"บิ๊กตู่" พอใจผลประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ สานความร่วมมือทุกด้าน เผยเชิญประธานาธิบดีสหรัฐ-ผู้นำอาเซียน ร่วมเวทีเอเปกที่ไทยปลายปี 65 ย้ำรัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาในประเทศ ขออย่าด้อยค่า เชื่อหากรักสามัคคีทำประเทศเดินไปข้างหน้าได้
เมื่อเวลา 10.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) สหรัฐอเมริกา วันที่ 13 พ.ค. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังภารกิจในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ว่าการประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ และสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐมีมาอย่างยาวนาน และความร่วมมือมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแลกเปลี่ยนระดับสูง การทำงานร่วมกันบนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วม ทั้งทางการทหาร เศรษฐกิจ ความมั่นคง การค้า การลงทุน รัฐบาลไทยและสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีท่าทีที่สำคัญร่วมกัน ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พลังงาน เทคโนโลยีสะอาด การรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ ทั้งมิติสาธารณสุข เพราะต้องการสร้างห่วงโซ่ที่เข้มแข็งในประเทศไทย เพื่อลดผลกระทบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับนายโจ ไบเดน และผู้นำระดับสูงของสหรัฐ และภาคธุรกิจเอกชนสหรัฐ ที่จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนฟื้นฟูการเจริญเติบโตของภูมิภาค พร้อมเชิญชวนให้มาร่วมลงทุนในไทย เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน โดยเตรียมที่จะดูแลกฎกติกา สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ โอกาสนี้ได้เชิญสหรัฐและผู้นำชาติอาเซียนเข้าร่วมการประชุมเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย.65 นี้ ส่วนใหญ่ตอบรับ แต่ต้องรอการยืนยันอย่างเป็นทางการ
นายกฯ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ไทยยังผลักดันขอให้สหรัฐและผู้นำอาเซียนปรับเปลี่ยนเรื่องของการมุ่งเอาชนะ มาเน้นดูแลเรื่องมนุษยธรรมด้วย ซึ่งครอบคลุมทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องของสงครามเท่านั้น และบทบาทของไทยในภูมิภาคจะเน้นลดความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้า และพร้อมจะเอื้อกับทุกประเทศในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ไทยยังเสนอไปยังประเทศมหาอำนาจทั้งหลายว่าต้องหาแนวทางอย่างไรเพื่อให้โลกเกิดความสงบสุขและดูแลประชากรโลกให้มีความสุขและปลอดภัย โดยส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะสามารถยุติได้ในเร็วๆ นี้
ส่วนเรื่องปัญหาพลังงาน ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ จนทำให้จีดีพีปรับตัวลดลง ซึ่งรัฐบาลได้เข้าไปดูแลทุกภาคส่วนอย่างดี แต่หากจะให้การช่วยเหลือส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นได้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมองไปข้างหน้า และไทยเองได้ขอความร่วมมือกับสหรัฐในการผลิตและใช้พลังงานดิจิทัล EV เพื่อแก้วิกฤตพลังงาน ปัญหาสินค้าขาดแคลน และความยากจน ซึ่งกลุ่มบุคคลที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือผู้มีรายได้น้อย พร้อมขออย่าด้อยค่ากันและกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะหากมีความรักความสามัคคี ก็จะทำให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้
ต่อมาเวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐ และบอกว่าที่ประชุมควรร่วมกันมองไปข้างหน้า และเดินหน้าไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน โดยเป้าหมายสำคัญที่สุด คือการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวต่อไปสู่ยุค Next Normal ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเสนอให้อาเซียนกับสหรัฐมุ่งสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้ภูมิภาคและโลกใน 3 เรื่อง ดังนี้
1.“ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็ง และบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน นายกรัฐมนตรียินดีที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ฉบับใหม่ของสหรัฐ ให้ความสำคัญกับอาเซียน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว ตลอดจนข้อริเริ่มอื่นๆ อาทิ AUKUS และกลุ่มภาคี Quad จะเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก
นายกรัฐมนตรีหวังว่า ผู้เล่นสำคัญต่าง ๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ซึ่งเป็นมิตรประเทศและหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียนมาอย่างยาวนาน จะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกต่อความท้าทายที่เปราะบางและซับซ้อนได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ให้แก่ประชาคมโลก โดยอาเซียนพร้อมจะมีบทบาทในฐานะเวทีหลักของภูมิภาคที่จะเชื่อมโยงผู้เล่นทุกคนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภูมิรัฐศาสตร์ที่สงบสุข
2.“ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง” นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 อาเซียนมีผู้บริโภคดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ว่าอาเซียนจะเติบโตสู่การเป็นตลาดดิจิทัลที่สำคัญของโลกในอีกไม่ช้า ไทยสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียน-สหรัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาคผ่านกลไกของ USDFC โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs และสตาร์ทอัป เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลได้
นอกจากนี้ โรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยในระยะเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนและสหรัฐเร่งหารือช่องทางในการเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window เข้ากับระบบนำเข้า-ส่งออกของสหรัฐ เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น และในระยะยาว เชื่อมั่นว่าอาเซียนมีศักยภาพในการเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐได้ โดยเฉพาะสาขายานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการแพทย์และเวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งนี้ ไทยมีเขต EEC ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ และโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขีดความสามารถให้กับภูมิภาคด้วย
3.“ภูมิทัศน์เพื่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีพลังมากขึ้น” โดยไทยเห็นว่าทุกประเทศต้องร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของไทยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทาง และผลักดันให้เป็นแนวคิดพื้นฐานในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN.CONNECT.BALANCE.” ซึ่งสอดคล้องกับสหรัฐ ที่ให้ความสำคัญและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่ม Build Back Better World ได้เป็นอย่างดี
นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า แนวทางที่ได้เสนอมาทั้งหมดนี้ จะช่วยผลักดันให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐก้าวไปสู่บทใหม่ และเป็นการพิสูจน์ว่าความร่วมมือของอาเซียนและสหรัฐจะยังมีความสำคัญ และมีส่วนในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไป พร้อมยังยินดีที่จะให้การต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐ ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นาเขตเศรษฐกิจเอเปกที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายปีนี้
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางออกจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ไปยังท่าอากาศนานาชาติอินชอน กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงประเทศไทยในช่วงเช้าของวันที่ 15 พ.ค.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อิ๊งค์’ โชว์30บ. เวทีผู้นำเอเปก
นายกฯ อิ๊งค์โชว์ผลงาน 30 บาทรักษาทุกที่ บนเวทีผู้นำภาคเอกชนเอเปก พร้อมชวนลงทุนด้านธุรกิจดูแลสุขภาพในไทย มั่นใจหลังให้นโยบาย “บีโอไอ”
นายกฯแพทองธาร สวมชุดผ้าไหมไทย ร่วมงานเลี้ยงผู้นำเอเปก
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สวมชุดผ้าไหมไทย ซึ่งเป็นผ้าไหมผสมผสานผ้าปักชาวเขา เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติ
นายกฯอิ๊งค์ โชว์ 30 บาทรักษาทุกโรค บนเวทีสุดยอดผู้นำภาคเอกชนเอเปก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ 15 พ.ย. 2567 เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 12 ชม.) ณ the Grand National Theater of Peru กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมน
'นายกฯอิ๊งค์' อวยพรคนไทย สุขสันต์ 'วันลอยกระทง' ฉลองปลอดภัย
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งคำอวยพร และเชิญชวนคนไทยร่วมลอยกระทงว่า “สวัสดีพี่น้องประชาชนคนไทยทุกท่าน สวัสดีจากประเทศเปรู
'นายกฯอิ๊งค์' สวมผ้าไหมไทย ถก 'ปธน.เปรู' ผลักดัน FTA ให้เสร็จปี 68
นายกฯ สวมผ้าไหมไทยศูนย์ศิลปาชีพ ถก 'ประธานาธิบดีเปรู' ผลักดันการเจรจา FTA ให้เสร็จภายในปี 68 ปลี้ม Softpower หนังไทย เพลงไทย ฮิตในเปรู