ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก "เจ๊ปอง-น้องสนธิ-ยุทธิยง-ภูวดล" คนละ 1 ปีไม่รอลงอาญาคดีพากลุ่ม พธม.บุก NBT ปี 51 ชี้ทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยอุกอาจไม่ยำเกรงกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและความสงบสุขของสังคม ก่อนที่ศาลจะให้ประกันคนละ 2 เเสน ทนายเผยจะยื่นฎีกาต่อไป
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำอ.1033/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก, นายภูวดล ทรงประเสริฐ, นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที แนวร่วม พธม. และนายชิติพัทธ์ ลิ้มทองกุล น้องชายของนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำ พธม. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก มั่วสุม สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง อั้งยี่ซ่องโจรฯ กรณีร่วมกันบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ในช่วงการชุมนุมของ พธม. เพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551
คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 25-26 ส.ค.2551 จำเลยทั้งห้ากับพวก 85 คน ที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษแล้ว ร่วมกันกระทำความผิดเป็นซ่องโจร มั่วสุมก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยร่วมกันเดินขบวนในถนนสาธารณะจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และจากที่อื่นๆ โดยมีอาวุธปืน มีด ขวาน ไม้กอล์ฟ ไม้ท่อน หนังสติ๊ก ลูกเหล็ก แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณและอาคารสำนักงานสถานีเอ็นบีที ทุบทำลายประตูหน้าต่าง ตัดสายไฟฟ้าตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบกล้องวงจรปิด ทำลายระบบส่งสัญญาณการออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ และร่วมกันข่มขืนใจพนักงานไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ออกอากาศและกระจายเสียง และสั่งให้ออกไปจากอาคารสถานี โดยจำเลยทั้งห้าเป็นหัวหน้าและเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันบุกรุก และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210, 215, 309, 358, 364 และ 365 จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 12 ก.พ.63 ว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท พิพากษาให้ลงโทษบทหนักสุด ฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ให้จำคุกนายสมเกียรติ จำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุก น.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 2 นายภูวดล จำเลยที่ 3 นายยุทธิยง จำเลยที่ 4 และนายชิติพัทธ์ จำเลยที่ 5 คนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา
โดยนายสมเกียรติจำเลยที่ 1 ได้เสียชีวิตเมื่อช่วง พ.ย.2564 ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
วันนี้จำเลยเดินทางมาศาล
ต่อมาเวลา 10.00 น.เศษ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่า โดยศาลวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-5 แล้วเห็นว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 2-5 เข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อทราบเหตุว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมถูกจับกุมที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที จำเลยที่ 2-4 จึงขึ้นรถยนต์บรรทุกติดเครื่องขยายเสียงมาที่เกิดเหตุพร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 5 โดยสารรถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2-5 ย่อมทราบว่าในขณะนั้นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ร่วมชุมนุมจำนวนหนึ่งไว้ การที่จำเลยที่ 2-5 กับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมมาที่เกิดเหตุอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง แม้จะอ้างว่าจำเลยที่ 2-4 ไม่ได้เข้าไปในบริเวณและภายในอาคาร แต่การที่ร่วมกันเดินทางมา ย่อมทราบว่าอาจทำให้สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 2-4 กับพวกจึงเป็นการร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
โดยผู้กระทำความผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธแล้ว ทั้งพยานโจทก์ก็เบิกความสอดคล้องกันว่า เห็นและได้ยินจำเลยที่ 2-4 อยู่บนรถยนต์บรรทุกติดเครื่องขยายเสียงผลัดเปลี่ยนกันพูดโจมตีรัฐบาล สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที การกระทำของจำเลยที่ 2-5 จึงเป็นการกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ และเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ โดยมีอาวุธ โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 5 คน จำเลยที่ 2-5 จึงต้องรับผิดในฐานะตัวการร่วม พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2-5 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่จำเลยที่ 2-5 อ้างว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิด จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2-5 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาด้วยการกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก่อนนั้น เมื่อพิจารณาจากการที่จำเลยที่ 2-5 กับพวกร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น โดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ ลักษณะของการกระทำความผิดเป็นการกระทำโดยอุกอาจต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจ เป็นการไม่ยำเกรงกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและความสงบสุขของสังคม และส่งผลต่อเศรษฐกิจของชาติโดยส่วนรวม กรณีจึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2-5 และไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ขณะที่ น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ กล่าวถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ตัดสินทั้ง 4 คน จำคุกคนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เสียชีวิตแล้ว ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดี
ส่วนเรื่องคดี มีความกังวลใจในระดับหนึ่ง แต่ก็น้อมรับคำพิพากษาของศาล และหลังจากนี้ จะดำเนินการยื่นขอประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิม เป็นเงินสดจำนวนคนละ 2 แสนบาท ซึ่งการประกันอยู่ในเงื่อนไขของการประกัน ไม่มีปัญหาอะไร และก็จะยื่นฎีกาต่อ เพราะทำเรื่องอุทธรณ์ไปหลายเรื่องที่อยากให้ศาลท่านพิจารณาตรงนี้อีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาเวลา 15.00 น.เศษ ศาลพิจารณาเเล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2-5 ระหว่างฎีกาโดยตีราคาประกันคนละ 2 เเสนบาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไข.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม