โควิดไทยยังทรงตัว ติดเชื้อรายใหม่ 9,721 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 77 ราย "บิ๊กตู่" ขอ ปชช.ร่วมมือฉีดวัคซีน ลดเสียชีวิต "สธ.-ศธ." พร้อมเปิดเทอมออนไซต์ 17 พ.ค.นี้ "สาธิต" ย้ำพบติดเชื้อในชั้นเรียน ต้องไม่ปิดการสอน แค่ทำความสะอาดห้องเรียน นักเรียนกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงฉีดวัคซีนครบ ไม่มีอาการ นั่งเรียนต่อได้ไม่ต้องกักตัว
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,721 ราย จากในประเทศ 9,659 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,638 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 21 ราย เรือนจำ 11 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 51 ราย หายป่วยเพิ่ม 20,145 ราย อยู่ระหว่างรักษา 118,567 ราย อาการหนัก 1,669 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 804 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 77 ราย เป็นชาย 43 ราย หญิง 34 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 63 ราย มีโรคเรื้อรัง 11 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 3 ราย ส่วนยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,281,536 ราย ยอดหายป่วยสะสม 4,134,191 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 28,778 ราย ยอดฉีดวัคซีนวันที่ 2 พ.ค. 284,878 โดส ยอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 133,927,344 โดส
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,649 ราย, บุรีรัมย์ 372 ราย, สมุทรปราการ 302 ราย, ชลบุรี 271 ราย, ขอนแก่น 269 ราย, ศรีสะเกษ 235 ราย, สุรินทร์ 233 ราย, ร้อยเอ็ด 200 ราย, อุบลราชธานี 176 ราย และพระนครศรีอยุธยา 171 ราย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิดเป็นไปตามคาดการณ์ของ ศบค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มอยู่ในระดับทรงตัว แต่อัตราการเสียชีวิตในประเทศไทยยังคงสูงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เน้นย้ำประชาชนให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนทั้งเข็มหลักและเข็มกระตุ้น เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ และลดการสูญเสียชีวิตเพื่อเตรียมพร้อมให้โควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. เป็นประธานประชุมชี้แจงมาตรการเปิดเรียนออนไซต์ (On-Site) ปลอดภัย อยู่ได้กับโควิด-19 ในสถานศึกษา เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ร่วมกับนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย, นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมแถลงข่าว
นายสาธิตกล่าวว่า ศบค.ได้พิจารณาให้มีการเปิดโรงเรียนอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากการเรียนออนไลน์เกิดผลกระทบเรื่องปฏิสัมพันธ์ของเด็ก โดยแต่ละโรงเรียน/จังหวัด จะมีมาตรการที่ต่างกันออกไปตามสถานการณ์ แต่จะเน้นย้ำว่าประเทศไทยเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่นร่วมกับการติดเชื้อ การเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ลดลง จึงต้องบริหารสถานการณ์กรณีที่พบการติดเชื้อในชั้นเรียนจะต้องไม่ปิดการเรียนการสอนทั้งชั้น
ทั้งนี้ การเปิดเทอมออนไซต์อยู่ได้กับโรคโควิด-19 ด้วยหลักการพื้นฐานก็คือ 3T 1V ตัดความเสี่ยง เพิ่มภูมิคุ้มกัน มาตรการ 6-6-7 เป็นสิ่งที่ยังคงเน้นย้ำ ส่วนโรงเรียนประจำต้องดำเนินการตาม Sandbox Safety zone in School (SSS) โดยเน้นย้ำพื้นที่ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และศึกษาธิการจังหวัดให้ดำเนินการ 1.เร่งฉีดวัคซีน เพื่อให้นักเรียนได้รับวัคซีนตามความสมัครใจให้ครอบคลุม 2.สถานศึกษา ต้องเข้ารับการประเมิน Thai Stop COVID Plus โดยต้องผ่านการประเมินมากกว่า ร้อยละ 95 3.เน้นย้ำการทำตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อเจอผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ดำเนินการปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน เป้าประสงค์นักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน และ 4.เน้นย้ำ สสจ.ให้ปฏิบัติตามมาตรการ โดยมอบหมายให้ศูนย์อนามัยในเขตสุขภาพเป็นพี่เลี้ยง
รมช.สธ.กล่าวว่า ในส่วนของแผนเผชิญเหตุภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565 หากพบผู้ติดเชื้อในโรงเรียนประจำให้แยกกักตัวที่โรงเรียน ตามมาตรการ Sandbox สำหรับโรงเรียนไป-กลับ ให้ปฏิบัติตามมาตรการการรักษาของ สธ. หรือพิจารณาจัดทำ School Isolation โดยคณะกรรมการสถานศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข ผู้ปกครอง ชุมชน พิจารณาร่วมกันให้ความเห็นชอบตามความเหมาะสม
"จุดเน้นที่แตกต่างระหว่างภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 กับภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 คือเมื่อพบผู้ติดเชื้อในห้องเรียนให้ทำความสะอาดห้องเรียน แล้วดำเนินการเรียนการสอนได้ตามปกติ ส่วนเมื่อพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ถ้านักเรียนได้วัคซีนครบตามแนวทางปัจจุบัน และไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักกัน พิจารณาให้เข้าเรียนได้โดยพิจารณาร่วมกันระหว่างครอบครัว สถานบริการสาธารณสุข และสถานศึกษา กรณีไม่ได้รับวัคซีนให้แยกกักกันเป็นเวลา 5 วัน และติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน รวมเป็น 10 วัน" รมช.สธ.กล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นวิธีที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นโยบายจัดให้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในเด็ก มาตรการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ในกรณีเด็กอายุ 12- 17 ปี ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ให้เข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วง เข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ขนาดครึ่งโดส และต้องมีระยะห่างจากเข็ม 2 เป็นเวลา 4-6 เดือนขึ้นไป
"เด็กสุขภาพแข็งแรงเข้ารับบริการฉีดวัคซีนผ่านระบบสถานศึกษาระหว่างวันที่ 9-31 พ.ค.พร้อมกันทั่วประเทศ แต่ในกรณีเด็กนอกระบบการศึกษา รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) จากสถานพยาบาล ได้แก่ กลุ่มเด็ก Home School จัดการเรียนการสอนที่บ้าน กลุ่มเด็ก 7 กลุ่มโรค รวมถึงกลุ่มดาวน์ มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรง เด็กมีพัฒนาการล่าช้า) และกลุ่มที่มีเงื่อนไขหรือมีข้อจำกัด การรับวัคซีนตามแนวทาง สธ.ให้เข้ารับวัคซีนผ่านระบบสถานพยาบาลตามความสมัครใจของผู้ปกครองและผู้รับวัคซีน" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
ส่วน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการเปิดเรียนออนไซต์ นอกจากโรงเรียนต้องประเมินตนเองก่อนเปิดเรียน นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม ตรวจคัดกรอง เช่น ATK เมื่อมีความเสี่ยง หรือเมื่อมีอาการ และครู บุคลากร ผู้ปกครอง และเด็ก 5-17 ปี ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์
ถามถึงการติดเชื้อในเด็กต่ำกว่า 19 ปี นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ภาพรวมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 ติดเชื้อร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละวัน เสียชีวิตไม่มาก แต่มีจุดเปลี่ยนที่ต้องจับตาตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. ผู้เสียชีวิตเพิ่มแบบทรงตัว 2-6 ราย เมื่อดูการฉีดวัคซีนเด็กมัธยมศึกษาฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แต่เข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) ยังต้องเร่งรัด เพราะฉีดไม่ถึงร้อยละ 6 ส่วนเด็กประถมศึกษา 5-11 ปี ฉีดเข็มที่ 1 ครอบคลุมร้อยละ 53 เข็มที่ 2 ยังต้องเร่งรัดเพราะฉีดเพียงร้อยละ 13
ด้านนายสุภัทรเสริมว่า ได้ย้ำศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัดวางแผนนำเด็กเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์กำหนด ทั้งนี้ ศธ.และ สธ.มีความพร้อมเต็มที่กับการเปิดภาคเรียนออนไซต์วันที่ 17 พ.ค.นี้อย่างมาก มีการดำเนินตามมาตรการเคร่งครัด
"สิ่งที่แตกต่างจากเดิมที่ให้เน้นการเว้นระยะห่างในห้องเรียนจาก 1.5 เมตร จะเหลือ 1 เมตร ฉะนั้นห้องเรียนปกติที่มีขนาด 8x8 เมตร สามารถจัดโต๊ะเรียนได้ 7 แถว แถวละ 6 ที่นั่ง รวม 42 คน โดยปกติ 1 ห้องเรียนจะมีนักเรียนประมาณ 40 คน ไม่มีปัญหาในเรื่องการเว้นระยะห่าง แต่อาจจะมีปัญหาในโรงเรียนประถมศึกษาบางแห่งเท่านั้น ที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ บางห้องอาจจะมีขนาด 6x8 เมตร และบางโรงเรียนเป็นการเรียนในห้องปรับอากาศ ต้องมีการเปิดระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 นาที ในช่วงพัก" ปลัด ศธ.กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ