นายกฯ ปัดข่าวเงินเฟ้อไทยสูงสุดในโลก ชี้จัดอยู่ในกลุ่มต่ำสุด ยัน ศก.กำลังฟื้นฟูอย่างช้าๆ ไม่ถือว่าชะลอ หวังตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น "สภาพัฒน์" เผยไตรมาส 1/65 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 3% แตะ 38.7 ล้านคน ขณะอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.53% ต่ำสุดนับแต่เกิดโควิด เปิดข้อมูลปี 64 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้าน ขยายตัว 3.9%
เมื่อวันจันทร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องเงินเฟ้อหลายคนเป็นห่วง รัฐบาลเองก็เป็นห่วงใน 2 ปัจจัย คือราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่ง รัฐบาลก็ช่วยตรงนั้นไปแล้ว ราคาหมวดอาหารใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากรต่างๆ เพื่อช่วยเหลือต้นทุนการขายปลีก โดยให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาดำเนินการตามพันธะหน้าที่ ทุกประเทศเดือดร้อนเหมือนกันหมด ของเราเดือดร้อนรัฐบาลก็ดูแลอย่างเต็มที่ ส่วนกำลังซื้อภาคประชาชนค่าเงินบาทอ่อนตัว ฉะนั้นเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของเรา โดยเฉพาะสินค้าด้านการเกษตรปีนี้ราคาดี
"ถ้าจะมองเศรษฐกิจของเราตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงฟื้นฟูอย่างช้าๆ ไม่ถือว่าชะลอ ถ้าเทียบตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิดมา เราต้องรักษาสมดุลตรงนี้ไว้ให้ได้ เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ผู้ทำงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเคยโดนลดเงินเดือนค่าจ้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราพยายามจะรักษาระดับเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเงินเฟ้อของเรามีคนไปพูดบิดเบือนว่าเรามากกว่าเขา เงินเฟ้อเราไม่ได้สูงที่สุดในโลก แต่เราอยู่ในกลุ่มที่ต่ำสุด และเราจะต้องกำกับดูแลราคาสินค้าในท้องตลาดให้ได้มากที่สุด เรื่องดอกเบี้ยนโยบายต่างๆ ทางธนาคารกำลังพิจารณาตามความเหมาะสม"
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ในไตรมาส 2 และ 3 เราจำเป็นต้องเร่งผ่อนคลายมาตรการโควิดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาให้มาก รวมถึงนักท่องเที่ยวในประเทศเราด้วย ซึ่งยังพอมีเวลาตั้งแต่เวลานี้จนถึงช่วงไฮซีซันปลายปี โดยหลายเรื่องเราได้ดำเนินการไป ถ้าดูตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยกว่าล้านคน ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวไตรมาสแรกในปี 65 น่าจะเพิ่ม 2,000 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเดิมไม่มี ตัวเลขเป็นศูนย์ ฉะนั้นตัวเลขนี้ก็ดูสูงดี แต่ก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ รายได้เพิ่มขึ้นถึง 1.4 พันเปอร์เซ็นต์ มองตัวเลขดูดีมากๆ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2565 ว่า สถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงไตรมาส 1/2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นทุกด้าน โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนผู้มีงานทำ 38.71 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผู้มีงานทำในภาคเกษตร 11.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% และผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร 27.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรนั้น แม้ว่าผู้มีงานทำในสาขาก่อสร้าง และโรงแรม/ภัตตาคาร จะหดตัวลงเล็กน้อยที่ระดับ -1.1% แต่การจ้างงานในภาคขนส่ง/เก็บสินค้า เพิ่มขึ้น 16.2% และสาขาค้าส่ง/ค้าปลีก เพิ่มขึ้น 5.8% ขณะที่สาขาการผลิต เพิ่มขึ้น 2.6%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาชั่วโมงการทำงาน พบว่าในช่วงไตรมาส 1/2565 แรงงานมีจำนวนชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 40.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนผู้ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 5.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานไม่เกิน 20-24 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีจำนวน 3.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนผู้เสมือนว่างงาน 2.6 ล้านคน
สำหรับผู้เสมือนว่างงานที่มีจำนวน 3.8 ล้านคนนั้น พบว่า 41% อยู่ในภาคเกษตร หรือคิดเป็นจำนวนแรงงาน 1.58 ล้านคน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้เกษตรกรกลุ่มนี้ในช่วงที่ยังไม่เข้าสู่ฤดูเพาะปลูก ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานที่อยู่ในภาคบริการที่มีจำนวน 1.36 ล้านคนนั้น ภาครัฐจะต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือมากขึ้นในช่วงเวลาถัดไป
นายดนุชากล่าวต่อว่า ในส่วนอัตราการว่างงานโดยรวม พบว่าในช่วงไตรมาส 1/65 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.53% ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 เป็นต้นมา โดยมีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 6.1 แสนคน ลดลงจากไตรมาส 1/64 ที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 7.6 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 1.96% ขณะที่จำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานอยู่ที่ 3.05 แสนคน ลดลงจากไตรมาส 1/64 ที่มีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 3.45 แสนคน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนหนี้สินครัวเรือนล่าสุด ข้อมูลไตรมาส 4/2564 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% ชะลอลงจาก 4.2% ของไตรมาสก่อนหน้า โดยหนี้สินครัวเรือนขณะนี้คิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อ GDP ซึ่งสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง เช่น สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 5.0% จาก 5.8% ในไตรมาสก่อน และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ขยายตัว 6.5% จาก 7.6% ในไตรมาสก่อน
"ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด เพราะครัวเรือนไทยโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย สภาพคล่องต่ำ มีฐานะการเงินที่เปราะบางมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวยาวนาน รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว แม้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานยังไม่ปกติ และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้" นายดนุชากล่าว
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังไม่มีการหารือเกี่ยวกับโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 นอกจากนี้ รมว.การคลังยังปฏิเสธที่จะตอบว่ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาประชาชน และเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และผลกระทบจากราคาน้ำมันและสินค้าแพงหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ