บิ๊กตู่โอดเจอวิกฤตซ้อนขอให้เชื่อมั่น

“บิ๊กตู่" เล่าย้อนอดีต คสช.เข้าบริหารประเทศ เหตุบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ยอมแลกถูกกล่าวหาไม่เป็นประชาธิปไตย โชว์ผลงานรัฐบาล 29 หน้า  โอดเจอ "โควิด-สงคราม" กระทบ ศก.ทำ ปชช.ขุ่นเคืองใจ ขอทุกฝ่ายเชื่อมั่น รบ.พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด "จตุพร" โยนเสื้อแดงตัดสินใจหลัง "อุ๊งอิ๊ง" ชวนกลับบ้าน ชี้ลูกทักษิณมีสิทธิเป็นนายกฯ แต่ขอให้ศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าให้ซ้ำรอยอีก "ไพบูลย์" เผยรัฐสภาเห็นชอบสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 ชี้ไร้เหตุส่งศาล รธน.ตีความ แย้มไทม์ไลน์ใช้ กม.ลูกต้นเดือน ต.ค.

ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน วันที่ 19 พ.ค.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมเสวนา "ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม" และกล่าวปาฐกถาพิเศษ "อดีต ปัจจุบันและอนาคตประเทศไทย" ช่วงหนึ่งระบุว่า ตนย้อนคิดเสมอถึงวันที่ตัดสินใจเข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 7 ปีก่อน วันนั้นประเทศไทยมีการแบ่งขั้วสลับกันต่อต้านซึ่งกันและกัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมานับสิบปี เป็นเหตุให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้ คนไทยไม่มีความสุข และประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ซึ่งในวันนี้พวกเราหลายคนอาจจะลืมกันไปแล้ว และเมื่อตนได้ตัดสินใจไปแล้วก็ได้เดินหน้าทำให้ดีที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เข้าใจดีว่าต้องแลกกับการถูกกล่าวหาว่าประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย ในเวลานั้น คสช.ได้พยายามพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าทุกคนสามารถมีเสรีภาพทางความคิด ภายใต้กรอบกฎหมายที่ผ่อนปรนกับทุกฝ่ายมากที่สุด ในช่วงเป็นรัฐบาล คสช. มีอำนาจพิเศษมากมาย แต่ตนก็ไม่ได้ใช้ในทุกกรณี ใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาเท่านั้น

 “เมื่อเข้าสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 ผมได้มีโอกาสกลับมาสานต่อการบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีทุกคนได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นกรอบเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาประเทศ ให้กับหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนให้ปฏิบัติตาม โดยจะมีการวัดผลและทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอ ตามสถานการณ์และความจำเป็นของประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า การเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤตโลกที่เราไม่ได้ก่อ และเป็นมหาวิกฤตครั้งที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทย เราถูกประเมินว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในระดับต้นๆ ของโลก เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 20 ของ GDP การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกหยุดเดินทาง และเครื่องจักรการท่องเที่ยวไม่สามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้เหมือนก่อน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยยังได้รับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นการเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยโลกแบ่งเป็นสองขั้ว ทรัพยากรที่เคยสมดุลต้องขาดแคลน มีผลให้ราคาสินค้า ราคาพลังงาน และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น สร้างความหวาดกลัวว่าสงครามจะยืดเยื้อ สิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้คือ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น วิกฤตพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดอย่างพอเพียง รัฐบาลจึงได้เข้ามาดูแลประชาชนเพื่อลดภาระค่าครองชีพด้วยมาตรการต่างๆ

 “ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะเจอกับเรื่องวิกฤตซ้อนวิกฤต ไม่ว่าจะจากโรคโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงเกิดความแตกแยกทางความคิดมากมายแค่ไหนก็ตาม รัฐบาลของผมก็ยังเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ประเทศไทยเองต้องมีการลงทุน และเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่”นายกฯ กล่าว

บิ๊กตู่ขอ ปชช.มั่นใจรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกัน รัฐบาลเข้าใจในความขุ่นเคือง ไม่พอใจของประชาชนกับวิกฤตที่ยืดเยื้อติดต่อกันกว่า 2 ปี และมีวิกฤตซ้อนวิกฤตขึ้นอีก รัฐบาลมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะนำความสุขกลับมาสู่พี่น้องชาวไทยโดยเร็ว แต่วิกฤตเหล่านี้เป็นวิกฤตโลก เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ก่อ หรือจะทำให้จบด้วยตัวเราเองได้ สิ่งที่รัฐบาลสามารถให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ คือประเทศไทยในวันนี้ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี พร้อมรับมือกับวิกฤตที่ยืดเยื้อได้ มีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ และมีอุตสาหกรรมสำหรับรองรับคนรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียนทุกด้าน

 “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น บางครั้งในยามวิกฤต ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้า อาจจะทำงานไม่ทันใจ ก็ขอให้เข้าใจ เห็นความจริงใจ ทุกคนมุ่งมั่นแก้ปัญหา ตั้งใจทำงาน ขอเพียงให้อดทน ร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ใช่เวลาแห่งความขัดแย้งหรือบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง เพราะนี่คือ ประเทศไทยของเรา แผ่นดินนี้ยังมีสิ่งที่งดงามและอนาคตที่ดีๆ รอพวกเราและลูกหลานอยู่ และเราก็มีสถาบันที่สำคัญ ชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวคนไทยไว้ด้วยกัน สิ่งที่เราต้องการวันนี้คือต้องการความร่วมมือ ความมุ่งมั่นและความเข้าใจเผื่อแผ่แบ่งปันซึ่งกันและกัน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และไม่เคยท้อแท้ พยายามจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตของประเทศไทยต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปาฐกถาดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการสรุปผลการดำเนินงานของรัฐบาลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้รวม 29 หน้า

ด้านนายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ยังออกมาระบุถึงการรัฐประหาร และวิจารณ์ 8 ปีของนายกฯ ไร้ประโยชน์ ไม่มีนโยบายที่จะมาวางรากฐานให้ประเทศและประชาชนว่า นายสมคิดไม่ควรนำเรื่องในอดีตหรือเรื่องรัฐประหารมาพูดให้ประชาชนเกิดความสับสน ควรต้องย้อนกลับไปดูในอดีต เหตุใดถึงมีการทำรัฐประหาร เพราะว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารงานผิดพลาด ประเทศเดินหน้าไม่ได้ จนประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ใช่หรือไม่

ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชวนคนเสื้อแดงกลับบ้านว่า เป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ เป็นสิทธิเสรีภาพของคนเสื้อแดงจะตัดสินใจกันอย่างไร แต่ให้ยึดหลักความเป็นประชาธิปไตย ขณะนี้ตนเป็นผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ติดคุก ออกคุกมาแล้ว 5 ครั้ง คดียาวเป็นหางว่าว ต้องการใช้เวลาที่เหลืออยู่ในสนามของประชาชน ส่วนสนามการเมืองยังไม่ได้คิด แต่ก็ไม่ได้ปิดประตูตาย

ถามถึงกรณี น.ส.แพทองธารจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ นายจตุพรกล่าวว่า รัฐธรรมนูญระบุว่า บุคคลสัญชาติไทย อายุ 35 ขึ้นไป สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ คุณอุ๊งอิ๊งก็มีสิทธิเป็นนายกฯ ได้เหมือนคนอื่น ไม่ได้วิตกกังวลอะไร เป็นสิทธิที่จะแข่งขันในสนามการเมือง

 “บทเรียนมีไว้ให้แก้ พูดเสมอว่าทุกฝ่ายมีสิ่งที่ถูกและผิด ไม่มีฝ่ายใดถูกเสมอ เมื่อมีบทเรียนแล้วก็ต้องดูสาเหตุที่จะทำให้ไปสู่เหตุการณ์นั้น อย่าไปเปิดประตูให้กับการรัฐประหาร ทุกเหตุการณ์ย่อมมีบทเรียน อย่าไปติดกับดักติดบ่วง เชื่อว่าประวัติศาสตร์จะอธิบายได้ดีว่าต้องดำเนินการอย่างไร เชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์จะไม่ทำอย่างนั้นอีก ประวัติศาสตร์จะอธิบายได้ดีว่าต้องป้องกันอย่างไร ไม่ควรย้ำรอยนั้นอีก แต่ละบทเรียนมีไว้ให้แก้ไข ไม่ใช่ทำผิดพลาดซ้ำอีก” นายจตุพรกล่าว

กม.ลูกคาดใช้ต้น ต.ค.

ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากแปรญัตติว่า หลังจาก กมธ.มีมติรับรองเรียบร้อยก็จะนำเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งคาดว่าคงจะบรรจุเข้าวาระวันที่ 9 มิ.ย. ซึ่งการพิจารณาวาระ 2 ของกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนั้น คงจะไม่มีปัญหาอะไร เชื่อว่าจะเป็นไปตาม กมธ.เสนอ และทุกอย่างคงจะจบในวันที่ 10 มิ.ย. ในวาระ 3 เมื่อเสร็จแล้วก็ส่งให้เฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดย กกต.จะพิจารณาไม่เกิน 15 วัน และส่งกลับมาถ้าไม่มีประเด็นใดๆ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งให้นายกฯ จากนั้นประมาณ 20 วัน นายกฯ ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จากนั้นอีกไม่เกิน 90 วัน ประมาณปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม กฎหมายก็คงจะมีการประกาศใช้

 “เชื่อว่าเสียงข้างมากในรัฐสภาจะเห็นชอบกับที่ กมธ.แก้ไข ส่วนกระแสโหวตคว่ำร่างกฎหมายลูกจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น เป็นแค่คนพูดถึงเท่านั้น แต่ไม่มีความเป็นไปได้ในสถานการณ์หรือบริบทใดๆ ทั้งสิ้นในการคว่ำร่าง สำหรับผมถือว่าไม่มีความเป็นไปได้เลย” นายไพบูลย์กล่าว

ถามถึงประเด็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะมีการพลิกกลับในรัฐสภาไปใช้สูตรหาร 500 หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ไม่มี เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากจะเห็นด้วยกับที่ กมธ.เสนอ ซึ่งเรื่องนี้คือมาตรา 23 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นการแก้ไขมาตรา 128 แต่ กมธ.ไม่ได้แก้ไข โดยคงตามร่างที่ กกต.เป็นผู้ยกร่างส่งให้ครม. ดังนั้นเมื่อ กมธ.เสียงข้างมาก 32 ต่อ 11 เสียง มีมติให้คงตามร่างเดิม ก็เชื่อว่าที่ประชุมรัฐสภาก็จะคงตามร่างเดิม ไม่มีการแก้ไข เพราะถ้าที่ประชุมรัฐสภาลงมติหารด้วย 100 ตามที่ กกต.เสนอมา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 กกต.ก็คงจะไม่มีเหตุขัดข้อง แต่ถ้าลงมติหาร 500 กกต.คงจะท้วงไปว่าขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ซักว่าในชั้น กมธ. ตัวแทนฝั่ง ส.ว.ส่วนใหญ่ลงมติหารด้วย 500 เมื่อกลับไปในรัฐสภา ส.ว.จะสนับสนุนหารด้วย 500 ทั้งหมดหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า กมธ.ฝั่งส.ว.มี 14 คน ลงมติเห็นด้วยกับหาร 500 จำนวน 9 คน เห็นด้วยกับหาร 100 จำนวน 2 คน งดออกเสียง 1 คน ไม่อยู่ในห้องประชุม 2 คน ดังนั้นเสียง ส.ว.ไม่ได้เป็นเอกภาพ อีกทั้ง ส.ว.ในรัฐสภาก็ถือเป็นเสียง 1 ใน 3 แต่เสียงที่เห็นชอบนั้นส่วนใหญ่มาจาก ส.ส.ประมาณ 90% ซึ่งส.ส.มีตั้ง 476 คน จึงไม่มีปัญหาในเรื่องการลงมติ ทั้งหมดคงจะผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนผู้ที่มีความเห็นเป็นอื่นก็เป็นเรื่องธรรมดา ก็ไปพูดคุยกันในรัฐสภา”นายไพบูลย์ระบุ

ถามว่า ดูจากสัญญาณแล้วกฎหมายลูกจะราบรื่นไม่มีสะดุด ก่อนที่รัฐบาลจะมีอุบัติเหตุทางการเมืองใช่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง อยู่ครบวาระแน่ และกฎหมายลูกก็ไม่มีปัญหาใดๆ ในการพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ ส่วนตัวคิดว่าถ้าลงมติหาร 100 แล้วคงไม่ได้ไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีประเด็นที่จะไปศาลรัฐธรรมนูญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง