กกต.เตือน‘ปากกา’ต้นเหตุบัตรเสีย

กกต.กทม.เตือนคนกรุง  หากนำปากกามาเองควรเป็นหมึกสีน้ำเงิน แนะรอมือแห้งหลังใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ ป้องกันเครื่องหมายเลอะเลือนกลายเป็นบัตรเสียได้ ห้ามขนคนไปลงคะแนน ยกเว้นหน่วยทหารเท่านั้น                                                                                                    

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกรุงเทพมหานครออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.), สมาชิกสภาเมืองพัทยาและนายกเมืองพัทยา ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ที่หน่วยเลือกตั้งที่มีชื่ออยู่ โดยขอให้เตรียมหลักฐานที่ใช้การแสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง เช่น บัตรประจำตัวประชาชน บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทางไปด้วย สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้สมัคร นโยบายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และข้อมูลการใช้สิทธิ ผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1444

นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ให้สัมภาษณ์ว่า การเลือกตั้งจะมีความเข้มงวดในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 โดยจัดเตรียมคูหาพิเศษ และขั้นตอนสำหรับผู้ติดเชื้อและเป็นโควิด-19 อีกทั้งยังมีข้อปฏิบัติแนะนำในการป้องกันในระหว่างการมาลงคะแนนเลือกตั้ง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงการนำปากกาของตัวเองมาด้วย

"ทาง กกต.กทม.ขอแนะนำเพิ่มเติม กรณีนำปากกามาเอง ขอให้เป็นปากกาลูกลื่น หมึกสีน้ำเงินเท่านั้น เพื่อไม่ให้แตกต่างจากสีปากกาที่จัดเตรียมไว้ในคูหาลงคะแนน หรือหากนำสีอื่นมา จะใช้ได้เฉพาะขั้นตอนของการลงลายมือชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและลงลายมือในต้นขั้วบัตรเลือกตั้งเท่านั้น และก่อนกากบาทหมายเลขที่เลือก ควรรอให้เจลแอลกอฮอล์แห้งเสียก่อน เพราะอาจทำให้บัตรเลอะเลือนกลายเป็นบัตรเสียได้" นายสำราญกล่าว

นายสำราญเผยว่า อยากเน้นย้ำ 2 ประเด็น ประเด็นแรก เป็นเรื่องของการจัดยานพาหนะรับ-ส่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังหน่วยเลือกตั้งและส่งกลับไปยังบ้าน  ขอย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงสมาคม มูลนิธิและอาสาสมัครต่างๆ ไม่สามารถรับ-ส่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ การนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าโดยสารตามปกติ ไม่สามารถดำเนินการแบบฟรีได้

“ต้องมีการไปโดยที่มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าจ้าง ค่าโดยสาร หรือค่าจ้างเหมาตามปกติทั่วไปที่คิดกัน ไม่อย่างนั้นถ้าเกิดเป็นประเด็น ว่ามีการจูงใจให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง”

นายสำราญเปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องออกมาแจ้ง เนื่องจากได้รับกระแสข่าวมาถึงตน ซึ่งการนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิแบบไม่คิดค่าโดยสารได้มีเพียงหน่วยแบบเดียว คือหน่วยเลือกตั้งที่เป็นหน่วยทหาร ซึ่งต้องแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครล่วงหน้า และปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการใช้ยานพาหนะอย่างเคร่งครัด

“ต้องมีระบุหมายเลขทะเบียนรถมา แล้วก็ขนส่งใครไปที่ไหน มีป้ายติดข้างรถชัดเจนด้วยครับ ยกเว้นแค่เฉพาะหน่วยทหารหน่วยเดียวครับ”

นายสำราญยังเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิกันเยอะๆ เพราะถือเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ โดยมีการเลือก ส.ก.ในรอบ 12 ปี และผู้ว่าฯ กทม.ในรอบ 9 ปี โดยเตรียมบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งแม้หมดอายุแล้วก็ใช้ได้ หรือหลักฐานอื่นที่ทางราชการออกให้ ที่มีภาพถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงคำแนะนำในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชน กรมควบคุมโรคมีแนวทางว่า ผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มอาการน้อยหรือไม่มีอาการเดินทางไปใช้สิทธิได้ โดยคูหาเลือกตั้งจะมีโซนแยกไม่ให้ปะปนกัน ขอให้เลี่ยงการใช้รถสาธารณะ กรณีมีความจำเป็นจะต้องป้องกันตนเองให้มาก สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม แนะนำประชาชนตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เรียบร้อย ศึกษาขั้นตอนการเลือกตั้ง เช็กเส้นการเดินทางเพื่อลดระยะเวลาการอยู่นอกบ้านให้มากที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก