1 คนตามเกณฑ์ โดยการคำนวณคะแนนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อนี้จะไม่ทิ้งน้ำ และเป็นไปตามความต้องการของประชาชน

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการ กมธ. กล่าวว่า กมธ.แก้ไขวิธีทำไพรมารีโหวตให้สะดวกขึ้น ให้พรรคการเมืองคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ด้วยวิธีไพรมารีโหวตแค่เขตใดเขตหนึ่งในจังหวัดเท่านั้น ไม่ต้องทำทุกเขต หลังจากร่างกฎหมายลูกทั้ง 2ฉบับผ่านที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 2-3 แล้ว จะส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือแก้ไขในส่วนใดหรือไม่ ไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ยกเว้นจะมีผู้เห็นแย้ง สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ โดยใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 ส่งให้ตีความ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า หากยึดคะแนนจากการเลือกตั้งปี 2554 เป็นเกณฑ์แล้ว การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามร่างกฎหมายลูกที่แก้ไขใหม่ จะมีค่าเฉลี่ยของส.ส.บัญชีรายชื่อต่อคนอยู่ที่ 3.2 แสนคะแนน ส่วนคะแนนปัดเศษหลังจากคำนวณแล้ว ยังได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ครบ 100 คนนั้น พรรคที่จะได้การปัดเศษมี ส.ส.บัญชีรายชื่อในส่วนที่เหลือเพิ่ม อย่างน้อยต้องมีคะแนนเศษตั้งแต่ 1.7แสนคะแนนขึ้นไป

ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวว่า นายชวนมีดำริว่าจะให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 9-10 มิ.ย. แต่เนื่องจากมีระเบียบวาระที่ต้องบรรจุก่อนคือ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ จึงเห็นว่าควรจะขอเลื่อนระเบียบวาระกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนในวันที่ 9-10 มิ.ย. ซึ่งวิป 3 ฝ่ายที่มาหารือกันในเบื้องต้นไม่ได้ขัดข้อง

ด้านนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ส.ว. ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวถึงในฐานะที่เป็น กมธ.เสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยกับวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบหารด้วย 100 จะร่วมกันลงชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยหรือไม่ว่า สำหรับตนคงจะไม่ยื่นแล้ว แต่สำหรับส.ว.ท่านอื่นไม่ทราบเช่นกันว่าพวกเขาคิดอย่างไร ตนมาเป็น กมธ. ก็อยากจะพิจารณาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่สุด ซึ่งเสียงข้างมากเห็นชอบกับหารด้วย 100 ประกอบกับถ้าส่งไปให้ กกต.พิจารณาแล้วเขาไม่ทักท้วง ตนก็ไม่ติดใจอีก

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีมี กมธ.เสียงข้างน้อย โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคเล็กและ ส.ว.บางส่วน จะแปรญัตติเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้หารด้วย 500 ว่า เป็นสิทธิ์ที่เขาสามารถทำได้ เพราะตามกระบวนการข้อบัญญัติของกฎหมายในชั้นกรรมาธิการก็ต้องว่าไปตามนั้น ส่วนในชั้นการพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ทุกคนก็สามารถทำได้ เพราะยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ในการหาร 500 และหารด้วย 100 แต่ไม่เป็นอะไรทุกอย่างก็ว่าไปตามขั้นตอนในสภา เสียงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ตัดสิน

เมื่อถามว่า เสียงที่เห็นต่างจะทำให้เกิดปัญหาสามารถคว่ำกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับได้หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า คนในสภายังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่จะต่างกันในคราวนี้ก็คือเรื่องการโหวตฎหมายลูก ไม่จำเป็นต้องเอา 84 เสียงส.ว.มาเป็นเกณฑ์ เพียงแต่ใช้เสียงจำนวนครึ่งหนึ่งของรัฐสภา การพิจารณาร่างกฎหมายก็ผ่านแล้ว ซึ่งมันจะง่ายกว่าการโหวตรัฐธรรมนูญ ดังนั้นโอกาสที่กฎหมายจะตกหรือ ส.ว.จะคว่ำได้นั้นก็เป็นเรื่องยากกว่าการพิจารณารัฐธรรมนูญ เพราะหากฝ่าย ส.ส.ยืนยันตามร่างที่จะมีการพิจารณา น่าจะคว่ำยาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง