ลุย4แผนรับโรคประจำถิ่น

ไทยติดเชื้อ 8 พันราย ดับ 59 ราย ศบค.ย้ำยังถอดหน้ากากเหมือนต่างประเทศไม่ได้ เร่งฉีดวัคซีนรับเปิดเรียน 17 พ.ค. "อนุทิน" นั่งหัวโต๊ะ คกก.จัดการโควิดสู่โรคประจำถิ่นครั้งแรก ลุยแผน 4 ด้านรองรับ คาดปลาย พ.ค.เข้าสู่ระยะโรคลดลง จ่อลดเตือนภัยเหลือระดับ 2 ลุ้นถก ศบค. 20 พ.ค. คลายล็อกผับ-บาร์

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,019 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,950 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,909 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 41 ราย, มาจากเรือนจำ 66 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 8,807 ราย อยู่ระหว่างรักษา 77,427 ราย อาการหนัก 1,353 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 673 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 59 ราย เป็นชาย 31 ราย หญิง 28 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 49 ราย มีโรคเรื้อรัง 10 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,353,237 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,246,499 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,311 ราย

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้ของประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 70 ไม่เคยได้รับวัคซีน และมีถึง 21 รายอยู่ที่ภาคอีสาน จึงขอรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน นอกจากนี้ ยังมีถึง 3 รายที่เสียชีวิตวันที่ตรวจพบเชื้อ และมี 9 รายเสียชีวิตหลังการพบเชื้อเพียง 3 วัน จึงฝากเตือนไปยังประชาชน หากมีอาการหรือเสี่ยง ให้เร่งเข้ารักษา          สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม 2,747 ราย, ร้อยเอ็ด 253 ราย, ชลบุรี 248 ราย, บุรีรัมย์ 229 ราย, สมุทรปราการ 195 ราย, นครราชสีมา 189 ราย, มหาสารคาม 177 ราย, อุบลราชธานี 168 ราย, ขอนแก่น 147 ราย และสุรินทร์ 140 ราย  

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า กรณีที่มีหลายประเทศผ่อนคลายกิจกรรม กิจการ เปิดสถานบันเทิง รวมถึงไม่ใส่หน้ากากอนามัยนั้น ขอชี้แจงว่าเราไม่สามารถยึดประเทศใดเป็นต้นแบบได้ เพราะบริบทต่างกัน และแม้หลายประเทศจะผ่อนคลาย แต่พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ซึ่งทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้นด้วย ดังนั้น เราต้องยึดประกาศ ศบค.และมาตรการสาธารณสุขเป็นหลัก 

ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการหารือถึงการเปิดภาคเรียนในวันที่ 17 พ.ค. โดยกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งข้อมูลการฉีดวัคซีนของเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 5,114,503 ราย ส่วนเด็กอายุ 5-12 ปี มีทั้งสิ้น 5,263,106 ราย จึงขอให้โรงเรียนต่างๆ ติดตามเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้เข้ามารับวัคซีน รวมถึงบุคลากรภายในโรงเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ความพร้อมของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน อาจมีมาตรการที่แตกต่างกัน บางแห่งอาจเปิดออนไซต์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่ไหนยังไม่พร้อม นักเรียนยังฉีดวัคซีนไม่ครบถ้วน สามารถจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด              

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 20 พ.ค. จะมีการหารือถึงปัญหาและอุปสรรคหลังจากมีการเปิดด่านผ่านแดนถาวร ส่วนเรื่องระบบไทยแลนด์พาส ยังคงมาตรการอยู่ และอาจมีการหารือว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 “การประชุมครั้งแรกวันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น เพื่อกำหนดมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข มาตรการทางเศรษฐกิจ และมาตรการทางสังคมและองค์กร ให้มีความสมดุลสอดคล้องกัน รวมถึงการสร้างความร่วมมือของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 ที่เปลี่ยนมาเป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไปได้อย่างปลอดภัย” นายอนุทินระบุ

นายอนุทินกล่าวว่า จากแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ที่มี 4 ระยะ คือ ระยะต่อสู้กับโรค ระยะโรคทรงตัว ระยะโรคลดลง และระยะหลังการระบาด ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระยะทรงตัว จึงประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิดจากระดับ 4 มาเป็นระดับ 3 พร้อมดำเนินงานในแต่ละด้าน คือ 1.ด้านสาธารณสุข เดินหน้าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่าร้อยละ 60 เน้นเฝ้าระวังการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อน และผู้ป่วยปอดอักเสบ และผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 2.ด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก เน้นดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง มีอาการรุนแรง และภาวะลองโควิด 3.ด้านกฎหมายและสังคม เตรียมการด้านกฎหมายของทุกหน่วยงานให้สอดคล้องกับการปรับตัวสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ลดการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก ส่งเสริมมาตรการ Universal Prevention และมาตรการ COVID Free Setting และ 4.ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ชีวิตร่วมกับโรคโควิด-19 อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ คาดว่าช่วงปลายเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ สถานการณ์จะเข้าสู่ระยะโรคลดลง และจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงจะประกาศลดระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 2

เมื่อถามว่า จะมีการเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 20 พ.ค. เรื่องการยกเลิกไทยแลนด์พาสกับผ่อนคลายผับบาร์หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า สเต็ปบายสเต็ป ซึ่งจะต้องหารือกับทางกรมควบคุมโรคอีกครั้ง แต่ทุกอย่างจะเป็นแนวทางผ่อนคลายให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้ ส่วนเรื่องผับบาร์ จะมีมาตรการต่างๆ เป็นลำดับ

เรื่องนี้ยังไงก็ต้องถูกนำเสนอเข้าที่ประชุม ศบค. เป็นสเต็ปเร็ว แต่อยู่ในเงื่อนไขความร่วมมือของประชาชน ตระหนักรู้ให้ตัวเองห่างไกลการติดเชื้อ เมื่อมีความเสี่ยงก็ต้องแยกตัวเองไว้ก่อน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 13-15 พ.ค. นายอนุทินมีกำหนดการนำคณะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 15  ณ โรงแรมคอนราด บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยจะมีการหารือถึงความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ในโอกาสนี้ นายอนุทินจะกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในหัวข้อ Building Regional Health System Resilience and Accelerating COVID-19 Recovery  เพื่อสนับสนุนการเร่งการฟื้นตัวของทุกประเทศจากผลกระทบของโควิด-19.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง