พร้อมสู่‘โรคประจำถิ่น’ อภ.ผลิตโมลนูพิราเวียร์

ศบค.รายงานไทยติดเชื้อ 7.6 พันราย ดับ 56​ ราย “อนุทิน” นำประชุม คกก.โรคติดต่อ เผยตอนนี้เข้าสู่ระยะ 3 เตรียมพร้อมแผนเปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น หลังยอดติดเชื้อ-เสียชีวิตลดเร็วกว่าคาด ไร้ระบาดใหญ่หลังสงกรานต์ ขณะที่ อภ. ผลิต "โมลนูพิราเวียร์" เอง ลดค่ารักษาโควิดจาก 8 พันเหลือแค่ 600 บาท/คอร์ส

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,650 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,608 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,587 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 21 ราย, มาจากเรือนจำ 39 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 9,322 ราย อยู่ระหว่างรักษา 78,274 ราย อาการหนัก 1,387 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 690 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 56 ราย เป็นชาย 31 ราย หญิง 25 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 47 ราย มีโรคเรื้อรัง 9 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,345,218 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,237,692 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,252 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 518,440,513 ราย เสียชีวิตสะสม 6,280,181 ราย

 สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด  ได้แก่ กทม. 2,463 ราย, ขอนแก่น 308 ราย, มหาสารคาม 241 ราย,  อุบลราชธานี 238 ราย, บุรีรัมย์ 232 ราย, สมุทรปราการ 198 ราย, ชลบุรี 189 ราย, สุรินทร์ 178 ราย, ร้อยเอ็ด 178 ราย และชัยภูมิ 167 ราย

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีการหารือแผนดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น และเตรียมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะที่ 4 Post-pandemic (ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น) เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลายประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่นเช่นกัน อาทิ สเปน, อินเดีย, รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

สำหรับภาพรวมขณะนี้ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 หรือ Declining (การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 คน) มีผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ลดลงเร็วกว่าฉากทัศน์ที่คาดการณ์ไว้ เป็นผลจากประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการ ทำให้ควบคุมสถานการณ์หลังสงกรานต์ได้ดี ไม่มีการระบาดใหญ่ตามมา รวมถึงความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงมีการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่นในบางส่วนแล้ว อาทิ ประกาศลดระดับการเตือนภัยจากระดับ 4 เป็นระดับ 3 ทั่วประเทศ และมอบหมายให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปิดเมืองเปิดประเทศตามมาตรการ “2U” (Universal Prevention & Universal Vaccination) และ “3 พอ” (เตียงพอ หมอพอ เวชภัณฑ์และวัคซีนพอ) โดยภาพรวมประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 134 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรกกว่า 81% เข็มที่สอง 74% เข็มกระตุ้น 38% และอยู่ระหว่างเร่งรัดการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงให้ได้ตามเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข็มแรก 84%,  เข็มที่สอง 80% และเข็มกระตุ้น 42%

รมว.สาธารณสุขเปิดเผยต่อไปว่า ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ชื่นชมความสำเร็จในการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของไทย โดยมีปัจจัยความสำเร็จ 5 ประการ ได้แก่ 1.ผู้บริหารประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหา 2.มีระบบหลักประกันสุขภาพและการดูแลปฐมภูมิที่ดี 3.มีความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ อสม. ที่เป็นกำลังสำคัญของสาธารณสุข 4.ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็ง และ 5.มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการโควิด-19 ซึ่งจะมีการนำเสนอประสบการณ์ในการรับมือโควิด-19 ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกให้ประเทศสมาชิกได้เรียนรู้ต่อไป

นายอนุทินให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 ถึงประเด็นโรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า สำหรับการทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) การระบุว่าจะประกาศวันที่ 1 กรกฎาคมนี้หรือไม่ ก็ไม่สำคัญเท่าการได้รับความร่วมมือจากประชาชนทำให้ทุกวันเหมือนเป็นโรคประจำถิ่น หรือเป็นโรคชนิดหนึ่งอยู่แล้วในทุกวันโดยไม่ต้องประกาศอะไรเลยก็ได้ ตนสั่งการ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค หามาตรการเปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ เพื่อให้เกิดความเป็นปกติมากที่สุด แต่ต้องให้ประชาชนตระหนักรู้การใช้ชีวิตในช่วงที่โควิดไม่ได้หายไป ขณะที่มีสายพันธุ์ใหม่เป็นเชื้อโอมิครอน BA.2 3 4 หรือ 5

 “แต่หากข้อมูลยืนยันว่าไม่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังลดความรุนแรงหลังติดเชื้อได้ เราก็ต้องมูฟออน ส่วนหน้ากากอนามัยสวมไว้ก็ป้องกันโรคอื่นๆ ได้”  นายอนุทินกล่าว และว่า เรื่องของมาตรการผ่อนคลายเปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ ทางกรมควบคุมโรคกำลังหาวิธีการที่จะเดินคู่กันไป ในวันนี้เราฉีดวัคซีนโควิด-19 กันมากกว่า 135 ล้านโดส ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรแล้ว ก็น่าจะมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง

นายอนุทินกล่าวว่า ฉะนั้นเราต้องวางแผนและแก้ไขสถานการณ์หน้างานด้วย เพื่อให้ทุกภาคส่วนไปได้ อย่างที่ตนไปพบผู้ประกอบการ ก็ยังไม่มีใครคัดค้านในการเปิด ทุกคนต่างสนับสนุน แต่ขอให้ทำความเข้าใจให้ประชาชนใช้ชีวิตให้ปลอดภัย

 “ตอนนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่ความเห็นต่างกัน บางคนไม่ยอม บางคนยอม แต่ตอนนี้ทุกคนพร้อมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” นายอนุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มการเป็นโรคประจำถิ่นจะขยับขึ้นมาได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า อย่างเพิ่งไปเน้น เพราะหากเทียบเทศกาลสงกรานต์ปีนี้กับปีที่แล้ว พบว่าปีนี้ทุกคนเดินทางได้ มีความสุขมากขึ้น ร้านค้าได้ขายของ แต่ที่สำคัญคือคนไทยยังสวมหน้ากากอนามัยอยู่ เป็นเรื่องที่ต้องปลื้มใจ อย่างไรก็ตาม หากเราพบเห็นชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยมากขึ้น แต่หย่อนมาตรการหน้ากากอนามัย เราก็ต้องเตือน หรือประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแล ซึ่งตรงนี้อาจต้องมีมาตรการดูแล แต่หากเรามองในแง่ของเรื่องเศรษฐกิจ ก็เป็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่ทำให้ประเทศไทยมีชีวิตชีวามากขึ้น

 “ตอนนี้ไม่ใช่การควบคุมโรค เป็นการควบคุมพฤติกรรม สังเกตคนรอบข้างให้สวมหน้ากากอนามัย” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินยังให้สัมภาษณ์ว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้เอง และสามารถนำเข้าได้ในราคาต้นทุนที่ถูกลง ในราคาเม็ดละ 13 บาท จากเดิมที่ต้องใช้ราคา 8,000 บาทต่อคอร์สต่อคน ปัจจุบันเหลือ 600 บาทต่อคอร์สต่อคน ส่วนเรมเดซิเวียร์ จากเดิมราคา 1,200 บาทต่อเข็ม ปัจจุบันเหลือ 200 บาทต่อเข็ม แปลว่าการผลิตมากกว่าผู้ติดเชื้อแล้ว

รมว.สาธารณสุขยังกล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติขยายทะเบียนความครอบคลุมวัคซีนโคโวแวกซ์จากอินเดีย จากเดิมขอใช้อายุ 18 ปีขึ้นไป ลงมาถึงอายุ 12-17 ปี และโมเดอร์นา ที่เดิมใช้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป ก็จะขยายลงมาถึงอายุ 6-11 ปีด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง