โควิดทรงตัว ติดเชื้อรายใหม่ 4,144 ราย เสียชีวิต 36 คน "ปลัด สธ." ชี้โควิดดีขึ้นเร็วว่าที่คาด กลางเดือน มิ.ย.เตรียมผ่อนคลายมาตรการใส่หน้ากาก เว้น 3 กลุ่ม "เสี่ยง 608-สถานที่ปิด-รวมตัวเยอะ" แนะสวมหน้ากากต่อ "รมช.สธ." ขออย่าตื่นตระหนกฝีดาษลิง เล็งประสานคลินิกโรคผิวหนังช่วยเฝ้าติดตาม
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,144 ราย ติดเชื้อในประเทศ 4,136 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,130 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 6 ราย เรือนจำ 7 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,235 ราย อยู่ระหว่างรักษา 47,879 ราย อาการหนัก 1,034 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 521 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 36 ราย เป็นชาย 22 ราย หญิง 14 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 24 ราย มีโรคเรื้อรัง 12 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,419,737 ราย ยอดหายป่วยสะสม 4,342,047 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 29,811 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 1,816 ราย, บุรีรัมย์ 152 ราย, สุรินทร์ 124 ราย, ขอนแก่น 92 ราย, นนทบุรี 89 ราย, สมุทรปราการ 86 ราย, ร้อยเอ็ด 85 ราย, ชลบุรี 82 ราย, อุบลราชธานี 80 ราย และนครพนม 72 ราย
ที่โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) เป็นประธานการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนอกสถานที่ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2565 ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานสำคัญ รวมทั้งการเตรียมการของพื้นที่เพื่อรับการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่อง และเร็วกว่าฉากทัศน์ที่คาดการณ์ มั่นใจว่าจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นตามเวลาที่วางแผนไว้ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จึงต้องมีการบริหารด้านสังคมร่วมด้วย โดยนำร่องกิจกรรมในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชน
"ประมาณกลางเดือนมิถุนายน จะปรับคำแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยใน 3 กรณีคือ 1.กลุ่มผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง 608 2.อยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และ 3.กิจกรรมที่มีคนร่วมกันจำนวนมาก พร้อมทั้งขอให้สื่อสารไปถึงประชาชนให้ทราบการปฏิบัติตนและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคโควิด-19 ต่อไป" ปลัด สธ.กล่าว
ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงการระบาดของโรคฝีดาษลิงในต่างประเทศว่า ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และข้อมูลจาก สธ. โดยไม่ตื่นตระหนก ขณะนี้ สธ.ได้จัดตั้งคณะกรรมการพนักงานปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง ซึ่งเป็นระดับกรมที่มี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เป็นประธาน และมีรองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นที่ปรึกษา รวมถึงมีหน่วยคัดกรอง ฝ่ายติดตาม และฝ่ายกำหนดแผน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะพยายามติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าว ทั้งในต่างประเทศและในประเทศ โดยเรากำลังติดตามและพยายามคัดกรองบุคคลที่มาจากประเทศเสี่ยง 17 ประเทศ ซึ่งแต่ละสนามบินมีด่านคัดกรองของกรมควบคุมโรคที่กำลังทำหน้าที่ตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้นมากขึ้น
นอกจากนี้ สธ.จะมีประชุมแจ้งเตือนและกำชับสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้ไปทำความเข้าใจและติดตามข้อมูลจากคลินิกโรคผิวหนังและคลินิกกามโรคภายในประเทศว่าพบโรคนี้เข้ามาบ้างแล้วหรือไม่ รวมทั้งอาจต้องมีการพิจารณาว่าควรปรับนิยามของโรคนี้ให้ไปอยู่ในนิยามของคำว่าโรคติดต่อร้ายแรงหรือไม่
"ขอยืนยันสถานการณ์ในประเทศขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่น่าตื่นตกใจ และยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าวภายในประเทศไทย แต่ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลคำชี้แจงของกรมควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด ส่วนการฉีดวัคซีนของประชาชนที่เกี่ยวกับโรคฝีดาษนั้น ที่จริงเป็นการปลูกฝีที่มีขึ้นในช่วงปี 2523 ซึ่งผู้ที่เกิดจากหลังจากปีดังกล่าวจะไม่ได้รับการปลูกฝีประเภทนี้ โดยการปลูกฝีไม่ได้ช่วยป้องกันโรค แต่ช่วยป้องกันอาการรุนแรงของโรคได้ 80 เปอร์เซ็นต์" รมช.สธ.กล่าว
ด้าน นพ.จักรรัฐ วงศ์พิทยาอานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวก่อนการประชุมวิชาการพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ครั้งที่ 10/2565 ว่า มีการหารือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อนิยามโรคฝีดาษลิง มาตรการรับมือ การตรวจโรคและรักษา โดยมีเกณฑ์ 3 ข้อ คือ 1.เกณฑ์ทางคลินิกว่ามีอาการอะไรบ้างที่เข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง 2.เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ว่าต้องใช้การตรวจในระดับไหนของห้องปฏิบัติการฯ และ 3.เกณฑ์ทางระบาดวิทยาจะต้องมีประวัติสัมผัส ประวัติเสี่ยง
"การวางกรอบนี้เพื่อวางมาตรการในพรมแดนเข้า-ออกของไทย เน้นสนามบินที่มีเที่ยวบินตรง ให้สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคแบบเป็นกลุ่มจากคนสู่คน เน้นในยุโรป (อังกฤษ, สเปน, โปรตุเกส) ส่วนไทยยังไม่พบการระบาด" นพ.จักรรัฐกล่าว
ถามว่าจะฟื้นเรื่องของการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคหรือไม่ ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวว่า ตามหลักการคนที่เคยปลูกมาแล้วจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า ฉะนั้นหากจำเป็นต้องปลูกฝี คนที่เสี่ยงที่ต้องได้รับการปลูกฝีก่อนคือคนที่ใกล้ชิดคนติดเชื้อ และบุคลากรการแพทย์ที่ต้องดูแลคนไข้กลุ่มนี้ อาจต้องเตรียมไว้ก่อน แต่คนอายุ 45 ขึ้นไปอาจจะไม่เสี่ยงมาก เพราะเคยได้รับการปลูกฝีมาก่อนแล้ว
"ขณะนี้กรมกำลังหาว่ามีบริษัทไหนขาย และกำลังแพลนว่าจะซื้อ แต่ต้องติดตามอยู่ว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาทั่วโลกกวาดล้างโรคฝีดาษไปหมดแล้ว" ผอ.กองระบาดวิทยาระบุ
มีรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 18 ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค.2565 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เสนอ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย
‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา
กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ
เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่
"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน
‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’
ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้
กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี
"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว