จี้นายกฯล้มประมูลท่อส่งนํ้าอีอีซี

กมธ.บริหารงบประมาณจ่อร่อนหนังสือถึง นายกฯ ล้มประมูล "ท่อส่งน้ำอีอีซี" อ้างทีโออาร์ไม่ชัดเจน ให้ใช้ระบบอีบิดดิงประมูลใหม่อีกรอบ เปิดให้ทุกบริษัทได้เข้าร่วมประมูลเพื่อเกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ชงดึง "สกพอ." ร่วมกับ "กรมธนารักษ์" เป็นเจ้าภาพคัดเลือกโครงการ

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.)  ศึกษาการจัดทำและการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบความโปร่งใสโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกว่า กมธ.ตรวจสอบได้ข้อยุติเกือบสมบูรณ์แล้ว ได้ข้อสรุปว่าในวันที่ 17 พ.ค.นี้ กมธ.จะทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอให้ยกเลิกการประมูลโครงการระบบท่อส่งน้ำอีอีซี โดยให้ประมูลใหม่ในระบบอีบิดดิง ให้ทุกบริษัทได้เข้าร่วมประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม เพราะทีโออาร์ในการประมูลรอบที่ผ่านมาไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการประมูลในรอบที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการทีโออาร์และลดสเปกทีโออาร์ลงมา ซึ่งตัวแทนกรมธนารักษ์ตอบได้ไม่ชัดเจนถึงเหตุผลการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์

นายไชยากล่าวว่า ขณะเดียวกันจะทำหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ออกมติ ครม.ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่เป็นหน่วยงานรัฐรับผิดชอบพื้นที่อีอีซี ร่วมเป็นเจ้าภาพกับกรมธนารักษ์คัดเลือกโครงการประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี เพราะพื้นที่อีอีซีเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ ควรให้อีอีซีเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ตัวเอง ให้เกิดการบริหารจัดการร่วมกับกรมธนารักษ์ หากให้ใช้กฎหมายของกรมธนารักษ์เพียงอย่างเดียวอาจเกิดปัญหาได้

"โดยเฉพาะเรื่องการส่งมอบระบบท่อส่งน้ำในอีอีซี 2 สาย ที่จะหมดสัมปทานปี 2566 อาจเกิดการตีความในกรรมสิทธิ์ได้ว่า ระบบท่อเหล่านี้เป็นของใครระหว่างบริษัท อีสท์วอเตอร์ที่เป็นเจ้าของสัมปทานเดิมกับกรมธนารักษ์ เกรงว่าเมื่อครบสัญญาปี 2566 จะเกิดปัญหาบริษัทเดิมไม่ส่งมอบระบบท่อให้บริษัทใหม่เข้ารับช่วงต่อ โดยอ้างการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งน้ำ ทำให้งานไม่เดินหน้า ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ท่อส่งน้ำ ควรให้อีอีซีเข้ามามีบทบาทในการร่วมคัดเลือกประมูลโครงการด้วย" นายไชยากล่าว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง