เงินเฟ้อพุ่ง5% ชง9มาตรการ ประคองศก.

“อาคม” รับเงินเฟ้อพุ่งทะลุ 5% หลังราคาน้ำมันกระฉูดกดดันเศรษฐกิจ รัฐเร่งอัดมาตรการลดภาษีดีเซลลดค่าน้ำ-ไฟช่วยประคอง แจงต้องพิจารณาเสถียรภาพการเงินการคลังอย่างรอบคอบก่อนออกมาตรการ หวั่นเป็นภาระการคลัง "กกร." จ่อชง 9 มาตรการพยุง ศก.หวังรัฐรักษาขีดความสามารถการแข่งขัน ลั่นตรึงดีเซลที่ 35 บาท พร้อมฟื้นโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ทันที

เมื่อวันพุธ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “รวมพลังก้าวข้ามวิกฤต เดินหน้าเศรษฐกิจไทย” ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญที่ต้องเผชิญ 2 เรื่องสำคัญคือ ปัญหาราคาพลังงานและอาหารสดที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวพุ่งขึ้นไปเกิน 5% จากปกติอยู่ที่ไม่เกิน 1% โดยเฉพาะราคาพลังงานในรอบนี้ที่ถือว่าค่อนข้างเข้มข้นมากกว่าราคาพลังงานที่เคยเพิ่มสูงขึ้นในอดีตหลายเท่าตัว ด้วยเหตุผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาพลังงานด้วย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือทั้งแบบพุ่งเป้าและแบบทั่วไป อาทิ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และมาตรการลดภาระค่าครองชีพสำหรับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ และมาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟ

สำหรับการพยุงราคาน้ำมันดีเซลนั้น  ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ชี้แจงไว้ชัดเจนแล้วว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงกว่าคาดการณ์ค่อนข้างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องยกระดับเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลจาก 30 บาทต่อลิตรขึ้นไปตามสถานการณ์ ทั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปช่วยพยุงราคาน้ำมันไว้ให้ต่ำกว่าเพดานที่รัฐบาลเคยกำหนด หรืออยู่ในระดับเพดานที่เหมาะสม ถือเป็นมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ใช้น้ำมันเป็นการทั่วไป

รมว.การคลังกล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และรัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดประเทศตั้งแต่เดือน พ.ย.2564 และการยกเลิกมาตรการ Test & Go ในเดือน พ.ค.2565 ส่งผลดีกับภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 7 แสนคน ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึง 2 ล้านคน ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจในแถบชายแดนก็น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังจากมีการเปิดด่านการค้าชายแดน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ พื้นที่ชายแดนกลับมาคึกคักมากขึ้น ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

นายอาคมกล่าวอีกว่า ในส่วนของภาคส่งออก ยังถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในปี 2564 ตัวเลขการส่งออกของไทยเติบโตได้ 20% ขณะที่ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขส่งออกอยู่ในระดับที่น่าพอใจที่ 15% ดังนั้นจึงถือว่าภาคการส่งออกยังสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีในปี 2565 นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐผ่านงบประมาณแผ่นดิน และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ยังคงเดินหน้าตามปกติ โดยรัฐบาลได้เร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ เบิกจ่ายงบประมาณตามที่ได้รับจัดสรรตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2565

 “มาตรการด้านภาษีที่รัฐบาลได้เร่งผลักดันออกมานั้น อาจทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ไป แต่ท้ายที่สุดรายได้ของภาษีจะกลับมาในอนาคต เมื่อธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ รัฐบาลก็จะมีรายได้กลับมาเป็นรายได้แผ่นดินในรูปของภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการดำเนินมาตรการเพื่อดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ยังจำเป็นต้องดูแลสถานะและเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศด้วยมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง  เพื่อไม่เป็นการสร้างภาระให้ภาคการคลังในอนาคต” นายอาคมกล่าว

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน  3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท., หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ประจำเดือน พ.ค.ว่า กกร.ได้สรุป 9 มาตรการที่ต้องการเสนอรัฐบาลเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อดูแลเศรษฐกิจ และประคองเศรษฐกิจ รักษาขีดความสามารถในแข่งขันของเอสเอ็มอี และดูแลประชาชน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เช่น เศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดโควิด-19 ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงสุดในรอบ 10 ปี

ทั้งนี้ 9 มาตรการเริ่มจาก 1.ขอให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินระดับ 35 บาท เป็นเวลา 3 เดือน 2.ขยายเวลาลดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่จะครบกำหนดในวันที่ 20 พ.ค.นี้อีก 3 เดือน เนื่องจากหากไม่ขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะทำให้ราคาพุ่งขึ้น และเป็นภาระของผู้ประกอบการและประชาชน 3.ลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า เช่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่จำเป็น เช่น ราคาปุ๋ยที่แพงมาก และเพิ่มโควตาการนำเข้าให้มากขึ้นในสินค้าที่จำเป็นด้วย

4.มาตรการเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เพราะว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างหนัก และยังไม่ฟื้นตัว ทำให้สภาพคล่องหายไป จึงอยากให้ภาครัฐเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และออกมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ทำได้ทันที  5.ขอให้เร่งดำเนินการโครงการคนละครึ่งเฟส 5 สามารถดำเนินการได้ทันที วงเงิน 1,200-1,500 บาท ภายในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มกำลังซื้อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยต้องการให้กระทรวงการคลังเร่งทำความเข้าใจกับร้านค้าในเรื่องการตรวจสอบภาษีด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนร้านค้าออกจากโครงการจำนวนมาก

6.ขอให้ขยายจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 7.ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะสถานบันเทิง หากเปิดได้ จะทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ และมีเงินสะพัด 8.ลดภาระให้ผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปัจจุบันจะเรียกเก็บ 100% จากปีที่ผ่านมาคิดเพียง 10% เท่านั้น และสุดท้าย 9.การเปิดประเทศโดยสมบูรณ์ การส่งเสริมและอำนวยความสะดวก จัดกิจกรรม และดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม

ส่วนการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำขอให้ภาครัฐคำนึงถึงเศรษฐกิจความสามารถของธุรกิจ ประสิทธิภาพของแรงงานแต่ละจังหวัด รวมถึงเงินเฟ้อด้วย การปรับค่าแรงที่สูงเกินไปหรือเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการอาจซ้ำเติมผู้ประกอบการได้

“ครั้งนี้ กกร.ได้ประชุมประเด็นเศรษฐกิจนานมาก โดยเรายังมองกรอบประมาณการขยายตัวฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้อยู่ที่ 2.5-4% เงินเฟ้อ 3.5-5.5% ส่งออก 3-5%” นายเกรียงไกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวยทักษิณชนะนายกอบจ.

"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา